Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ELEPHANT TALK
•
ติดตาม
18 ก.ค. 2020 เวลา 06:55 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Three Colours Trilogy
Krzysztof Kieślowski, 1993 – 1994, Switzerland / France / Poland
ความหมายของความรัก และอีกครั้งกับการผลิบานจากความเจ็บปวด
บทความนี้มีสปอยล์
จากช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ ได้กำเนิดภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ซึ่งยังมีอิทธิพลถึงในปัจจุบัน ทางฝั่งฮอลลีวูดมี The Shawshank Redemption, Pulp Fiction และ Forest Gump ฟากฝั่งเอเชียตะวันออกมี Chungking Express ใครกันจะปฏิเสธกันว่าหนังเหล่านี้ไม่ใช่สุดยอด? ส่วนฟากยุโรปได้กำเนิดภาพยนตร์ไตรภาคชุดหนึ่งขึ้นมา คือ Three Colours : Blue (1993), Three Colours : White (1994) และ Three Colours : Red (1994) ของผู้กำกับชาวโปแลนด์ คริสตอฟ คีซโลฟสกี (Krzysztof Kieslowski) อันเป็นบันทึกถึงชีวิตมนุษย์ที่ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องที่กล่าวในช่วงต้นเลย
ภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องในไตรภาคนี้เริ่มจากการตีความของสีในธงชาติฝรั่งเศส สีน้ำเงิน (Blue) คือ เสรีภาพ, สีขาว (White) คือ ความเท่าเทียม และ สีแดง (Red) คือ ความเป็นพี่น้องกัน ซึ่งในแต่ละภาคก็จะเกิดการตีความที่หาแง่มุมใหม่ในถ้อยคำความหมายนั้นต่อยอดออกไปอีก
ความเศร้าโศกสีน้ำเงิน
สีน้ำเงิน : เสรีภาพกับความรักในมนุษย์
Three Colours : Blue ว่าด้วยเรื่องของ “จูลี่” (Juliette Binoche) ที่ชีวิตของเธอต้องเจอกับอุบัติเหตุครั้งใหญ่ จนทำให้สูญเสียสามีและลูกสาวไปจากอุบัติเหตุนี้ พอฟื้นตัวจูลี่พยายามจะหลีกหนีอดีตที่เจ็บปวดของตนเองให้พ้น ทั้งการย้ายที่อยู่ใหม่ เลิกมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน หรือแม้แต่การพยายามเลิกมอบความเอื้ออาทรให้แก่ผู้อื่น ซึ่งในท้ายที่สุดเมื่ออยู่ในสังคมนั้น การข้องเกี่ยวกับผู้คนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะปฏิเสธได้ ส่งผลให้ก่อเกิดความรักความสัมพันธ์กับผู้คนโดยรอบ จากบาดแผลแห่งความเจ็บปวดในอดีต เธอผลิบานใหม่อีกครั้งเป็นดอกไม้ที่งดงามกว่าเดิม แล้วมันเกี่ยวกับเสรีภาพยังไง? เสรีภาพในที่นี้ถูกแทนด้วยสีน้ำเงินในเรื่อง อันหมายถึงความเศร้าโศก ช่วงเวลาที่จูลี่ได้เยียวยาตนเองนั้น เธอมองว่าอิสรภาพที่แท้จริงของการหลีกหนีความเจ็บปวดคือการเลิกมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน การไม่ยึดโยงกับมนุษย์ผู้อื่นจะนำพาเราไปสู่ความสันโดษอย่างแท้จริง แต่ภาพยนตร์ก็ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่จูลี่กำลังทำอยู่คือการออกไปสู่อิสรภาพที่แท้จริง เพียงแต่เป็นการหลบหนีความจริงเท่านั้น จากความเจ็บปวดในอดีต ท้ายที่สุดจูลี่ก็ได้เจอคำตอบของเสรีภาพที่ตนได้ค้นหา นั่นคือการมีชีวิตอยู่เพื่อเป็นผู้มอบความรักให้แก่ผู้อื่นต่อไป
Blue มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการก้าวข้ามอดีตอันเจ็บปวด ซึ่งภาพยนตร์ก็ให้พื้นที่ของการแสดงงานภาพที่ใกล้ชิดกับอารมณ์ ทว่ายังลึกลับในขณะเดียวกัน (นึกถึงงานภาพของ Ingmar Bergman) รวมไปถึงการแสดงของ จูเลีตต บิโนช (Juliette Binoche) ที่ดราม่าได้อย่างมีชั้นเชิง เป็นตัวละครที่เก็บงำอารมณ์ไว้คนเดียว แสดงออกผ่านแววตาอย่างทรงพลัง Blue ถือเป็นงานที่น่าประทับใจและใกล้ชิดมนุษย์
สีขาวแห่งความเท่าเทียม
สีขาว : ความเท่าเทียมเรื่องความสัมพันธ์ของของชาย – หญิง
Three Colours : White เรื่องราวของ “คาโรล” (Zbigniew Zamachowski) หนุ่มช่างทำผมชาวโปแลนด์ที่ถูกภรรยาชาวฝรั่งเศส “โดมินิค” (Julie Delpy) ขอเลิกด้วยข้อหาว่าเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (และจน) จากนั้นคาโรลกลายเป็นคนจรในปารีส ภรรยา (เก่า)ไม่ให้เข้าบ้าน แถมเงินในบัญชียังถูกอายัด โดมินิคใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไปโดยไม่สนใจชะตากรรมของคาโรล คาโรลหมดอาลัยตายยาก เขายังรักเธออยู่ แต่เธอเป็นอื่นไปเสียแล้ว ด้วยความบังเอิญ คาโรลพบเจอกับ “มิโคไล” ชาวโปแลนด์ซึ่งกำลังจะกลับประเทศ ทั้งสองคุยกันถูกคอ จึงกลับประเทศด้วยกันและเป็นมิตรสหายกันในเวลาต่อมา คาโรลสร้างเนื้อสร้างตัวในโปแลนด์จนมีทุกอย่าง แต่เขายังคงไม่ลืมโดมินิค คาโรลจึงสร้างเรื่องว่าตัวเองตายขึ้นมา ในวันงานศพ (หลอกๆ) ของตน โดมินิคปรากฏตัวขึ้นพร้อมหยาดน้ำตาไหลอาบแก้ม คาโรลพบว่าโดมินิคยังรักตนเองอยู่ นำมาสู่การร่วมรักกันในโรงแรมและคาโรลที่กลับปึ๋งปั๋งขึ้นมา ในขณะเดียวกัน ตำรวจก็ได้บุกค้นห้องโดมินิคเพราะสงสัยว่าเธอวางแผนชิงมรดกหลังคาโรลไปจากโรงแรม เธอถูกจับคุมขัง เมื่อมองผ่านลูกกรงออกไป เธอเห็นคาโรลปรากฏตัวขึ้น ทั้งสองประสานตากันพร้อมเอ่อล้นด้วยน้ำตา ท่ามกลางผลิบานที่เติบโตจากบาดแผล สีขาวถูกแทนที่ด้วยความเท่าเทียมกัน แต่คีซโลฟสกี (ผู้กำกับ) ตีความหมายของความเท่าเทียมในที่นี้เป็นการแก้แค้น / ผลกรรม ที่การกระทำสู่ผลของการกระทำ แม้จะไม่ได้ตั้งใจแต่ทุกสิ่งมีผลของมันอย่างเท่าเทียม ในตอนต้นเรื่องนั้นเป็นโดมินิคที่มีความสุขจากการกระทำของตัวเธอเอง ในท้ายที่สุดหนังก็ได้มอบความทุกข์ให้ตัวเธอเองเช่นกัน แต่คีซโลฟสกีก็ได้ปลอบประโลมผู้ชมด้วยการให้ทั้งสองได้กลับมารักกันอีกครั้ง แม้จะแปลกๆหน่อยก็ตาม (ฮา)
White มีงานภาพที่ลดถอยความจัดจ้านลงไปจาก Three Colours : Blue อีกสิ่งหนึ่งคือประเด็นในเรื่องยังออกจะเป็นลูกเสียดสีมากกว่าการพาไปดูประเด็นที่ถูกนำเสนออย่างละมุนละไม ประเด็นที่ถูกเสียดสีในที่นี้คือ “ความสัมพันธ์ของชาย – หญิง” ในช่วงเริ่มต้นนั้นคาโรลเป็นแค่ช่างตัดผมที่มีรายได้ด้วยการตัดผมคุณผู้หญิง ซึ่งเป็นสาเหตุของการบอกเลิกของโดมินิค สังเกตได้จากที่ต่อมาคาโรลทำธุรกิจและต้องการมีเงินเยอะ ซึ่งหนังก็ตลกร้ายให้โดมินิคกลับมารักคาโรลอีกครั้งในช่วงที่คาโรลร่ำรวยแล้ว ตรงนี้ (ผู้เขียน) ไม่ได้ต้องการจะสื่อสารว่าความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ใช่เรื่องของเงินเลย เพราะว่าเงินก็ดันเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างกันจริงๆ คีซโลฟสกีใช้ประเด็นนี้หยอกคนดูแล้วปิดท้ายด้วยความรักที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาระหว่างคาโรลกับโดมินิค โดยรวมเป็นงานที่ฉลาดและกระอักกระอ่วนในขณะเดียวกัน
สีแดง พลังแห่งความรัก
สีแดง : ความรัก, ไออุ่นที่พาก้าวข้ามบาดแผล
Three Colours : Red ปิดไตรภาคชุดนี้เสียที ว่าด้วยเรื่องของ “วาเลนทีน” (Irène Jacob) นางแบบสาวดาวรุ่งผู้เต็มไปด้วยพลัง ความสดชื่น และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ด้วยเหตุบังเอิญทำให้เธอได้พบกับ “โจเซฟ เคิร์น” (Jean-Louis Trintignant) อดีตผู้พิพากษาผู้หมดซึ่งความสดใสในชีวิต ทั้งสองได้พบเจอแล้วเป็นทางวาเลนทีนที่มอบ “ความรัก” ให้แก่เคิร์น พลันความเยาว์วัยแห่งชีวิตของเคิร์นได้สุกสกาวอีกครั้ง แม้ชีวิตจะหมองหม่นจากบาดแผลในอดีต แต่ความรักที่มีให้กันคือความผลิบานในหัวใจของเคิร์น สีแดงถูกแทนที่ด้วยความหมายของการเป็นพี่น้องกัน ในที่นี้คือนัยการมอบความรักซึ่งกันและกัน เคิร์นเป็นตัวละครที่กร้านโลกด้วยอาชีพที่เป็นผู้พิพากษา เห็นผู้กระทำผิดมาเยอะ ประกอบกับในอดีตมีเรื่องผิดหวังที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคู่ ทำให้ประตูหัวใจของเคิร์นปิดตายและเหี่ยวเฉา แต่การเข้ามาของวาเลนทีน วัยรุ่น ความหวัง ความฝัน รวมไปถึงความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ ทำให้เคิร์นสัมผัสถึงการมีอยู่ของไออุ่น และเปลี่ยนแปลงตนเองในที่สุด
มีอยู่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ภาพยนตร์สร้างตัวละครหนึ่งมาโดยแทบไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หลัก (วาเลนทีน – เคิร์น) แต่ภาพยนตร์กลับให้พื้นที่ตัวละครตัวนี้ได้แสดงออก พอไปถึงจุดนึงคนดูจะเข้าใจว่านี้เป็นตัวละครในโลกคู่ขนานของตัวเคิร์นเอง (หรือเปล่า?) ซึ่งในท้ายที่สุดตัวละครตัวนี้ได้พบกับวาเลนทีน หากตัวละครนี้คือเคิร์นอีกตัวหนึ่ง นับว่าน่าสนใจมากที่คีซโลฟสกีสร้างตัวละครตัวนี้ให้มีชีวิตอยู่อย่างคลุมเครือ Red มีกลิ่นอายของ Blue ในแง่ของตัวละครที่ผิดหวังในอดีต และก้าวผ่านความเจ็บปวดนั้นได้อย่างละมุนละไม
คริสตอฟ คีซโลฟสกี (คนหน้า) ผู้สร้างสรรค์สุดยอดชิ้นงาน
ส่วนที่โดดเด่นที่สุดของภาพยนตร์ชุดนี้ คือ การกำกับของคีซโลฟสกีเองที่ไม่ฟูมฟาย ไม่เชิดชูด้วยภาษาของภาพยนตร์จนเกินงาม ทั้งยังเต็มไปด้วยสัญลักษณ์และความลึกลับให้เราได้กลิ่นได้ตีความกัน หลายฉากเป็นการเล่าเรื่องที่ใช้ภาษาภาพได้สวยและฉลาด บางทีตัวละครไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับใครเลย แต่ด้วยภาษาภาพก็ทำให้เราเข้าใจ(และไม่เข้าใจ)ได้ คีซโลฟสกีดึงแก่นของภาพยนตร์ออกมาได้อย่างน่าดึงดูด อีกสิ่งหนึ่งคือการสร้างความคลุมเครือให้ตัวงานเอง ถึงการกำกับของคีซโลฟสกีจะสุดยอดขนาดไหน แต่สิ่งที่คีซโลฟสกีไม่ทิ้งเลยคือการเขียนบท การกำกับว่าเยี่ยมแล้ว บทภาพยนตร์ยิ่งยอดเยี่ยม ภาพยนตร์ทั้งสามภาคนี้นับเป็นอีกจุดสูงสุดของความเป็นภาพยนตร์ที่ความเข้าใจมนุษย์และความเข้าใจภาพยนตร์มาพบปะกันในพื้นที่ที่เหมาะสม ส่งผลให้ไตรภาคชุดนี้งดงามเหนือกาลเวลา
สำหรับประเด็นในหนังทั้งสามภาคอันสรุปรวมได้ว่ามีแก่นคือ ‘ความรัก’ โดยถูกสื่อสารผ่านคนที่เจ็บปวด มีบาดแผลในอดีต จะเห็นได้ตลอดว่าความรักคืออะไร และมันลื่นไหลแปรไปได้หลายรูปแบบ หนังไตรภาคชุดนี้ชักชวนให้ผู้ชมลองสำรวจบาดแผลเหล่านั้นของตัวเอง เป็นกำลังใจให้ รวมถึงลองแบ่งปันความรักกับผู้อื่น สำหรับสื่อบันเทิง อย่างน้อยไตรภาคนี้ก็เป็นกระบอกเสียงที่ละมุนละไม สำหรับโลกที่เราทุกคนอยากให้ดีกว่าเดิม
youtube.com
Song for the Unification of Europe (Julie’s Version)
Provided to YouTube by Believe SAS Song for the Unification of Europe (Julie’s Version) · Zbigniew Preisner Trois Couleurs: Bleu, Blanc, Rouge (Original Moti...
ฝากกันด้วยเพลง 'Song for the Unification of Europe (Julie's Version)' ในเรื่อง Blue เพลงที่พาจูลี่ก้าวข้ามความเจ็บปวด
1 บันทึก
1
3
1
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย