20 ก.ค. 2020 เวลา 14:08 • การศึกษา
ตอนที่ 3.2"วาทกรรมการพัฒนา" ซึ่งผู้เขียนขอบอกเลยว่ามันส์มากๆ มาอ่านต่อกันเลย
2.การพัฒนาในฐานะที่เป็นวาทกรรม
การวิเคราะห์วาทกรรมไม่ได้แยกขาดระหว่างทฤษฎีกับโลกแห่งความจริง ระหว่างอุดมการณ์กับความจริง อีกทั้ง การวิเคราะห์ยังให้เราเห็นด้านที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมของการพัฒนา เช่น เรื่องจุดยืน ความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความรู้ ความหมาย เป็นต้น
2
การมองการพัฒนาในฐานะที่เป็นวาทกรรม อำนาจ ความรุนแรงทำให้เห็นมุมมองที่ฉีกแนว ซึ่งชี้และแสดงให้เห็นถึง กระบวนการสร้างหรือสถาปนาความเป็นเจ้า และชี้ให้เห็นความแยบยลของอำนาจ และการครอบงำที่มาในรูปแบบความรู้และความจริง ฉะนั้นเห็นได้ว่ารัฐเป็นผู้มีบทบาทนำในการพัฒนาไม่ใช่ประชาชน และได้ดึงเอาการพัฒนาไปโยงใยกับอุดมการณ์ของรัฐ การพัฒนาจึงถูกทำให้เชื่อมโยงกับการสร้างชาติ เมื่อมาตรวจสอบ วิเคราะห์กระบวนการ รายละเอียด เงื่อนไขและความเป็นมาของวาทกรรมการพัฒนากระแสหลัก ผู้เขียนจะขอแยกประเด็นสำคัญๆออกมาเป็น 3 ประเด็นด้วยกัน คือ
1. เทคนิค/กระบวนการในการจัดระเบียบ เช่น การพัฒนากลายเป็นความรู้และความจริง ผ่านกลยุทธ์ ในการจัดระเบียบให้กลายเป็น แขนงวิชาการเรียนการสอน
2. กระบวนการสร้างความเป็นเจ้าวาทกรรม การพัฒนา ที่กีดกั้นประเทศ “ด้อยพัฒนา” ออกจากกระบวนการสร้างความรู้และความจริง คือ การไม่ยอมรับ ความรู้ ความเห็น จากประเทศด้อยพัฒนา
3. กระบวนการสร้าง ความเป็นเจ้าของวาทกรรมการพัฒนา เกิดจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ที่มหาอำนาจตะวันตกยังสนใจต่อประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมหรือประเทศที่ยังด้อยพัฒนา โดยการอ้างการพัฒนา เพื่อเป็นความชอบธรรมในการเข้ามาจัดการและจัดระเบียบประเทศในโลกที่สาม
ความเข้าใจและข้อคิดเห็นของผมต่อวาทกรรมการพัฒนาที่ได้อธิบายในข้างต้น เข้าใจได้ว่าวาทกรรมที่เป็นกระแสหลักอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ เป็นกระแสที่มาจากมหาอำนาจตะวันตกที่ได้นิยามคำศัพท์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังเช่น หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศมหาอำนาจตะวันตกต้องปล่อยประเทศที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของตนและให้เอกราชกับประเทศเหล่านี้ ซึ่งในความเป็นจริงมหาอำนาจเหล่านี้ไม่ต้องการปล่อยประเทศที่ตกอยู่ในอาณานิคม แต่ด้วยกระแสของโลกที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงและการจัดระเบียบโลกขึ้นมาใหม่ ทำให้มหาอำนาจตะวันตกต้องมอบเอกราชแก่ประเทศเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตามด้วยความต้องการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากมายจากประเทศโลกที่สาม ประเทศตะวันตกผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้ ได้นิยามวาทกรรมใหม่ขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนในการเข้ามาจัดการ ควบคุม และครอบงำทั้งวิธีคิดและระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในความคิดของกระผมวิธีการเช่นนี้ เท่ากับเป็นการล่าเหมือนขึ้นในรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้แตกต่างอะไรมากนักกับยุคสมัยอาณานิคม แต่ก็มีข้อแตกต่างอยู่ตรงที่ว่า การเข้ามาของมหาอำนาจตะวันตกไม่ได้ใช้กำลังทางทหารเมื่ออย่างครั้งอดีต แต่เข้ามาในนามผู้ช่วยเหลือ ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา เป็นต้น เช่นเดียวกันในสมัยยุคสงครามเย็นที่มีการทำสงครามทางความคิดระหว่างสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำทางฝ่ายโลกเสรีและสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์ ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีวาทกรรมอย่างมากมายที่ถูกสร้างขึ้น เช่น ทางฝ่ายโลกเสรีก็กล่าวอ้างฝ่ายคอมมิวนิสต์ว่าเป็นคนป่าเถื่อน
ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ยังติดกรอบอยู่กับแนวคิดแบบอาณานิคม ซึ่งจะเห็นได้จากการมองและปฏิบัติต่อผู้คนในประเทศในระดับที่ไม่เท่าเทียมกัน ดังเช่น ในกรณีชนพื้นเมืองทางภาคเหนือหรือผู้คนที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งผู้คนเหล่านี้ ได้ถูกมองและนิยามจากรัฐว่าเป็นชาวเขา เป็นการบ่งบอกถึงความเป็นอื่น ไม่ใช่ชาวเรา ซึ่งการนิยามลักษณะนี้ได้กล่าวเป็นวาทกรรมหลัก และตามมาด้วยวาทกรรมปลีกย่อยๆที่ถูกนิยามออกมา เช่น ชาวแม้วค้ายา กะเหรี่ยงทำลายป่า มุสลิมหัวรุนแรง การนิยามลักษณะนี้เป็นการแยกส่วนอย่างชัดเจนในการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ หรือ อาจจะใช้คำว่า 2 มาตรฐาน ประเด็นดังกล่าวนี้ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ณ ปัจจุบัน ดังเช่น กรณีปัญหากะเหรี่ยงที่แก่งกระจ่าง ที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยาน ขับไล่ เผาบ้าน ทำลายข้าวของ ของชาวกะเหรี่ยง แต่ปรากฏว่าหัวหน้าอุทยานกลับกลายเป็นฮีโร่และได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติ ดังที่อาจารย์ประสิทธ์กล่าวว่า "ในขณะเดียวกันคนไทยที่เข้าบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติที่วังน้ำเขียวอยู่หลายปี เจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้ากระทำการใดๆทั้งสิ้น แต่ปล่อยให้มีการสู้คดีในชั้นศาลก่อน และเมื่อศาลตัดสินคดีว่าต้องรื้อถอน ทางเจ้าหน้าที่อุทยานถึงได้ลงมือปฏิบัติ" ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเด็นในเรื่องของวาทกรรมที่มอง ชาวกะเหรี่ยงเป็นชาวเขา เป็นคนอื่นนั้น ได้เข้าใจให้เห็นว่า คนที่มีอำนาจสามารถอ้างความชอบธรรมต่างๆโดยวิธีการที่ปิดบัง กีดกั้น ความเป็นจริง ดังที่ฟูโก ได้กล่าวว่า "วาทกรรมมีอำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ และขณะเดียวกันก็ปิดกั้น บดบังไม่ให้บางอย่างเกิดขึ้น"
บทความชิ้นนี้อาจสรุปได้ว่า วาทกรรม นั้นเป็นเรื่องที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ปะปนอยู่ในตัว “วาทกรรม” ขึ้นอยู่กับผู้ที่มีอำนาจในการอ้างกล่าวความชอบธรรม ตามเงื่อนไข บริบทหรือกระแสสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บทความชิ้นนี้ผู้เขียนได้พยายามวิเคราะห์เกี่ยวกับวาทกรรมได้อย่างน่าสนใจมากที่สุดในตลอด 3 ตอนที่ผ่านมา เพราะทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการช่วงชิงความเป็นเจ้า ที่ต้องการครอบงำสังคมหรือประเทศ ยกตัวอย่างในประเทศไทย ที่เกิดความขัดแย้งของคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการช่วงชิงในการนำ ซึ่งทำให้เราเห็น ว่าใครเป็นคนที่มีอำนาจ และวิธีการในการพูดเป็นอย่างไรนั่นเองครับ
จบกันไปแล้วสำหรับเรื่องวาทกรรมเบื้องต้นตลอด 3 ตอนที่ผ่านมา ซึ่งผู้เขียนพยายามจะอธิบายให้เข้าใจให้มากที่สุด ซึ่งหลักจากนี้ผู้เขียนจะขอพักเรื่องวาทกรรมไว้ก่อน
แล้วขอสปอยว่าตอนต่อไปเราจะขึ้นในหัวข้อ "รัฐศาสตร์" กันแล้ว เย้ๆๆ รอติดตามกันได้เลยนะครับ
แล้วอย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามกันเยอะๆ นะครับ เจอกันในบทความต่อไปครับ
โฆษณา