19 ก.ค. 2020 เวลา 00:18 • ธุรกิจ
ย้อนตำนานสยามสแควร์
เมื่อพูดถึง “สยามสแควร์” (Siam Square) หลายคนคงนึกถึงสถานที่รวมตัววัยรุ่น แหล่งช้อปปิ้งสินค้าแฟชั่น ร้านอาหารหลากหลาย หรือทำเลที่มีศูนย์การค้าหลายแห่งอยู่ใกล้กัน แต่กว่าจะเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้ เรื่องราวของสยามสแควร์เป็นอย่างไร เราจะมาเล่าให้ฟัง
สยามสแควร์เป็นศูนย์การค้าแนวราบขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน มีพื้นที่ประมาณ 63 ไร่ อาณาเขตด้านทิศเหนือติดกับถนนพระรามที่ 1 ด้านทิศตะวันตกติดกับถนนพญาไท ด้านทิศตะวันออกติดกับถนนอังรีดูนังต์ และด้านทิศใต้ติดกับซอยจุฬาลงกรณ์ 64 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แผนผังสยามสแควร์ Credit : PMCU
ซึ่งบริเวณที่ตั้งสยามสแควร์นี้เดิมถูกปล่อยทิ้งร้าง บางส่วนมีสภาพเป็นสวนผักและมีชาวบ้านเข้ามาสร้างบ้านเรือนจนกลายเป็นชุมชนแออัด ต่อมาในปี พ.ศ.2507 พลเอก ประภาส จารุเสถียร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีแผนที่จะพัฒนาที่ดินบริเวณดังกล่าวให้เป็นศูนย์การค้าเต็มรูปแบบ จึงได้ว่าจ้างให้บริษัท เซาท์อีสท์เอเซียก่อสร้าง จำกัด (หรือที่เรารู้จักกันในนามซีคอนโฮม) เป็นผู้ดำเนินการพัฒนา ซึ่งในตอนนั้นทางซีคอนได้ออกแบบโครงการประกอบด้วยอาคารพาณิชย์จำนวน 550 คูหา โรงภาพยนตร์ ลานโบว์ลิ่ง และลานสเก็ตน้ำแข็ง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จใช้เวลา 5 ปี ก็ขายได้หมด ซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่และทันสมัยมากในยุคนั้น
สยามสแควร์สมัยเปิดให้บริการ Credit : MThai
เดิมทีสยามสแควร์ใช้ชื่อว่า “ปทุมวันสแควร์” แต่ด้วยความตั้งใจของคุณกอบชัย ซอโสตถิกุล ประธานบริษัทซีคอน ที่ตั้งใจจะสื่อให้โครงการนี้ดูยิ่งใหญ่สมเป็นศูนย์การค้าระดับประเทศ จึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็น “สยามสแควร์” จากการเปลี่ยนชื่อของสยามสแควร์นี้ส่งผลให้ศูนย์การค้าใกล้ๆ กันที่เพิ่งสร้างใหม่ได้ตั้งชื่อให้สอดคล้องกันว่า “สยามเซ็นเตอร์” ส่วนในฝั่งตรงกันข้ามด้านถนนพระรามที่ 1 กำลังก่อสร้างโรงแรมบางกอกอินเตอร์-คอนติเนนตัลอยู่ ในภายหลังโรงแรมได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงแรมสยามอินเตอร์-คอนติเนนตัล” ด้วย และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของย่านสยามสแควร์
ศูนย์การค้าสยาม Credit : Siamcenter
โรงแรมสยามอินเตอร์-คอนติเนนตัล Credit : Pantip
ยุคสมัยนั้นธุรกิจที่เข้ามาเปิดดำเนินการในสยามสแควร์ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร ร้านหนังสือ ร้านเสื้อผ้า และร้านตัดผม แต่จุดเด่นของสยามสแควร์นั้นเริ่มต้นในยุค 70 ซึ่งสยามสแควร์ได้ทยอยเปิดตัวโรงภาพยนตร์ถึง 3 แห่ง ได้แก่ สยาม ลิโด และสกาล่า โดยมีโรงภาพยนตร์สกาล่าเปิดตัวหลังสุดในปี พ.ศ.2513 ในยุคนี้ใครอยากดูหนังก็ต้องมาดูที่สยามสแควร์และถือเป็นยุคที่วัยรุ่นเริ่มนิยมมาเที่ยวกันที่นี่
โรงภาพยนตร์สยาม ลิโด และสกาล่า Credit : Bangkokpost Matichon MGRonline
หลังจากนั้นไม่นานประเทศไทยได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ.2516 หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อเหตุการณ์ “14 ตุลา” ส่งผลให้เรื่องราวของสยามสแควร์หายไประยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งปี พ.ศ.2520 สยามสแควร์ได้เปิดตัวลานโบว์ลิ่งภายใต้ชื่อ “สยามโบวล์” ส่งผลให้สยามสแควร์ก็กลายเป็นแหล่งรวมวัยรุ่นในยุคนั้นอย่างเต็มตัว (สยามโบวล์ถูกรื้อออกในปี พ.ศ.2527 ปัจจุบันคือโรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์)
สยามสแควร์ซอย 1 ในอดีต Credit : Livingpop
หลังจากนั้นสยามสแควร์ก็ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีร้านค้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งร้านอาหารหลากหลายระดับ แหล่งบันเทิง และมีศูนย์การค้ามาบุญครองเปิดให้บริการในปี พ.ศ.2528 ด้วย
2
ศูนย์การค้ามาบุญครองเมื่อครั้งเปิดให้บริการ Credit : Brandbuffet
จุดเปลี่ยนของสยามสแควร์
ในปี พ.ศ.2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ สยามสแควร์ก็หนี้ไม่พ้นวิกฤตในครั้งนั้นเช่นกัน จึงเริ่มมีการปรับขึ้นค่าเช่าพื้นที่จนเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่ของผู้ค้าในสยามสแควร์และตามมาด้วยการปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก ส่วนร้านค้าที่ยังเหลืออยู่เริ่มทยอยปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่ อย่างเช่น ร้านตัดเสื้อหลายแห่งเปลี่ยนมาเป็นขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในตอนนั้น จากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นสยามสแควร์ดูเงียบเหงาลงไปถนัดตา
ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องหาวิธีทําให้สยามสแควร์กลับมาคึกคักอีกครั้ง จึงมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณสยามสแควร์ซอย 4 ให้เป็นศูนย์รวมวัยรุ่น มีลานกิจกรรมและลานน้ำพุ โดยเรียกว่า "เซ็นเตอร์พอยท์" เริ่มเปิดดำเนินการในปี พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่รถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดให้บริการ เมื่อมีรถไฟฟ้าทำให้สยามสแควร์กลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางและเข้าถึงได้สะดวกมากขึ้น
รถไฟฟ้าออกจากสถานีสยาม ปี พ.ศ. 2544 Credit : Pantip
ธุรกิจที่มาแรงในยุคนี้ก็คือโรงเรียนกวดวิชาที่เพิ่มจำนวนเป็นดอกเห็ด ถ้าใครเป็นวัยรุ่นในยุคนั้น ใช่เลยครับ นั่งรถไฟฟ้าไปเรียนพิเศษที่สยาม นัดเจอเพื่อนเซ็นเตอร์พอยท์ ปิดท้ายด้วยการเดินเที่ยวและหาของกิน (ในภายหลังเซ็นเตอร์พอยท์ย้ายไปยังศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยที่ตั้งเดิมได้พัฒนาเป็นดิจิตอล เกต์เวย์ ในปี พ.ศ.2552 ปัจจุบันปรับเป็นไลฟ์สไตล์ มอลล์ และเปลี่ยนชื่อเป็น“เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์”)
ลานน้ำพุเซ็นเตอร์พ้อยท์ ปี พ.ศ.2548 Credit : Wikipedia
ก้าวเข้าสู่ยุค 2000 หรือ พ.ศ.2543 สยามสแควร์กลายเป็นศูนย์รวมสำหรับวัยรุ่นโดยสมบูรณ์ ยุคนั้นใครไม่มาสยามถือว่าเชย เซ็นเตอร์พ้อยท์กลายเป็นแลนด์มาร์คยอดนิยมของวัยรุ่น นักร้องยุคนั้นออกอัลบั้มก็ต้องมาโปรโมทกันที่สยาม ใครอยากเข้าวงการบันเทิงต้องมาที่สยามเพราะเหล่าแมวมองจะหาเด็กเข้าสังกัดกันที่นี่
ในช่วงนี้สถานที่โดยรอบสยามสแควร์มีการปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น มีห้างใหม่อย่างสยามดิสคัฟเวอรี่ ศูนย์การค้ามาบุญครองก็ปรับปรุงครั้งใหญ่และเปลี่ยนชื่อเป็นเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ ส่วนโรงแรมสยามอินเตอร์-คอนติเน็นตัลถูกรื้อถอนออกแล้วพัฒนาเป็นศูนย์การค้าสยามพารากอนเปิดให้บริการในปี พ.ศ.2548 เมื่อการเดินทางสะดวกมากขึ้นจากรถไฟฟ้าและเป็นแหล่งรวมศูนย์การค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง ประกอบกับมีร้านค้าร้านอาหารจำนวนมาก ทำให้ย่านสยามสแควร์กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าช่วงนี้เป็นจุดเปลี่ยนของสยามสแควร์อย่างแท้จริง
ผ่านมาถึงปี พ.ศ.2553 สยามสแควร์ต้องเผชิญกับบทพิสูจน์อีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมืองขึ้นจนนำไปสู่การสลายการชุมนุม เมื่อเหตุการณ์สงบลง บริเวณโรงภาพยนตร์สยามและพื้นที่โดยรอบได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้จนต้องทุบทิ้งทั้งหมด หลังจากนั้นจึงได้พัฒนาพื้นที่ใหม่เป็น “สยามสแควร์วัน” เปิดให้บริการในปี พ.ศ.2557
สยามสแควร์วัน Credit : Siam Square One
ปัจจุบันสยามสแควร์มีร้านค้ามากกว่า 4,000 ร้าน มีจำนวนคนเดินวันละกว่า 20,000 คน และอาจถึง 50,000 คนในวันหยุด ซึ่งสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังวางแผนพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการปรับภูมิทัศน์ นำสายสื่อสารและสายไฟทั้งหมดลงดินเพื่อให้มีความเป็นระเบียบมากขึ้น ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคใหม่ รวมไปถึงโครงการ “สยามสเคป” (SIAMSCAPE) ที่พัฒนาบนพื้นที่ห้างโบนันซ่าเก่าเป็นอาคาร Mixed use สูง 24 ชั้น ประกอบไปด้วย พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ อาคารสำนักงาน และร้านค้า นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะรวบรวมโรงเรียนกวดวิชาจากตึกแถวในสยามสแควร์มาไว้ที่นี่ด้วย เพราะในปี พ.ศ.2565 สยามสแควร์จะเปิดเป็น walking street เต็มรูปแบบ
โครงการสยามสเคป Credit : PMCU
เมื่อพิจารณาจากแผนพัฒนาพื้นที่ในย่านสยามสแควร์แล้ว ได้มีการประเมินไว้ว่าที่ดินบริเวณนี้น่าจะมีราคาราวๆ ตารางวาละ 3 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็นตารางวาละ 3.3 ล้านบาท ในอนาคต นับได้ว่าเป็นทำเลที่มีมูลค่าที่ดินสูงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทยเลยทีเดียว
ถึงแม้สยามสแควร์จะอยู่มานานกว่า 50 ปี แล้ว จนเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของแหล่งรวมวัยรุ่นทุกยุคสมัย วันนี้หลายสิ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สถานที่ยอดนิยมในช่วงเวลาหนึ่งของผู้คนมากมายเหลือไว้เพียงความทรงจำ สลับกับธุรกิจรายใหม่ที่เปิดตัวหมุนเวียนกันไป แต่ด้วยการพัฒนาธุรกิจอย่างไม่หยุดนิ่ง สยามแสควร์ก็คงเป็นศูนย์กลางของวัยรุ่นต่อไปอีกนาน
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
บริษัท เซ้าท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง จำกัด ที่เป็นผู้ก่อสร้างสยามสแควร์ ได้สิทธิ์บริหารเป็นเวลา 10 ปี หลังสร้างเสร็จ ก่อนที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเข้ามาดูแลต่อ ในวันนี้บริษัทดังกล่าวกลายมาเป็น “ซีคอมโฮม” บริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำและเป็นบริษัทในเครือเดียวกับศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ บริษัทรับเหมาก่อสร้างซีคอน รองเท้านันยาง และผงชูรสตราชฎา
Reference
โฆษณา