19 ก.ค. 2020 เวลา 05:00
ผู้ซื้อต้องระวัง
caveat emptor (Let the buyer beware)
……..
หลักกฎหมายทั่วไปในเรื่องซื้อขายที่ว่า “หลักผู้ซื้อต้องระวัง” (caveat emptor) คือ ผู้ซื้อจะต้องใช้ความระมัดระวังในการรับมอบสินค้า จะต้องตรวจดูสินค้าให้ถ้วนถี่เสียก่อนว่าไม่มีความชํารุดบกพร่อง หากไม่ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นแล้ว ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในความชํารุดบกพร่องดังกล่าว
หลักการนี้ปรากฏอยู่ในมาตรา 473 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งบัญญัติถึงข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขายเอาไว้ว่า “ผู้ขายไม่ต้องรับผิด ในกรณีที่ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชํารุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนหรือถ้าความชํารุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน”
ดังนั้น นอกจากจะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายให้กับผู้ซื้ออย่างถูกต้องครบถ้วนทั้งเวลา สถานที่ ชนิด ปริมาณ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญของผู้ขายแล้ว ทรัพย์สินที่ส่งมอบยังต้องสามารถใช้งานได้สมตามประโยชน์ของตัวทรัพย์ หรือตามความประสงค์สำคัญของคู่สัญญาอีกด้วย มิเช่นนั้นอาจเป็นกรณีที่ผู้ขายผิดหน้าที่ ต้องรับผิดหากทรัพย์ซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่อง (ม.472-473)
อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นผู้ขายไม่ต้องรับผิด แม้ทรัพย์สินนั้นจะเกิดความชำรุดบกพร่อง โดยอาจเกิดขึ้นได้โดยผลของกฎหมาย(ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด) หรือเกิดขึ้นเป็นข้อพิเศษโดยความตกลงของคู่สัญญาก็ได้ ทั้งนี้ เพราะมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย
โฆษณา