25 ก.ค. 2020 เวลา 05:24 • หนังสือ
เล่าอย่างย่อ: "เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ: สุขภาพดีด้วยการดูแลระบบนิเวศภายในร่างกาย"
ผู้เขียน: นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา
หมวด: วิทยาศาสตร์การแพทย์
สำนักพิมพ์: ชัชพลบุ๊คส์
Picture 1: หนังสือเพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ: สุขภาพดีด้วยการดูแลระบบนิเวศในร่างกาย
วัตถุประสงค์หลักของหนังสือเพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ: สุขภาพดีด้วยการดูแลระบบนิเวศในร่างกาย คือ ให้เราตระหนักถึงความสำคัญของเพื่อนเก่า (…ใครนะ) ที่หายสาบสูญ รวมไปจนถึงเพื่อน(เกือบจะเก่า) ที่เราต้องรักษาไว้ เพื่อรักษาระบบนิเวศในร่างกายให้สมดุล เพราะเพื่อนของเรานี้ ส่งผลในการทำงานทั้งในด้านสุขภาพร่างกาย และจิตใจของเราเป็นอย่างมากเชียวล่ะ
หัวข้อดังต่อไปนี้จะไกด์ไลน์ เพื่อเดินทางไปทำความรู้จักเพื่อนเก่าของเรากัน
1️⃣ ทำความรู้จักระบบนิเวศในร่างกาย
2️⃣ เพื่อนเก่าคือใคร ทำไมจากเพื่อน ถึงกลายเป็นเพื่อนเก่าได้นะ
3️⃣ ผลกระทบต่อร่างกายของเรา เมื่อเพื่อนหายไป
4️⃣ เอาเพื่อนเก่าคนเดิมกลับมาได้ไหมนะ แล้วจะรักษาเพื่อนที่เกือบจะเก่าไว้ได้อย่างไรกัน
แต่ก่อนจะเริ่มต้นเนื้อหา เรามาทำความรู้ระบบนิเวศกันซะหน่อย
ระบบนิเวศ (Ecosystem) คือ การมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งมีชีวิต รวมถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิต ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่มีความซับซ้อนสูง โดยหากสิ่งมีชีวิตใดชีวิตหนึ่งหายไป ก็เกินที่จะคาดเดาได้ว่าผลกระทบที่จะตามมานั้นจะเป็นอย่างไรไปได้บ้าง
แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อระบบนิเวศนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่า สิ่งมีชีวิตใดหายไป เพราะสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดในระบบนิเวศจะมีความสำคัญไม่เท่ากัน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Trophic Cascades และเจ้าสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญมากๆในระบบนิเวศ ซึ่งหากหายไปแล้วจะทำให้ สิ่งมีชีวิตอื่น หรือส่วนอื่นๆแปรปรวน หรือหายตามไปด้วย จะถูกเรียกว่า Keystone Species ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะอยู่ในฐานะของผู้ล่าในระบบ
เพิ่มเติมอีกนิด…
สิ่งมีชีวิตทุกชนิด จะมีวิวัฒนาการจากการได้รับอิทธิพลบางอย่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นเสมอ และสิ่งมีชีวิตที่ต่างฝ่ายต่างก็มีวิวัฒนาการร่วมกัน จะเรียกว่า Co-evolution
1️⃣ ระบบนิเวศในร่างกาย
ใครจะไปคิด ว่าร่างกายของเราจะเป็นระบบนิเวศ สำหรับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆๆอย่าง “จุลินทรีย์”
ห๊ะ! จุลินทรีย์ เพื่อนๆหลายคนอาจจะนึกถึงความสกปรก และสิ่งที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆใช่ไหมคะ
มันไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไปนะคะเพื่อนๆ จุลินทรีย์ หรือแบคทีเรีย(บางชนิด) ที่มีวิวัฒนาการร่วมกันมากับมนุษย์เรา คือต่างฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์เมื่อมาอยู่ร่วมกัน ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของเราด้วยนะคะ
เพื่อนรู้ไหมคะว่า เราใกล้ชนิดกับแบคทีเรียตั้งแต่อยู่ในครรภ์คุณแม่เลยนะคะ โดยเจ้าแบคทีเรียที่ชื่อว่าแล็กโตบาซิลไล (Lactobacilli) จะปรับสภาพแวดล้อมในช่องคลอด เพื่อไม่ให้เหล่าแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อทารกน้อยมีที่ยืนอยู่ในสภาวะนั้นได้ จนกระทั่งตอนที่คลอดออกมา
ยิ่งไปกว่านั้นบิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) ซึ่งปกติจะอยู่ในลำไส้ จะเดินทางขึ้นมาอยู่ที่หัวนมแม่ เพื่อป้องกันการอักเสบที่อาจเกิดขึ้นจากแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัสออเรียส (Staphylococcus aureus) (เจ้าถิ่น) อีกทั้งยังปรับสภาพช่องปากทารกน้อย เพื่อทำการคัดเลือกแบคทีเรียที่จะมาอาศัยในช่องปาก และร่างกายของเจ้าทารกน้อยอีกด้วย
เมื่อคลอดออกมา เหล่าแบคทีเรียที่ล่องลอยอยู่ในอากาศก็เข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อตั้งรกรากในร่างกาย แต่ก็มีเพียงบางชนิดเท่านั้น ที่จะสามารถอาศัยในสภาวะร่างกายของเราได้อย่างลงตัว
นอกจากนั้นเจ้าเด็กน้อยยังได้รับการถ่ายเทเชื้อแบคทีเรียที่หลากหลายจากการสัมผัสของแม่ ญาติ พี่ รวมไปถึงอาหารที่กินอีกด้วย (หลักการนี้คล้ายกับการฉีดวัคซีนให้ร่างกาย โดยการนำแบคทีเรียสายพันธุ์ไม่ก่อโรค หรือแบคทีเรียอ่อนแรง มากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย) ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้ จะพัฒนาไปเป็นแบคทีเรียประจำถิ่นในร่างกายของมนุษย์ และเมื่ออายุได้ประมาณ 3 ขวบปี ระบบนิเวศในร่างกายจะเริ่มคงที่
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อนๆนักอ่านคงพอได้รับคำเฉลยแล้วใช่ไหมคะ ว่า “เพื่อน” ของเราคือใคร
2️⃣ จากเพื่อนกลายเป็นเพื่อนเก่า
เพื่อนที่ดีของเราหายสายสูญไปได้อย่างไรกันนะ ❓
🏢 สภาพแวดล้อมรอบตัวของเราเปลี่ยนไป สังคมชนบทพัฒนาสู่สังคมเมือง ทำให้มนุษย์กับธรรมชาติห่างไกลกันมากขึ้น จากที่เคยสัมผัสดิน ใช้น้ำจากลำคลอง ก็เปลี่ยนเป็นพื้นคอนกรีต และใช้น้ำประปา เป็นต้น
🏥 เรามีระบบสาธารณะสุขที่พัฒนา (สะอาด และปราศจากแบคทีเรีย)
💊 เรามีการใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งในการเลี้ยงสัตว์ และเพื่อการรักษาโรค (แม้จะใช้ในโดสที่ต่ำ แต่หากต่อเนื่องเป็นเวลานานก็สามารถส่งผลกระทบที่รุนแรงกับร่างกายได้
🧀 พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากการกินอาหารกากใยสูง ไขมันต่ำ สู่การกินอาหาร fast food (กากใยต่ำ ไขมันสูง)
ไม่แปลกใจเลยใช่ไหมคะ ว่าเพื่อนเก่าหายสาบสูญไปได้อย่างไรกัน
3️⃣ ผลกระทบต่อร่างกาย เมื่อเพื่อนเก่าหายสาบสูญ
🦠 โรคภูมิแพ้ หอบหืด เมื่อเราสัมผัสกับแบคทีเรียไม่ก่อโรคที่มีอยู่ในธรรมชาติน้อยลง (วัยเด็ก) ร่างกายเราก็ไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันไว้ เพื่อคุ้มกันเราจากการแพ้ (ละอองเกสร) ได้
🦠 ความอ้วน เพราะความอ้วนไม่ได้ถูกกำหนดโดยแคลอรี่ที่เรากินเข้าไปเท่านั้น แต่รวมไปถึงชนิดอาหารที่เรากินเข้าไปด้วย ว่าเหมาะสมกับแบคทีเรียชนิดใดในลำไส้ ซึ่งหากเป็นอาหารกากใยสูง แบคทีเรียที่ทำให้ผอมจะมีอิทธิพลมากกว่า แต่หากกินอาหารขยะในระยะยาว แบคทีเรียที่ทำให้ผอมก็ไม่สามารถทนอยู่ได้ ทำให้แบคทีเรียอ้วนมายึดอำนาจแทน (สัดส่วน หรือชนิดของแบคทีเรียในลำไส้ ของแต่ละคนแต่ต่างกันนะ) และหากมีการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ก็จะเป็นปัจจัยเสริมให้อ้วนง่ายขึ้น
🦠 ท้องเสียรุนแรง และปัญหาสุขภาพจิต เนื่องจากการกินยาปฏิชีวนะในระยะยาว จะไปทำลายระบบนิเวศในลำไส้ ทำให้สัดส่วนของแบคทีเรียในลำไส้เปลี่ยนไป แบคทีเรียเพื่อนรักที่เคยเรืองอำนาจอยู่ ก็เสื่อมอำนาจลง ส่วนแบคทีเรียอันตรายก็จะเรืองอำนาจขึ้น ปล่อยสารพิษ ซึ่งส่งผลให้เกิดท้องเสียรุนแรง และที่สำคัญเพื่อนๆรู้ไหมว่า ลำไส้กับสมองคุยกันได้นะ ผ่านฮอร์โมน และเส้นประสาทที่เรียกว่า เส้นประสาทเวกัส (Vagus Nerve) (การทำงานร่วมกันเช่นนี้ จะเรียกว่า Gut-brain axis) เมื่อสารพิษนี้เข้าสู่เส้นประสาทเวกัส จะส่งผลให้มนุษย์ผู้นั้นมีอาการทางจิต (โรคออทิซึม (Autism))
4️⃣ เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญจะกลับมาได้หรือไม่นะ
เนื่องด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของมนุษย์เราเปลี่ยนแปลงไปจากบรรพบุรุษค่อนข้างมาก แน่นอนระหว่างทางการพัฒนาไปสู่โลกแห่งความเจริญ เราได้ทำเพื่อนเก่าที่แสนดีบางชนิดหายสาบสูญไป ซึ่งแน่นอนว่าระบบนิเวศในร่างกายย่อมได้รับผลกระทบ
ในทางการแพทย์ วิธีการรักษาโรคที่เกิดจากการหายไปของแบคทีเรียเพื่อนรักในลำไส้ ก็คือเติมมันกลับเข้าไปในลำไส้ ดูตรงไปตรงมาใช่ไหมคะ วิธีนี้ถูกเรียกว่า Faecal Microbiota Transplantation (FMT) ซึ่งก็คือ การนำแบคทีเรียจากอุจจาระคนอื่น มาให้ในลำไส้ของผู้ป่วย
แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบ หรือผลข้างเคียงในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาด้วยวิธีนี้ ในวงการแพทย์ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด
แต่อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจ คือ การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง สามารถช่วยเพิ่มจำนวนเพื่อนที่เกือบจะเก่าได้ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในเชิงจากรุ่นสู่รุ่น (ในหนูทดลอง) แต่ แบคทีเรียเพื่อนเก่าที่หายสาบสูญไปแล้วนั้น ไม่สามารถกลับคืนมาได้อีกนะ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆนักอ่าน ให้หันมาตระหนักดูแลเพื่อนตัวน้อยที่วิวัฒนาการร่วมกันมนุษย์เรามานานแสนนาน เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเองกันนะคะ 😊
เราอยากแนะนำให้เพื่อนๆให้ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ในฉบับเต็มมากๆ เพราะเนื้อหาวิชาการแน่นมากๆๆ สนุกมากๆ อีกทั้งในท้ายเล่ม คุณหมอได้แนะนำแหล่งที่มาของข้อมูล และ keyword ที่อยู่ในเล่ม เพื่อให้ผู้สนใจไปหาอ่านเพิ่มเติมได้สะดวกขึ้นด้วยค่ะ
เพื่อนๆสามารถไปซื้อไปสอยได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปได้นะคะ อ้อ…เราแอบเห็นใน Shopee ด้วยค่ะ ชื่อร้าน cthada เป็นร้านของสำนักพิมพ์ชัชพลบุ๊คค่ะ
ขอบคุณเพื่อนๆทุกคนที่เข้ามาอ่านนะคะ 😍 แล้วเจอกันใหม่ในสรุปบทความหน้านะค้า
โฆษณา