Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หลงไปในประวัติศาสตร์ by หมอเอ้ว ชัชพล
•
ติดตาม
20 ก.ค. 2020 เวลา 13:11 • ประวัติศาสตร์
เมนเดล นักวิทยาศาสตร์ผู้ล้มเหลวในชีวิต
วันนี้เป็นวันเกิดของเมนเดล บิดาของวิชาพันธุศาสตร์นะครับ
เรามาอ่านเรื่องราวของเขากันหน่อยดีกว่า
1.
20 กค. 1822 หรือวันนี้เมื่อ 198 ปีที่ Gregor Mendel เมนเดล ก็ถือกำเนิดขึ้น
62 ปีถัดมา คือในเดือน มกราคม ค.ศ. 1884 เมนเดล ก็เสียชีวิตลง
ไม่กี่วันถัดมา ที่เมืองบรูโน (Brno) จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (บริเวณที่เป็นสาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน)
ที่ลานโล่งกว้างภายในวัดคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกแห่งหนึ่ง นักบวชกลุ่มหนึ่งกำลังง่วนอยู่กับการเผากองเอกสารจำนวนมาก เศษกระดาษ สมุดบันทึก ค่อยๆ ถูกโยนเข้าไปในกองเผลิงทีละปึก ทีละเล่ม
สิ่งที่กำลังถูกเผาไฟอยู่นี้เป็นจดหมายหรือบันทึกเก่าๆของอดีตเจ้าอาวาสที่เพิ่งมรณภาพไปไม่นาน เจ้าอาวาสท่านนี้ พระลูกวัดหลายรูปไม่ค่อยชอบนัก เพราะเขาชอบไปมีเรื่องทะเลาะกับรัฐ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเก็บภาษีซึ่งเจ้าอาวาสมองว่าเป็นการเบียดเบียนวัดอย่างไม่เป็นธรรม
เกือบ 20 ปีที่เป็นเจ้าอาวาสเขาทะเลาะกับรัฐมาโดยตลอด ในห้องทำงานของเจ้าอาวาสจึงเต็มไปด้วยจดหมายที่เขียนโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเผ็ดร้อนจำนวนมาก
เมื่อเจ้าอาวาสมรณภาพลงในวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1884 เจ้าอาวาสคนใหม่ก็ตัดสินใจนำจดหมายและเอกสารจำนวนมากเผาทิ้งทั้งหมด
ไม่มีใครรู้ว่าเอกสาร จดหมายและสมุดบันทึกมากมายที่ถูกนำไปเผาไฟนี้มีอะไรอยู่บ้าง แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่าในเอกสารที่กำลังโดนเผาไฟอยู่นี้ น่าจะมีภาพวาดของเมล็ดถั่ว หรือดอกไม้จำนวนมาก อาจจะมีบันทึกที่ท่านเจ้าอาวาสคนจดตัวเลข วาดตาราง เขียนสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนไว้มากมาย
เจ้าอาวาสที่เพิ่มมรณภาพไปคนนี้คือ เกรเกอร์ เมนเดล
เอกสารที่เผาไฟทิ้งไปอาจจะมีบันทึกที่เป็นต้นฉบับงานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกถั่วของเขาปนอยู่ด้วย
งานวิจัยที่นำไปสู่การค้นพบสิ่งที่เรียกว่า ... พันธุกรรม
2.
เมนเดลเกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1822 ในครอบครัวเกษตรกรที่ฐานะค่อนข้างยากจน ดังนั้นแม้ว่าเขาจะเรียนเก่ง แต่ด้วยความจนจึงไม่มีเงินเรียนต่อระดับสูง
เมนเดลจึงเลือกที่จะบวชเป็นพระแล้วขอทุนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเวียนนา
เมื่อเรียนจบเขาก็กลับมาเป็นพระและสอนหนังสือให้เด็ก
ด้วยความที่เขาคุ้นเคยกับการเพาะปลูกมาตั้งแต่เด็ก และยังได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย ทำให้เมนเดลสนใจเรื่องพันธุกรรมของพืช
ในยุคนั้น เป็นที่เชื่อกันทั่วไปว่าลูกมีหน้าตาคล้ายพ่อแม่ เพราะลูกเป็นส่วนผสมระหว่างพ่อและแม่ การผสมนี้เกิดขึ้นคล้ายๆกับการผสมสี
แต่จากประสบการณ์ที่เมนเดลเป็นลูกชาวนา และเพาะปลูกพืชมาเยอะเขารู้ว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เขาจึงอยากเข้าใจว่าอะไรคือกลไกที่อยู่เบื้องหลังการส่งต่อลักษณะของพ่อแม่ไปสู่ลูก
3.
ในปี ค.ศ. 1854 งานทดลองปลูกถั่วลันเตาที่มีชื่อเสียงของเมนเดลก็เริ่มต้นขึ้น
เมนเดลเริ่มต้นที่ต้นถั่วพันธุ์แท้หรือพันธุ์บริสุทธิ์หมายความว่าถ้าเห็นเป็นดอกสีขาวก็จะเป็นสีขาวจริงๆ เอามาผสมกันกี่รุ่นต่อกี่รุ่นก็จะได้แต่ดอกสีขาวเท่านั้น
เมนเดลทดลองด้วยการนำสายพันธุ์บริสุทธิ์สองสายพันธุ์มาผสมกัน เช่น เริ่มต้นด้วยดอกสีม่วงบริสุทธิ์ผสมกับดอกสีขาวบริสุทธิ์
พอได้เมล็ดออกมา (ก็คือรุ่นลูก) ก็นำเมล็ดเหล่านั้นไปปลูก ผลที่ออกมาคือ...รุ่นลูกเป็นสีม่วงทั้งหมด ไม่มีดอกสีขาวเลยสักต้น
พอจะเห็นไหมครับแค่ขั้นตอนแรกเราก็เห็นแล้วว่ามันขัดกับความเชื่อว่าพันธุกรรมเหมือการผสมสี
ดอกสีม่วงที่ออกมานี้เป็นม่วงจริงๆ ไม่ใช่ม่วงจางๆ หรือม่วงปนขาว แต่เป็นม่วงเข้มเทียบเท่าต้นฉบับเลย คำถามแรกที่เกิดขึ้นคือ สีขาวหายไปไหน?
จากนั้นเมนเดลก็นำรุ่นลูกที่สีม่วงไปผสมกันเอง พอได้เมล็ด (รุ่นหลาน) ก็นำไปปลูก ผลที่ออกมาน่าสนใจมาก
อย่างแรกคือ รุ่นหลานเต็มไปด้วยสีม่วง (อันนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะพ่อก็ม่วง แม่ก็ม่วง) แต่ที่แปลกจริงๆ คือ รุ่นหลานมีดอกสีขาวปนออกมาด้วย
คำถามคือ พ่อก็ม่วง แม่ก็ม่วง แล้วลูกสีขาวมาจากไหน?
การที่มีสีขาวโผล่มามันบ่งให้เห็นว่า แม้ว่าทั้งต้นพ่อและแม่จะมีสีม่วงเข้ม แต่มีความเป็นสีขาวแอบซ่อนอยู่ในรุ่นพ่อแม่
ความแปลกอีกอย่างที่เมนเดลพบคือ เมื่อเขานับจำนวนดูว่ามีต้นสีม่วงและสีขาวอย่างละกี่ต้น เขาก็พบคือ จำนวนของดอกสีม่วงต่อสีขาวจะมีสัดส่วนเป็น สีม่วง 3 ต้น ต่อสีขาว 1 ต้นเสมอ !!
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมจึงมีตัวเลขคงที่เข้ามาเกี่ยวข้องในธรรมชาติได้ ?
การพบสัดส่วน 3:1 นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว เมื่อเมนเดลทดลองซ้ำอีกหลายครั้งผลที่ได้ก็ยังเป็นเช่นนี้เสมอ
การพบสัดส่วนคงที่เช่นนี้ทุกๆครั้ง เป็นการบอกเรากลายๆ ว่า สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการส่งต่อสีม่วงหรือสีขาวนี้ ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม มันเป็นสิ่งที่สามารถคำนวณได้
และที่สำคัญสุดคือตรงนี้ครับ ถ้ามันคำนวณได้นั่นก็หมายความว่าเราอาจจะสามารถพยากรณ์สิ่งที่เคยเป็นความลับของธรรมชาตินี้ได้
เมนเดลไม่ได้หยุดการทดลองอยู่แค่นั้น แต่เขานำลักษณะอื่นๆ ของถั่วมาศึกษาอีกหลายลักษณะ เช่น
พันธุ์ที่ให้เมล็ดสีเหลือง ผสมกับพันธุ์ที่ให้เมล็ดสีเขียว
พันธุ์ที่ฝักถั่วสีเขียวผสมกับฝักถั่วสีเหลือง
พันธุ์ที่เมล็ดกลมเต่งตึงผสมกับพันธุ์ที่เมล็ดเหี่ยวย่น เป็นต้น
ผลที่ออกมาก็ยังเป็นเหมือนๆเดิมนั่นคือ รุ่นแรกลักษณะหนึ่งจะหายไป แต่ไปโผล่อีกครั้งในรุ่นที่สอง และโผล่ในอัตราส่วนเป็น 3:1
ด้วยความที่เมนเดลมีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่ดีมาก เขาจึงพอจะมองออกลางๆว่าคณิตศาสตร์จะช่วยให้เข้าใจความลับของธรรมชาติที่ซ่อนอยู่นี้ได้อย่างไร
ตรงส่วนนี้ผมขออนุญาตอธิบายเพิ่มเติมแทนเมนเดลก็แล้วกันนะครับ
เริ่มแรกผมอยากให้เข้าใจก่อนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้แยกได้เป็นสองส่วนด้วยกัน
ส่วนแรกคือ สิ่งที่ตามองเห็น
ส่วนที่สองคือ ส่วนที่ซ่อนอยู่ภายใน
ตัวอย่างเช่น สีม่วงของดอกไม้ที่เราเห็น แม้ว่าจะภายนอกสีม่วงเหมือนกัน แต่ภายในอาจจะแตกต่างกันได้ เช่น สีม่วงในรุ่นพ่อและสีม่วงในรุ่นลูก สีม่วงเหมือนกัน แต่สีม่วงในรุ่นพ่อเป็นม่วงพันธุ์แท้ ส่วนสีม่วงในรุ่นลูกเป็นม่วงพันธุ์ทาง
ในภาษาวิทยาศาสตร์เราเรียกลักษณะที่มองมองเห็นด้วยตาจากภายนอกว่า ฟีโนไทป์ (Phenotype) ส่วนที่ซ่อนอยู่ภายในหรือสิ่งที่เป็นเบื้องหลังนี้เราเรียกว่า จีโนไทป์ (Genotype)
และเป็นแบบแผนของจีโนไทป์นี้เองที่เมนเดลถอดรหัสออกมาได้
เริ่มแรกเราจะเห็นว่ารุ่นลูกที่ออกมาเป็นดอกสีม่วงทั้งหมด ดูเผินๆ จะเหมือนว่าสีขาวได้หายไป
แต่เมื่อนำรู่นลูกมาผสมกัน พบว่ารุ่นหลานมีดอกสีขาวกลับคืนมา ซึ่งตรงนี้บอกเราว่า สีขาวในรุ่นพ่อแม่ไม่ได้หายไปไหน แต่ถูกกลบหรือซ่อนไม่ให้แสดงตัวออกมาเท่านั้น
เมนเดลจึงมองออกว่าสีม่วงและสีขาวมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ คือสีม่วงเด่นกว่าสีขาว ถ้าสองสีนี้เจอกันเมื่อไหร่ สีขาวจะถูกกลบไม่ให้แสดงออกมา
เมนเดลมองออกว่าลักษณะแต่ละลักษณะจะมี “ปัจจัย" ที่คอยควบคุมอยู่สองตัวด้วยกัน
ปัจจัยนี้จะอยู่เป็นคู่กัน ปัจจัยตัวนึงมาจากพ่อ อีกตัวมาจากแม่
ปัจจัยแต่ละตัวมีความแข็งแรงไม่เท่ากัน ทำให้สามารถกลบปัจจัยอีกตัวได้
ปัจจัยที่ปัจจุบันเรารู้จักในชื่อว่า “ยีน”
4.
เมื่อเมนเดลพบหลักการหรือแบบแผนที่ซ่อนอยู่แล้ว ก็ถึงเวลาที่เขาจะประกาศให้คนอื่นรู้
ครั้งแรกเขาได้เสนอผลงานในการประชุมวิชาการในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1865 แต่ไม่ค่อยมีคนเข้าใจหรือตื่นเต้นกับสิ่งที่เขาค้นพบเลย
อีก 1 ปีถัดมาเขาก็นำสิ่งที่พบมาตีพิมพ์เป็นบทความในวารสารทางวิชาการที่ชื่อ The Proceedings of the Natural History Society of Brünn
และผลตอบรับก็เช่นเคยคือ เงียบมาก แทบไม่มีใครพูดถึง ไม่มีใครมาชื่นชม ไม่มีคนวิจารณ์ เหมือนกับว่างานวิจัยของเขาไม่เคยถูกตีพิมพ์มาก่อน
มันน่าสงสัยใช่ไหมครับว่าทำไมคนไม่พูดถึงกัน หรือว่า หัวข้อพันธุกรรมยังไม่อยู่ในความสนใจของคนยุคนั้น ?
ไม่ใช่เลยครับ ช่วงเวลานั้นนักวิชาการกำลังสนใจพันธุกรรมกันอย่างมาก หนึ่งในคนที่กระหายต้องการจะเข้าใจว่า “การส่งต่อลักษณะจากพ่อแม่ไปลูก” ทำงานยังไง คือ ชาล์ส ดาร์วิน เพราะทฤษฎีวิวัฒนาการของเขาต้องพึ่ง ความรู้นี้
แต่ทำไมจึงไม่มีใครสนใจการค้นพบของเมนเดลเลย ?
คำตอบจริงๆ เราคงไม่รู้ครับ แต่เชื่อว่าน่าจะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง
อย่างแรกสุดเลยคือ เมนเดลเป็นพระในเมืองเล็กๆ ที่ไม่ใช่ศูนย์กลางของโลกวิชาการ แล้ววารสารทางวิชาการที่เขาตีพิมพ์ก็ไม่ใช่วารสารดัง เป็นวารสารใหม่ซึ่งก่อตั้งมาแค่ 4 ปี
อย่างที่สองคือ เมนเดลไม่ได้รับการสนับสนุนจาก influencer ที่มีชื่อเสียง แม้ว่าเมนเดลจะรู้จักคนมีชื่อเสียงหลายคน แต่คนเหล่านั้นไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ เมนเดลพบคืออะไรหรือสำคัญอย่างไร
เมนเดลไม่สามารถแสดงให้คนอื่นเห็นได้ว่า สิ่งที่เขาพบนั้นมันสำคัญอย่างไรหรือ อาจจะเป็นไปได้ว่าแม้แต่ตัวเมนเดลเองอาจจะคิดไม่ถึงด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ตัวเองพบมันสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์มากแค่ไหน
5.
บทบาทในฐานะนักวิทยาศาสตร์ของเมนเดลนั้นสั้นมากๆครับ หลังจากที่งานวิจัยของเขาได้รับการตีพิมพ์ไป และไม่มีใครสนใจงานของเขาเลย
เมนเดลจึงเริ่มรู้สึกว่าตัวเองคงจะเอาดีทางด้านวิทยาศาสตร์ไม่ได้
ประมาณ 2 ปีหลังจากงานวิจัยต้นถั่วของเขาถูกตีพิมพ์ไป เขาก็ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าอาวาส จากนั้นมาชีวิตที่เหลือของเขาเกือบ 20 ปีก็ยุ่งอยู่แต่กับเรื่องของการบริหารงาน บริหารเงิน และทะเลาะกับรัฐอย่างที่เราคุยกันไปในตอนต้น
นึกดูแล้วก็แปลก ทุกวันนี้ชื่อของเมนเดล ถูกรู้จักเขาในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
แต่ในวันที่เมนเดลจากไป แทบไม่มีใครรู้อะไรเกี่ยวกับผลงานทางวิทยาศาสตร์ของเขาเลย ถ้าเราไปยืนในงานศพของเมนเดลวันนั้น เราแทบจะไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์ไปร่วมงานศพของเขาเลย
เมนเดลจากโลกนี้ไปในฐานะของนักบวชที่คนไม่ค่อยชอบรูปหนึ่ง
เมนเดลจากโลกนี้ไปในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันสักเท่าไหร่
เมนเดลจากโลกนี้ไปโดยไม่รู้ว่าต่อมาโลกจะรู้จักเขาในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ที่สำคัญคนหนึ่ง
โลกจะรู้จักเขาในฐานะของบิดาวิชาพันธุศาสตร์
แต่กว่าวงการวิทยาศาสตร์จะค้นพบงานวิจัยของเขาอีกครั้ง
เมนเดลก็เสียชีวิตไปนานถึง 34 ปีแล้ว ...
หมายเหตุ: วันนี้ 20 กค. เป็นวันเกิดเมนเดล อย่าลืมร้องเพลง Happy Birth day แล้วกินเค้กให้เมนเดลกันด้วยนะครับ
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
ถ้าอยากให้ไลน์แจ้งเตื่อนเมื่อผมโพตส์บทความใหม่ ก็สามารถแอดไลน์ได้โดยการคลิกที่นี่เลยครับ
https://lin.ee/3ZtoH06
หรือ Line: @chatchapol
ถ้าชอบประวัติวิทยาศาสตร์แบบนี้
แนะนำอ่านหนังสือ สงครามที่ไม่มีวันชนะ และ เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ
https://shopee.co.th/cthada
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่างครับ
https://shopee.co.th/cthada
ติดตามอ่านบทความแนวประวัติศาสตร์ได้ที่
https://www.facebook.com/HistorybyChatchapol
หรือ
https://www.blockdit.com/historybychatchapol
ติดตามคลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ได้ที่
https://www.youtube.com/chatchapolbook
74 บันทึก
238
14
78
74
238
14
78
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย