21 ก.ค. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา P/E 4 เท่าของ SF
P/E หรือ Price to Earnings Ratio ที่เราเห็นกันในเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์
จะคำนวณมาจากมูลค่าบริษัท หารด้วยกำไรสุทธิที่บริษัททำได้ใน 4 ไตรมาสล่าสุด
อัตราส่วนนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นักลงทุนมักจะนำมาใช้ประเมินมูลค่าบริษัทได้ว่า ถูก หรือ แพง
แต่ในบางครั้งก็มีเหตุการณ์ที่ตัวเลขดังกล่าวมีค่าที่ต่ำ หรือสูงกว่าปกติมาก
สำหรับวันนี้เรามาดูตัวอย่าง P/E ของ หุ้น SF หรือ บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
อย่างในกรณี SF เราจะพบว่า SF มี P/E เพียง 4 เท่า
ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก
แล้วตัวเลข P/E 4 เท่าของ SF ที่เราเห็น ถูกจริงหรือไม่?
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาให้เราต้องระวังในตัวเลขอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
SF ทำธุรกิจพื้นที่ให้เช่า โดยเป็นเจ้าของห้างอย่างเมกาบางนา, เอสพละนาด รัชดา, เจ อเวนิว ทองหล่อ และโครงการอีกหลายแห่งรวม 20 โครงการมีพื้นที่เช่าราว 4 แสนตารางเมตร
Cr. สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์
จากข้อมูลบริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมห้างสรรพสินค้า
บนเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น
เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) มูลค่าบริษัท 221,034 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 4 ไตรมาสล่าสุด 13,535 ล้านบาท
เอ็ม บี เค (MBK) มูลค่าบริษัท 23,050 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 4 ไตรมาสล่าสุด 2,503 ล้านบาท
เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป (PLAT) มูลค่าบริษัท 8,232 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 4 ไตรมาสล่าสุด 535 ล้านบาท
สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ (SF) มูลค่าบริษัท 8,826 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 4 ไตรมาสล่าสุด 2,067 ล้านบาท
หากเราดูจากข้อมูลข้างต้น
เราจะเห็นว่าแม้ SF มีมูลค่าบริษัทพอๆ กับ PLAT
แต่ SF กลับมีความสามารถในการทำกำไรได้เป็น 4 เท่าของ PLAT เลยทีเดียว
Cr. The Momentum
นอกจากนี้ หากเรานำมูลค่าของแต่ละบริษัท และกำไร 4 ไตรมาสล่าสุดมาคำนวณ P/E เราจะพบว่า
CPN P/E 16 เท่า
PLAT P/E 15 เท่า
MBK P/E 9 เท่า
SF P/E 4 เท่า
หากเราดูมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะด่วนสรุปได้ทันทีว่า
SF เป็นบริษัทที่มีมูลค่าถูกกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การที่เรามองเพียง “กำไรบรรทัดสุดท้าย”
ในบางครั้งมันก็อาจจะทำให้เราวิเคราะห์ผิดพลาดได้
แล้วความผิดพลาดที่ว่านั้นมีอะไรได้บ้าง?
สำหรับเคสของ SF นั่นก็คือ วิธีการบันทึกบัญชี
เนื่องจาก SF เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
บริษัทจึงเลือกวิธีการบันทึกบัญชีได้ โดยนำมูลค่ากำไรขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ เข้าไปด้วย
แน่นอนว่าการปรับมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ เช่น ปรับมูลค่าที่ดินของเราเพิ่มขึ้น
ไม่ได้เกิดขึ้นจากดำเนินธุรกิจปกติ แต่เป็นเพียงตัวเลขเพิ่มขึ้นทางบัญชี
ซึ่งมันอาจจะไม่ได้สะท้อนภาพรวมผลการดำเนินธุรกิจที่แท้จริง
ในกรณีนี้คล้ายกับ การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งมีรายได้พิเศษ หรือ มีค่าใช้จ่ายพิเศษเพียงครั้งเดียว
หากเราไม่นำข้อมูลเหล่านี้ มาคำนวณให้ดี
มันก็จะส่งผลให้การมองธุรกิจของเราผิดพลาดได้เช่นกัน
กลับมาที่การบันทึกบัญชีของ SF
เราลองมาดูว่าวิธีการบันทึกบัญชี
ที่เราอาจจะมองข้าม มีผลขนาดไหน?
3
แบบแรก งบกำไรขาดทุนปรับตามมูลค่ายุติธรรม
ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 รายได้ 460 ล้านบาท กำไร 307 ล้านบาท
2
แบบสอง งบกำไรขาดทุนตามวิธีราคาทุน
ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 รายได้ 460 ล้านบาท กำไร 137 ล้านบาท
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ากำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรม มีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของ กำไรปกติเลยทีเดียว
ซึ่งถ้าเรานำกำไรตามวิธีราคาทุน 4 ไตรมาสล่าสุดมาคำนวณ
เราจะเห็นได้ว่า P/E ของ SF จะสูงถึง 14 เท่า
ซึ่งก็จะอยู่ในระดับเดียวกันกับ CPN และ PLAT นั่นเอง
Cr. Central Pattana
จริงๆ แล้วเรื่องนี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า
ในตลาดหุ้น หากเรามองเพียงแค่เปลือก เพียงภาพรวมรายได้ กำไร
มันก็อาจจะทำให้เราพลาดรายละเอียดบางอย่างในแต่ละธุรกิจ
โดยเฉพาะธุรกิจเฉพาะที่มีความซับซ้อน
หากเราจะนำเงินของเราเข้าไปลงทุน อย่างน้อยเราก็ควรรู้จัก
ธุรกิจที่เรากำลังจะเข้าไปลงทุนให้ดีก่อน
การที่เราพบบริษัทที่โตระเบิด มีอัตราส่วนทางการเงินที่น่าดึงดูด
เราก็อย่าเพิ่งไปด่วนสรุปว่ามันเป็นอย่างที่เราเห็นในครั้งแรก
ความรอบคอบ น่าจะเป็นงานแรกที่นักลงทุนต้องทำ
ตัวเลขที่แสดงอวดตามหน้าเว็บไซต์ เหมือนจะเป็นเครื่องมือให้นักลงทุน
แต่จริงๆ แล้วมันอาจเป็น “กับดัก” ที่คอยมาครอบเราอีกที..
References
-แบบรายงาน 56-1 และรายงานประจำปีบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์
-Settrade
โฆษณา