Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
บ้า(น)ประวัติศาสตร์ The History Geek
•
ติดตาม
21 ก.ค. 2020 เวลา 08:55 • ประวัติศาสตร์
การรุกรานญี่ปุ่นของจักรวรรดิมองโกล
จากการที่กระแสเกมน้องใหม่อย่าง Ghost of Tsushima ซึ่งพัฒนาโดยค่าย Sucker Punch Productions และจัดจำหน่ายโดยบริษัท Sony Interactive Entertainment บนเครื่อง Playstation 4 กำลังมาแรง โดยที่เนื้อเรื่องของเกมนั้นจะอิงจากประวัติศาสตร์การรุกรานญี่ปุ่นของจักวรรดิมองโกลครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1281 ทำให้ผู้เขียนอยากนำเรื่องราวที่น่าสนใจนี้มาถ่ายทอดให้คุณผู้อ่านได้รู้สึกสนุกและเห็นภาพประวัติศาสตร์ผ่านตัวหนังสือ ซึ่งเรื่องราวต่างๆเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 13 ยุคคามากุระ ซึ่งเป็นยุคที่อำนาจการปกครองประเทศเป็นของโชกุนและเป็นจุดกำเนิดของซามูไรและแนวคิดบูชิโดซึ่งเรื่องราวต่างๆมีดังนี้
ภาพจากเกม Ghost of Tsushima
จุดเริ่มต้นของการรุกรานครั้งที่ 1
หลังจากที่ชาวมองโกลสามารถล้มล้างราชวงศ์ซ่งใต้และสถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้นปกครองแผ่นดีนจีนแล้ว ฮ่องเต้ซื่อจู่หรือกุบไลข่านจึงสถาปนาจักรวรรดิมองโกลขึ้นและขยายดินแดนออกไปไกลถึงจักรวรรดิไบแซนไทน์ โปแลนด์ รัสเซีย อินเดีย อาณาจักรพุกาม อาณาจักรอันนัม และอาณาจักรโครยอ (เกาหลี)
ในปี ค.ศ. 1266 จักรพรรดิกุบไลข่านได้ส่งคณะทูตไปยังญี่ปุ่น โดยมีผู้รับสาส์นคือ โฮโจ โทกิมูเนะผู้สำเร็จราชการแทนโชกุน ได้นำสาส์นนี้ถวายต่อไปยังพระราชวังหลวงในเกียวโต โดยมีใจความว่าฝ่ายมองโกลต้องการสร้างความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นและให้ญี่ปุ่นยอมรับอำนาจของมองโกล แต่ก็ถูกปฏิเสธ ฝ่ายมองโกลไม่ลดความพยายามจึงส่งคณะทูตมาอีกถึงสี่ครั้งในระหว่างปี ค.ศ. 1269 - 1271 ทางราชสำนักเกียวโตได้แนะนำให้โทกิมูเนะรับข้อเสนอของมองโกล แต่โทกิมูเนะยังคงทำเช่นเดิมคือปฏิเสธไมตรีของฝ่ายมองโกลและสั่งให้ขุนนางและเหล่าซามูไรบนเกาะคิวชู เตรียมตัวรับศึกที่อาจเกิดขึ้นได้
และแล้วสงครามก็เกิดขึ้นจริงในปี ค.ศ. 1274 โดยกองทัพผสมระหว่างมองโกล จีนและโครยอกว่า 20,000 นาย พร้อมด้วยเรือรบอีกกว่า 800 ลำ ได้เข้าประชิดอ่าวฮากาตะทางตอนเหนือของเกาะคิวชูและยกพลขึ้นบก แต่ก็ถูกต่อต้านอย่างหนักจากนักรบซามูไรกว่า 10,000 นายที่ เตรียมรับศึกอยู่บนหาด ถึงแม้ว่าซามูไรจะเชี่ยวชาญการศึกแต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่ออาวุธที่ทันสมัยของชาวมองโกลที่ยึดมาจากชาติต่างๆที่ตนได้พิชิตมาแล้ว เช่น ระเบิดเซรามิกและธนูเจาะเกราะ เป็นต้น ทำให้มองโกลได้รับชัยชนะในศึกนี้แต่ด้วยกำลังที่ยังไม่มากพอที่บุกยึดได้ทั้งเกาะจึงต้องรอกำลังเสริมบนหาดนั้น เมื่อถึงเวลารุ่งสางทัพเสริมของมองโกลก็มาถึงแต่ปรากฏว่ามีลมพายุขนาดใหญ่พัดเข้าถล่มบริเวณชาวฝั่งเป็นผลทำให้กองเรือของมองโกลหลายร้อยลำจมลงสู่ทะเล ทหารบางส่วนที่หนีขึ้นหาดได้ก็ถูกซามูไรฆ่าตายไม่ก็ตกเป็นเชลย เหล่าซามูไรที่รอดชีวิตจากศึกครั้งนี้จึงเทิดทูนลมพายุนี้ว่า "คามิกาเซะ" ซึ่งแปลว่า วายุเทพ
ซามูไรกำลังต่อสู้กับนักรบมองโกล
การรุกรานญี่ปุ่นครั้งที่ 2
7 ปีหลังจากความพ่ายแพ้ที่อ่าวฮากาตะ จักรพรรดิกุบไลข่านได้รวบรวมไพร่พลและเรือรบขึ้นอีกครั้ง หมายว่าจะทำให้ญี่ปุ่นยอมรับสิโรราบให้ได้จึงแบ่งกองเรืออกเป็นสองกองคือ กองเรือแรกประกอบด้วยเรือ 900 ลำ พร้อมทั้งไพร่พลอีกประมาณ 40,000 นาย และกองเรือที่สองประกอบด้วยเรือรบ 3,500 ลำ พร้อมไพร่พลราวๆ 100,000 นาย ยกจากจีนทางตอนใต้ โดยแผนนั้นคือให้กองเรือทั้งสองโจมตีประสานกัน แต่กองเรือที่ยกจากจีนนั้นล่าช้า ทำให้กองเรือจากเกาหลีโจมตีก่อนและประสบกับความสูญเสียอย่างหนักที่เกาะสึชิม่า (เนื้อเรื่องในเกมที่กล่าวถึงคือเหตุการณ์ช่วงนี้เลยครับ) จนต้องสั่งถอยทัพ ต่อมาในฤดูร้อนกองเรือจากเกาหลีและจีนก็ได้ทำการโจมตีเกาะอิกิได้สำเร็จและเข้าโจมตีเกาะคิวชู ในการรบที่โคอังหรือศึกครั้งที่สองแห่งหาดฮากาตะ ด้วยการรับมือที่ดีจากทหารญี่ปุ่นซึ่งได้เรียนรู้กลยุทธิ์ของชาวมองโกลในศึกครั้งแรก ทำให้ฝ่ายมองโกลต้องถอยหนีกลับไปที่เรือของพวกเขาจากนั้นพายุไต้ฝุ่นคามิกาเซะก็ได้พัดถล่มชายฝั่งฮากาตะเป็นเวลาถึง 2 วัน กองเรือของฝ่ายมองโกลต้องพบกับความสูญเสียอย่างหนักยิ่งกว่าศึกครั้งแรก ทหารนับแสนนายต้องตายอยู่กลางทะเลมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รอดกลับไปได้ นับจากศึกครั้งนี้ก็ไม่มีการรุกรานใดๆจากจักรวรรดิมองโกลอีกเลย
ภาพวาดพายุคามิกาเซะพัดถล่มกองเรือของจักรวรรดิมองโกลที่อ่าวฮากาตะ
สาเหตุที่ฝ่ายมองโกลพ่ายแพ้นั้นสันนิษฐานว่า มาจากการต่อเรือที่เร่งรีบเกินไปทำให้มีจุดบกพร่องมากมาย ประกอบกับการต่อเรือเพื่ออกทะเลนั้นใช้งบประมาณและค่าบำรุงรักษาที่สูง จึงต่อเรือแบบท้องแบนราบซึ่งใช้ต้นทุนน้อยกว่าเพราะไม่จำเป็นต้องสร้างกระดูกงู จึงทำให้เรือจมได้ง่ายเมื่อเจอพายุที่รุนแรง ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมจักรวรรดิมองโกลถึงไม่มารุกรานญี่ปุ่นอีกเลย ซึ่งจริงๆแล้วจักรพรรดิกุบไลข่านต้องการยกพลอีกเป็นครั้งที่ 3 แต่เหล่าขุนนาง ทหาร และราษฎรคัดค้านอย่างหนัก เนื่องจากสูญเสียทรัพย์สินและไพร่พลไปเป็นจำนวนมากในศึกทั้งสองครั้ง แผนการบุกครั้งที่ 3 จึงต้องล้มเลิกไปในปี 1286
เกร็ดความรู้เล็กน้อยก่อนจากกันไปนะครับ
ผู้อ่านเคยทราบกันหรือไม่ว่าจักรพรรดิกุบไลข่านเคยส่งคณะทูตมายังอาณาจักรสุโขทัยเพื่อถวายพระราชสาส์นอัญเชิญพ่อขุนรามคำแหงเสด็จเข้าเฝ้าจักรพรรดิกุบไลข่านที่พระราชวังในเมืองต้าตู (เมืองปักกิ่งในปัจจุบัน) ถึงสามครั้ง แต่พ่อขุนรามคำแหงทรงมิได้ปฏิบัติตามเพียงแต่ถวายเครื่องราชบรรณการเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นการปฏิเสธด้วยการแสดงน้ำใจไมตรีต่อกันทำให้จักรพรรดิกุบไลข่านไม่คิดรุกรานอาณาจักรสุโขทัยนับแต่นั้นเป็นต้นมา
22 บันทึก
60
18
8
22
60
18
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย