Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ขนมปังยามเช้า
•
ติดตาม
18 ก.ค. 2020 เวลา 00:28 • หนังสือ
• เพราะเราไม่เฟอร์เฟ็ค จึงต้องมี “การเยียวยา” 🤒 •
เราทุกคนต่างล้วนเคยพบประสบการณ์ “หัวใจสลาย”
ไม่ว่าจะเป็นการเลิกลาจากคนรัก การสูญเสียสัตว์เลี้ยงคู่ใจ ความผิดหวังจากการคาดหวังที่ไม่เคยเกิดขึ้น การตั้งรับกับข่าวร้ายบางอย่างที่เข้ามาถึงหัวใจเราโดยไม่ทัน ... ตั้งตัว
แรกๆเราช็อกกับการเกิดขึ้นของมัน สักพักเราเศร้ากับการจมปลักอยู่กับภาพจำในอดีตที่มักปรากฏขึ้นในทุกสถานที่ ทุกสิ่งของ ทุกผู้คน ทุกการเดินทาง และดูเหมือนจะเป็นแทบจะทุกๆอย่างในชีวิต ที่เราเคยใช้เวลาร่วมกันกับ “สิ่งที่สูญเสียไป” ในครั้งอดีต
เราเริ่มใส่แง่คิดด้านลบให้กับตนเองและเรื่องราวที่เกิดมากขึ้น เราโทษตัวเอง และพยายามที่จะใช้ชีวิตต่อไปเพื่อค้นหา และหวังจะแก้ปมความผิดพลาดในอดีต
เพราะอะไรนะ? เขาถึงเลิกกับเรา?
เราทำอะไรไม่ดีลงไปหรือเปล่า?
ถ้าวันนั้นเราดูแลเขาดีกว่านี้ มันก็คงไม่เกิดเรื่องเลวร้ายขึ้น?
เพื่อนๆก็บอกว่าเขาดีกับเรามากมาย
แต่ทำไมเรายังรักษาเขาไว้ไม่ได้?
เรามันช่างโง่และงี่เง่าจริงๆ!!
อืมม... หรือว่า
เราเป็นคนที่โง่และงี่เง่า จริงจริง
เรามันช่างโง่และงี่เง่า จริงจริง
เรามันช่างโง่และงี่เง่า จริงจริง
อืมม... ใช่ ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะ
ความเป็นคนงี่เง่า ของเราเองทั้งหมดนี่แหล่ะ!!
เพราะ เราเป็นคนที่โง่และงี่เง่า จริงจริงด้วย!!
จบครับ! Avenger End Game เลย! เพราะความคิดแบบนั้น มันมักเข้าไปฝังตัวไว้ในจิตใจลึกขึ้นๆ จนถึงวันหนึ่งเราจะเชื่อข้อมูลไปแบบนั้นจริงๆ นักจิตวิทยาบำบัดบอกว่า เวลาเรา “หัวใจสลาย” เราจะมองภาพตัวเองแย่และเป็นฝ่ายผิด ขณะเดียวกันเราก็จะยกชูฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นอะไรที่ดี และเป็นอุดมคติของเรามากมายเหลือเกิน จนเราละเลยที่จะมองข้อผิดพลาดหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ก่อนการสูญเสีย
เราลืมมองถึงปัญหาต่างๆนานา เราลืมมองถึงความเกรี้ยวกราดของเขา เราลืมมองถึงไลฟสไตล์ที่ไม่ตรงกัน เราลืมมองถึงอารมณ์ร้องไห้เสียใจ และห้วงเวลาที่ไม่อยากประคองความสัมพันธ์ต่อไปซึ่งเคยเกิดขึ้นกับเรา เรามักจะลืมสิ่งเหล่านี้ไป จนหมดเกลี้ยง!! และหลงเหลือไว้เพียงความคิดที่ว่า
เรานี่มันช่างโง่และงี่เง่า จริงจริง!!
หนังสือ How to Fix a Broken Heart ของ Guy Winch บอกเราว่า อาการข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จัดเป็นโรคประเภทหนึ่ง ที่มีชื่อว่า “โรคหัวใจสลาย” มันเป็นโรคทางใจที่มีระดับความรุนแรงพอๆกับการบาดเจ็บทางกายระดับ 8 (จากมาตรวัดอาการบาดเจ็บที่รุนแรงของมนุษย์ 10 ระดับ) มันรุนแรงพอๆกับการเอาของร้อนๆมานาบไว้บนผิวหนังของเราเลยทีเดียว
และที่ยิ่งน่าตกใจไปกว่านั้นคือ “โรคหัวใจสลาย” มันจะอยู่กับเราไปเป็นระยะเวลานาน นาน โคตะระนาน และแสนนาน จนกว่าเราจะสามารถมีพลัง ทัศนคติ และแง่มุมการใช้ชีวิตที่แข็งแรงพอที่จะรักษามันให้หายขาดได้ และหนังสือเล่มนี้ ได้สรุปวิธีรักษาเยียวยาออกมาเป็นข้อๆ ดังนี้:
• เราต้องเข้าใจในวิธีการทำงานของใจเราที่กำลังต่อต้านเราเอง และเราต้องลงมือตอบโต้แรงกระตุ้นกับพฤติกรรมที่ติดเป็นนิสัยในด้านลบที่กำลังทำให้เราหยุดอยู่กับที่ (เลิกค้นหาเหตุผล และหยุดการดูถูกตัวเอง)
• เราต้องต่อสู้กับแนวโน้มของการ “เสพติด” ที่อยากเก็บคนที่เราสูญเสียไปเอาไว้ในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะผ่านทางความทรงจำหรือผ่านทางสิ่งเตือนใจ (เรียนรู้การฮาว์ทูทิ้ง)
• เราต้องสร้างความนับถือตัวเองขึ้นมาใหม่ ด้วยการฝึกเมตตาตัวเอง (ให้อภัยกับตนเอง ผ่านการฝึกเมตตาผู้คนรอบข้าง)
• เราต้องฝึก “เจริญสติ” เพื่อต่อสู้กับความคิดหมกหมุ่นเรื่องการสูญเสียของเรา (อยู่กับปัจจุบัน และมองสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามาด้วยทัศนคติแบบกลางๆ ไม่ตัดสิน)
• เราต้องตระหนักรู้ถึงช่องว่างที่ถูกสร้างขึ้นในชีวิตของเรา (ช่องว่างที่เกิดจากการสูญเสีย) และลงมือเติมเต็มมัน (หากิจกรรมหรือสิ่งทดแทนให้เราไม่ฟุ้ง)
• เราต้องเชื่อมโยงใหม่กับแกนกลางของเรา เพื่อที่เราจะสามารถกลับไปเชื่อมโยงกับแก่นแท้ของสิ่งที่ทำให้เราเป็นคนอย่างที่เราเป็นได้ (ค้นหาตัวตนดั้งเดิมของตน ที่ไม่ได้ยึดโยงกับปัจจัยภายนอกใดๆ)
สุดท้ายนี้ Guy Winch บอกว่า ถึงหัวใจเราแหลกสลาย แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องแหลกสลายไปกับมัน จงกอบกู้มันซะ และอย่าให้ความแหลกสลายนั้นคงทนอยู่นาน จนเรากลายเป็นเพื่อนสนิทกับมัน และเวลาไม่สำคัญเท่ากับการหักดิบลุกขึ้นมาเยียวยาด้วยตัวของเราเอง
#เป็นเล่มที่อยากให้ทุกคนที่กำลังเผชิญการล่มสลายของหัวใจได้อ่าน
#isaiah22(11) #เพราะมนุษย์ไม่เฟอร์เฟ็ค
#จึงต้องมีการเยียวยา #How2FixaBrokenHeart
#ขนมปังยามเช้า 🍞😊 #aDailyBreadWithJAM #ThxG #HavNiceDay🤲🏻❤️
7 บันทึก
32
39
9
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
#a Daily Bread with JAM 🍞🍒📚
7
32
39
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย