19 ก.ค. 2020 เวลา 16:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำความรู้จัก เทคโนโลยีการพยากรณ์อาชญากรรมล่วงหน้า (Predictive Policing) และทำไมถึงเริ่มมีการต่อต้านเทคโนโลยีนี้!
ปัจจุบันที่โลกเต็มไปด้วยข้อมูล มีเทคโนโลยีมากมายถูกสร้างขึ้นโดยใช้ข้อมูลเป็นวัตถุดิบเพื่อช่วยโลกในทางที่ดีขึ้น หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นเทคโนโลยีเพื่อวิเคราะห์และป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ
แล้วมันคืออะไรล่ะ?
“Predictive Policing” หรือ เทคโนโลยีการพยากรณ์อาชญากรรมล่วงหน้า เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้โดยกรมตำรวจในหลายๆรัฐที่สหรัฐอเมริกาเพื่อพยากรณ์อาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้น
มันทำงานยังไงกันนะ?
Diagram of Predictive Policing
เริ่มจากการใช้ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และคณิตศาสตร์ เพื่อหาความสัมพันธ์ของข้อมูลที่บันทึกเหตุการณ์อาชญากรรมในอดีต ในการช่วยกรมตำรวจตัดสินใจว่าจะให้ตำรวจไปปฏิบัติหน้าที่ที่ไหน หรือทำการระบุว่าบุคคลนี้มีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมหรือไม่
ข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์และการนำไปใช้ในอัลกอรึทึม จะใช้ข้อมูล 3 ด้าน นั่นคือ
1. Analysis of Space - การวิเคราะห์พื้นที่
2. Analysis of Time and Space - การวิเคราะห์เวลาและพื้นที่
3. Analysis of Social Network - การวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคม
การวิเคราะห์ทั้งสามด้านจะช่วยในเรื่องของ พื้นที่และเวลาในการก่ออาชญากรรม รวมไปถึงบุคคลหรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการก่อเหตุ ซึ่งบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ได้มีการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับ "เสียงปืน" ในการวิเคราะห์ตำแหน่งที่มาของการยิงอีกด้วย
ประสิทธิภาพเป็นอย่างไรบ้าง?
50 Best Inventions - TIME magazine
ประสิทธิภาพของการพยากรณ์อาชญากรรมล่วงหน้าถูกทดสอบโดยตำรวจ LAPD ในปี 2010 ซึ่งพบว่ามีความถูกต้องแม่นยำถึง 2 เท่าของแนวปฏิบัติปกติ
อีกหนึ่งเคสคือในเมือง Santa Cruz ที่แคลิฟอเนียร์ โดยได้มีการใช้การพยากรณ์อาชญกรรมล่วงหน้า 6 เดือน ส่งผลให้มีอัตราการก่อคดีลักทรัพย์ลดลงถึง 19%
มันมีประสิทธิภาพดีเสียจนนิตยสาร TIME ยกให้ Predictive Policing เป็น 1 ใน 50 นวัตกรรมที่ดีที่สุดขอปี 2011 จนถึงตอนนี้ ได้มีหลายรัฐในอเมริกาที่ใช้เครื่องมือนี้ เช่น California, Washington, South Carolina, Alabama, Arizona, Tennessee, New York และ Illinois
กระแสต่อต้าน
บทความต่อต้าน Predictive Policing โดย MIT Technology Review
แม้ว่าจะมีผู้สนับสนุนเครื่องมือนี้ แต่ก็มีกระแสต่อต้านเช่นเดียวกัน โดยผู้ต่อต้านได้ยกประเด็นถึงเรื่อง ความโปร่งใสของข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ (Transparency) และความรับผิดชอบ หากมีการทำนายผิดพลาด (Accountability)
เนื่องจากการพยากรณ์จะ "เรียนรู้" จากข้อมูลจากเหตุการณ์อาชญากรรมในอดีต ซึ่งอาจก่อให้เกิด Bias หรือความเอนเอียงได้ ยกตัวอย่างเช่น
มีตำรวจที่ใช้เครื่องมือนี้นายหนึ่ง กล่าวว่า
- "ชายหนุ่มผิวสีมักถูกระบุว่าเป็นอาชญากรมากกว่าชายหนุ่มผิวขาว"
ซึ่งความเอนเอียงนี้ มันติดพ่วงมากับชุดข้อมูลที่ถูกใช้ในการวิเคราะห์ตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้น ผลลัพธ์ของการพยากรณ์อาชญากรรมล่วงหน้า จึงมีความเอนเอียงไปด้วยเช่นกัน
อีกหนึ่งตัวอย่างจากคำสัมภาษณ์ตำรวจโดยนักวิจัย กล่าวว่า "ในแง่ของสถานที่การก่อเหตุอาชญากรรมก็เช่นเดียวกัน หากในชุดข้อมูลที่ใช้มีข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่ใดที่หนึ่งอยู่มาก เครื่องมือก็มักพยากรณ์ว่าจะมีเหตุการณ์อาชญากรรมที่นั่นถี่เกินไป "
ซึ่งยังมีประเด็นอื่นเช่น การละเมิดความเป็นส่วนตัว และการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สรุป
มีความเห็นมากมายเกี่ยวกับเครื่องมือนี้ โดยความเห็นที่ผมชอบมากที่สุดคงจะเป็นความเห็นจาก RAND Corporation (องค์กรวิจัยและพัฒนาของสหรัฐอเมริกา) โดยมีการกล่าวว่า
"Predictive Policing ไม่สามารถทำนายอนาคตได้ สิ่งที่มันทำได้ มีเพียงแค่ระบุบุคคลและสถานที่ที่มีความเสี่ยงแก่การก่อเหตุอาชญากรรม วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดยังคงเป็นแนวทางทางของการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง ความเชื่อใจไว้วางใจกันระหว่างตำรวจกับประชาชนในชุมชนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมร่วมกัน โดยใช้เทคโนโลยีนี้เป็นตัวช่วย ให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด"
อ้างอิง
อ้างอิงรูปภาพ
โฆษณา