18 ก.ค. 2020 เวลา 08:03 • ดนตรี เพลง
EP. 16 : “เพลงไทยในใจผม” (ยุค 80)
ผมหมายถึง “เพลงไทย” ที่นักวิชาการทางดนตรีไทย ได้จัดหมวดหมู่และเรียกว่า “เพลงไทยสากล” คือเพลงที่เรียบเรียงดนตรีในแบบฝรั่งสมัยใหม่ ไม่ใช่แนว“ลูกทุ่ง”, “ลูกกรุง” หรือแบบ “สุนทราภรณ์” ที่เคยได้รับความนิยม
มาก่อน
“เพลงไทยสากล” จะอิงกับโครงสร้างของแนวดนตรีฝรั่ง ที่มีการแตกแขนงออกไปอย่างหลากหลายรูปแบบ เช่น Pop, Rock, Blues, Soul, Funk, Disco, Rhythm & Blues, Country, Classic หรือ Jazz เป็นต้น
ผลงาน “เพลงไทยสากล” ส่วนใหญ่จะได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปินฝรั่ง
ที่แต่ละคนชื่นชอบ และเข้าไปมีอิทธิพลในงานดนตรีนั้นๆไม่มากก็น้อย
หรือบางทีเห็นหยิบดนตรีของฝรั่งมาแล้วใส่เนื้อไทยลงไปเลยก็มี
ด้วยความที่ “เพลงไทย” กำลังพยายามทำให้ได้อย่าง “สากล” ซึ่งเวลานั้น
ผมได้หลงไปฟัง “เพลงสากล” อย่างจริงจังเข้า และได้พบกับความหลากหลายแขนงของแนวดนตรีต่างๆ เปรียบเหมือนกำลังดำดิ่งลงไปในทะเล
ของ“เพลงสากล”เสียแล้ว เวลาที่จะหวนกลับมาฟัง “เพลงไทยสากล”
จึงมีไม่มาก
กระนั้นศิลปิน “เพลงไทยสากล” ที่สร้างปรากฏการณ์กระเพื่อมวงการเพลง
จนผมต้องหันมาฟังพวกพี่ๆเขาเหล่านั้น ก็มีไม่น้อยเลยครับ
“The Impossible” คือกลุ่มแรกที่จะกล่าวถึง แม้ว่าวงนี้จะไม่อยู่ในยุค 80
ด้วยมีผลงานอยู่ในช่วง พ.ศ. 2512 ถึง 2521 (จัดอยู่ในยุค 60-70) แต่
โดยส่วนตัวแล้วผมต้องขอคารวะพวกพี่ๆเขา เพราะถือว่าปรากฏการณ์
ของวงนี้เป็นการพลิกโฉมหน้าครั้งสำคัญ เป็นการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่
ให้กับวงการดนตรีของไทย ทำให้เกิด“เพลงไทยสากล” ขึ้นมาอย่างชัดเจน
"ดิ อิมพอสซิเบิ้ล” เป็นวงสตริงคอมโบ วงแรกของไทย ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด ไม่ใช่แค่มีชื่อเสียงจากการเล่นตามไนต์คลับต่างๆ วงนี้ได้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “โทน” ในปี พ.ศ. 2512 และอีกหลายๆเรื่องในยุคนั้น, วงได้ออกผลงานเพลงเป็นอัลบั้มแผ่นเสียงชุดแรกชื่อ “เป็นไปไม่ได้” เมื่อ ปี 2515 และตามมาอีก 4 ชุด ถึง ปี 2521, รวมทั้งวงยังได้ออกทัวร์ตระเวนแสดงในยุโรป ช่วง พ.ศ.2517-2519 ผมถือว่าพวกพี่ๆเขาเป็นต้นแบบและตำนานของ “เพลงไทยสากล”อย่างแท้จริง
ผมหยิบเพลงที่ชื่อเดียวกับอัลบั้มแรก “เป็นไปไม่ได้” มาระลึกถึงกันอีกครั้งครับ
“แกรนด์เอ็กซ์” เป็นสตริงคอมโบ อีกวงที่รวมตัวกันในยุคเดียวกับ “ดิ อิมพอสซิเบิ้ล” และมีชื่อเสียงจากการเล่นตามไนต์คลับต่างๆอยู่มาก เพียงแต่ว่าการได้ออกผลงานเพลงเป็นอัลบั้มนั้น มาเริ่มเมื่อปี 2520 และประสบความสำเร็จในด้านยอดขายอย่างมากกับการนำเพลงลูกทุ่งมาใส่ดนตรีดีสโก้สำหรับเต้นรำ เรียกว่า “ลูกท่งดีสโก้”ออกมา 2 ชุด หลังจากนั้นก็มีการนำเพลงลูกกรุง กับผลงานของสุนทราภรณ์มาเรียบเรียงดนตรีเสียใหม่ก็ถือว่ามีความไพเราะและได้รับความนิยม
“แกรนด์เอ็กซ์” สำหรับผมแล้ว พวกพี่ๆเขาเป็นตำนาน เพราะมีความเป็นสถาบันครับ ผลผลิตของวงนี้แตกหน่อออกมา มีบทบาทในวงการเพลงไทยสากลและสร้างเพลงไพเราะไว้มากมาย เช่น วงเพื่อน,พี่แจ้และวงพลอย, วงพลอย, พี่ติ๊ก ชีโร่,พี่จำรัสและวงเดอะเรดิโอ และแกรนด์เอ็กซ์ยุค”ขวดโหล” เป็นต้น
ผลงานเพลงในนามแกรนด์เอ็กซ์ รวม 19 ชุด จนถึงปี พ.ศ. 2531 แต่ที่ผมชอบจะเป็นชุด “เพชร” พ.ศ. 2526 โดยเฉพาะเพลง “รักในซีเมเจอร์” น่าจะมีท่านที่ชอบเหมือนกัน..มาร้องตามกันดีไหมครับ
ปลายยุค 70 ใน พ.ศ. 2518 อัลบั้ม “จากไปลอนดอน” ของพี่ๆ แห่งวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ในนามวง “ชาตรี” สร้างความโดดเด่นและเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการเพลง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น, นักเรียน, นักศึกษา ในปีถัดมา พ.ศ. 2519 การออกอัลบั้ม “แฟนฉัน” นั้นตอกย้ำความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนพวกพี่ๆเขากลายเป็นขวัญใจวัยรุ่น หนุ่มสาวในยุคนั้น และมีอัลบั้มออกมาอย่างต่อเนื่องอีก 13 ชุดจนถึงปี 2528 วง “ชาตรี” ถือเป็นตำนานอีกบทหนึ่งของ “เพลงไทยสากล” ครับ
ผมเลือกเพลงที่ผมรู้จักมากที่สุดของวงคือ “แฟนฉัน” มาให้ฟังอีกครั้งครับ
ในยามราตรีนั้นมีวงสตริงคอมโบ สร้างความบันเทิงตามไนต์คลับ แต่หากมองไปยังห้องอาหารต่างๆ ที่ต้องการเสียงเพลง แต่ไม่ต้องการความอึกทึก ทั้งมื้อค่ำและมื้อกลางวัน จึงเป็นการขับกล่อมของวงดนตรีไม่กี่ชิ้น ที่เรียกกันว่าวง “โฟล์คซอง”
ขณะนั้นชื่อของ “ภูสมิง หน่อสวรรค์” ลูกครึ่งไทย-ลาว ทายาทนักการเมืองสำคัญของลาว ที่ใช้เวลาระหว่างศึกษาในมหาวิทยาลัย รวมตัวกับเพื่อนๆเล่นดนตรีโฟล์คซองตามร้านอาหารในย่านธุรกิจ ได้เป็นที่รู้จักและเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักฟังเพลงแนวนี้อย่างมาก
“ระย้า” นักจัดรายการวิทยุ “Music Train” ผู้บุกเบิกค่ายเพลง “รถไฟดนตรี” ได้ฟังเสียงของ พี่ภูสมิง เกิดความประทับใจ และชวนมาออกอัลบั้ม “รักนิรันดร์” ในปีพ.ศ. 2525 และประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในปีถัดมากับชุด “ลองรักอีกครั้ง”โดยเฉพาะเพลง “บทเรียนสอนใจ” เชื่อว่าหลายท่านคุ้นหู เชิญรับฟังอีกครั้งครับ
ยุคนี้ แม้ในกลุ่มดนตรีเพื่อชีวิตก็เกิดการตื่นตัว มีพัฒนาการอย่างคึกคักไม่น้อยเช่นกัน ชื่อของ “แฮมเมอร์” วงดนตรีของพี่ๆมุสลิมเชื้อสายปาทานชาวจังหวัดนครนายกที่ไปใช้ชีวิตอยู่ภาคใต้ ทำให้ซึมซับและถ่ายทอดบทเพลงเพื่อชีวิตสำเนียงใต้ได้อย่างลึกซึ้งกินใจ ผมถือว่าพวกพี่เขาเป็นต้นแบบของแนวนี้เลยทีเดียว
ลักษณะเด่นเฉพาะของวงนี้ คือความเป็นตัวตนของคนชนบทใสๆตรงไปตรงมา เสียงร้องที่เป็นลูกทุ่งชัดเจน เนื้อหาบอกเล่าสะท้อนความเป็นจริง และเลือกใช้เครื่องดนตรีอะคูสติกส์ ได้อย่างกลมกลืนไม่ว่าจะเป็น แอคคอร์เดียน, ไวโอลิน, กีต้าร์โปร่ง,ฟลุ๊ต, ขลุ่ย, บองโก, ทอมบ้า
หรือ “บาลาไลกา” (กีต้าร์รัสเซีย)
พวกพี่เขาประสบความสำเร็จหลังจากการชนะเลิศประกวดวงโฟล์คซองที่
“แฮปปี้แลนด์” และมีผลงานออกอัลบั้มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 จนปัจจุบัน มีเพลง
ที่ได้รับความนิยมมากมาย เช่น บินหลา, ปักใต้บ้านเรา, แม่, ที่นี่ไม่มีครู,
นาแล้ง เป็นต้น และผมชอบเพลง “บินหลา” ของพี่ๆเขาครับ
หากพูดถึงกลุ่มดนตรีเพื่อชีวิต ผมจะข้ามวงที่ชื่อ “คาราบาว” ไปไม่ได้เลย เรื่องของความสำเร็จนั้น ผมคงไม่เอ่ยถึงเพราะเป็นความชัดเจนที่เห็นกันอยู่
สำหรับผมปรากฏการณ์จากอัลบั้ม “เมด อิน ไทยแลนด์” เมื่อปี 2527 คือการเปิดประตูเพลงเพื่อชีวิตให้กว้างขึ้น เข้าถึงกลุ่มผู้ฟังได้มากขึ้น ดนตรีที่เรียกว่า “สามช่า เพื่อชีวิต”แทรกซึมมีอิทธิพลกับประชาชนฐานรากจริงๆ
ถือเป็นวงที่สร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าของวงการ "เพลงไทยสากล" ผมชอบเพลง “ราชาเงินผ่อน” ฟังแล้วอยากเต้นเลย นึกถึงวงซานตานา ครับ
ปี พ.ศ. 2512 การประกวดวงดนตรีชิงถ้วยพระราชทานฯ ครั้งแรก เวทีเดียวกับที่“ดิ อิมพอสซิเบิ้ล” ชนะเลิศประเภทวงดนตรีอาชีพ นั้น วง “Soul & Blues” ของ“พี่ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล” ชนะเลิศประเภทวงนักเรียน
ปี 2521 พี่ปานศักดิ์ได้รางวัลชนะเลิศแชมป์กีต้าร์แห่งประเทศไทย จัดโดยสยามกลการ เป็นตัวแทนประเทศไทย ในการแสดงกีตาร์ Southeast Asian Guitar Festival'78 ร่วมแสดงกีตาร์กับตัวแทนจากประเทศในกลุ่มอาเซียนรวม 7 ประเทศ
พ.ศ. 2527 พี่ปานศักดิ์ เป็นศิลปินคนแรกในการทำธุรกิจค่ายเพลงของบริษัท
“ไนท์สปอต โปรดักชั่น” โดยอยู่ภายใต้ค่ายยักษ์เมืองนอกในเวลานั้นคือ
“WEA Records” และ “เพลงไปทะเล” เป็นมิวสิกวิดีโอแรกของไทย ที่มีการวางเนื้อเรื่อง
พี่ปานศักดิ์ได้มองเห็นว่าตลาดเพลงไทยสากลในยุคนั้นมีแนวโน้มดีขึ้นและพร้อมที่จะยอมรับเพลงแนวใหม่ๆ จึงตัดสินใจเดินทางไปบันทึกเสียงเพลงชุด "ไปทะเล" ที่อเมริการ่วมกับเพื่อนนักดนตรีชาวอเมริกัน ซึ่งนับว่าเป็นผลงานเพลงชุดแรกของศิลปินไทยที่ไปทำการบันทึกเสียงในต่างประเทศ
มิวสิกวิดีโอ เพลง “ไปทะเล..กันดีกว่า” ที่ยังคงความทันสมัยมาถึงวันนี้
ขอเชิญรับชมและรับฟังครับ
ปลายยุค 80 ผมได้เดินทางย้ายถิ่นที่อยู่อีกครั้ง มีโอกาสได้พบปะผู้คนมากมายนำมาซึ่งการได้รับรู้รับฟังเพลงสากลที่หลากหลายมากขึ้น และ
จะเล่าให้ฟังในครั้งต่อไป โปรดติดตาม ขอบคุณครับ
โฆษณา