23 ก.ค. 2020 เวลา 12:16 • ประวัติศาสตร์
“วลาดิเมียร์ ปูติน” Ep.2 ชายผู้อยู่ในเงามืด
“คนที่จะมีอำนาจใหญ่โตในอนาคต ส่วนใหญ่ก็เริ่มด้วยชีวิตของการเป็นสายลับกันทั้งนั้น ซึ่งผมและคุณก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น” เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ กล่าวกับ วลาดิเมียร์ ปูติน
ทุกท่านครับ นี่คือเรื่องราวภาคต่อของชายผู้ในตอนนี้เป็นอดีตสายลับแห่ง KGB
พร้อมกับเรื่องราวของประเทศมหาอำนาจที่ล่มสลายลงไปอย่าง “สหภาพโซเวียต”
เรื่องราวความวุ่นวายจากการล่มสลายและก่อกำเนิดขึ้นใหม่ในชื่อของ “รัสเซีย”
ความอ่อนแอของประเทศที่เคยยิ่งใหญ่...
1
รัสเซียภายใต้ทุนนิยมของบอริส เยลต์ซิน...
กำเนิดกลุ่มโอลิกา (Oligarch)...
การก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนเชชเนีย...
การเข้าสู่เส้นทางการเมืองของอดีตสายลับ...
1
และนี่ คือเรื่องราว “วลาดิเมียร์ ปูติน” Ep.2 ชายผู้อยู่ในเงามืด
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ภาพจาก New Statements
อย่างที่ผมเคยได้เล่าไปแล้วใน Ep.ก่อน มิคาอิล กอร์บาชอฟ นั้นได้ขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโซเวียตให้หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงได้ใช้นโยบายกลาสนอสต์และเปเรทรอยก้า
แต่ทว่า เปเรสทรอยก้า ที่เป็นการฏิรูปเศรษฐกิจก็ไม่สามารถพยุงเศรษฐกิจของโซเวียตให้ดีขึ้นได้ ตรงกันข้ามกับกลาสนอสต์ ที่เป็นการปฏิรูปการเมืองกลับสำเร็จ
เมื่อเศรษฐกิจแย่แต่การเมืองกลับเปิดเสรีมากขึ้น ประชาชนก็พากันออกมาด่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์ อีกทั้งก็เกิดแนวคิดชาตินิยมในประเทศบริวาร ที่ต่างคิดว่า “รัฐบาลโซเวียตบริหารห่วยแตกขนาดนี้ ตูขอแยกตัวไปบริหารเองยังจะดีกว่า!”
ภายในโซเวียตเอง ประชาชนก็พากันประท้วงรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน
ความล้มเหลวและความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้ความนิยมกอร์บาชอฟดิ่งลงเหว จนเกิดความแตกแยกในพรรคคอมมิวนิสต์เอง
1
และใน ค.ศ.1991 เกนเนดี ยาเนเยฟ ได้พยายามนำกองกำลังเข้ายึดอำนาจกอร์บาชอฟ เพื่อรักษาความสงบของประเทศ มีการประกาศห้ามเดินขบวน ห้ามนัดหยุดงานและชุมนุมประท้วง
2
แต่ทว่า บอริส เยลต์ซินที่เป็นผู้มีอำนาจในรัฐบาลของกอร์บาชอฟ หนีออกมาได้ แล้วทำการต่อต้านการยึดอำนาจ ปลุกระดมประชาชนให้ประท้วงใหม่ พร้อมให้มีการนัดหยุดงาน
1
จากการต่อต้านการยึดอำนาจนี่แหละครับ ทำให้เยลต์ซินกลายเป็นขวัญใจมหาชนไปอย่างรวดเร็ว และจากการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของแรงงาน ทำให้ระบอบคอมมิวนิสต์ในโซเวียตพังทลายลง ดังนั้นการยึดอำนาจของเกนเนดี ยาเนเยฟก็ล้มเหลวไปในที่สุด!
2
เมื่อระบอบคอมมิวนิสต์ในโซเวียตเริ่มพังทลาย เหล่าประเทศบริวารก็ปฏิวัติแยกตัวกันออกไปทีละประเทศ
เมื่อสถานการณ์เลยเถิดไปถึงขนาดนี้ กอร์บาชอฟก็ตัดสินใจลาออกและยุบพรรคคอมมิวนิสต์
และถือเป็นจุดจบของสหภาพโซเวียต
ขั้วอำนาจที่เคยยิ่งใหญ่เคียงคู่กับสหรัฐอเมริกามากว่า 40 ปี
ภาพจาก BBC (มิคาอิล กอร์บาชอฟ)
ภาพจาก The Times (บอริส เยลต์ซิน)
เมื่อโซเวียตล่มสลายจากการยุบพรรคคอมมิวนิสต์และการแยกตัวของประเทศบริวาร
ดินแดนแห่งนี้ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นใหม่ในนาม “รัสเซีย” และแน่นอนครับว่าบอริส เยลต์ซินที่เป็นทั้งฮีไร่และขวัญใจมหาชนในช่วงความวุ่นวาย ก็ได้ถูกเลือกให้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรก
เยลต์ซินได้เห็นความล้มเหลวของระบอบคอมมิวนิสต์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง จึงทำการเปลี่ยนรัสเซียให้ขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมอย่างเต็มสูบ! พร้อมกับเข้าสู่การเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย
รัสเซียภายใต้ทุนนิยมนี่แหละครับ ก็ทำให้เกิดกลุ่มที่เรียกว่า “โอลิกา (Oligarch)”
โดยโอลิกาที่ว่า คือ กลุ่มนักธุรกิจรัสเซียที่เกิดรวยมหาศาลขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากการกอบโกยและแปรรูปทรัพย์สินของรัฐในช่วงที่โซเวียตล่มสลาย
กลุ่มโอลิกาจึงจัดเป็นพวกที่กระเป๋าหนัก จนกลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงมากในการเมืองของรัสเซีย
โอลิกาอยู่เบื้องหลังการเมือง...
โอลิกามีการล๊อบบี้นักการเมือง หรือกระทั่งเข้าไปเล่นการเมืองซะเอง...
โอลิกาที่มีทุนหนาก็จ่ายเงินสนับสนุนนักการเมืองเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้ตัวเอง...
โดยโอลิกามีหัวหอกสำคัญในการสร้างอิทธิพลทางการเมืองในรัสเซีย คือ ชายที่ชื่อว่า บอริส บีรีซอฟสกี้
ดังนั้น รัสเซียภายใต้ทุนนิยมของเยลต์ซิน จึงเกิดความไม่โปร่งใส มีการคอร์รัปชั่นกันกระจาย จากการเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มโอลิกาและบอริส บีรีซอฟสกี้นี่แหละครับ
อีกทั้งในยุคของเยลต์ซิน ยังมีปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเกิดสงครามแบ่งแยกดินแดนเชชเนีย
เชชเนีย ก็เป็นอีกดินแดนที่เมื่อโซเวียตล่มสลาย ก็ปราถนาที่จะปลดแอกตัวเอง จึงทำการปฏิวัติต่อต้านเพื่อแบ่งแยกดินแดนโดยได้รับการสนับสนุนจากตะวันออกกลาง (ประชากรเชชเนียส่วนใหญ่เป็นมุสลิม นิกายซุนหนี่)
แต่เผอิญว่า เชชเนียเป็นดินแดนที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมาก แต่กลับมีน้ำมันมหาศาล!
รัฐบาลเยลต์ซินและกลุ่มโอลิกา มีหรือจะยอมปล่อยขุมทรัพย์มหาศาลที่อยู่ตรงหน้าให้หลุดลอยไป ดังนั้น ใน ค.ศ.1994 รัฐบาลรัสเซียก็ส่งกองทัพเต็มรูปแบบ พร้อมทหาร 40,000 คน เข้าไปถล่มพวกที่จะแบ่งแยกดินแดน เกิดเป็นสงครามเชชเนียครั้งที่ 1 ขึ้นนั่นเองครับ
จากสงครามเชชเนียนี่แหละครับ ทำให้รัสเซียต้องเสียทั้งเงินทั้งคนไปมหาศาล แต่ก็ยังไม่สามารถปราบพวกกบฏได้อย่างราบคาบ อีกทั้งยังเป็นฝ่ายเสียเปรียบอีกต่างหาก! เพราะทางนั้นเล่นสงครามแบบกองโจร
อีกทั้งความเป็นอยู่ของชาวรัสเซียก็ไม่ได้ดีขึ้นกว่าตอนเป็นโซเวียตซักเท่าไหร่ (เผลอๆแย่กว่าตอนเป็นโซเวียตซะอีก)
การคอร์รัปชั่น...
สงครามต่อต้านกบฎ...
และการไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากการล่มสลายของโซเวียตได้...
ทั้งหมดนี้ คือสภาพและปัญหาที่เกิดขึ้นในรัสเซียภายใต้ยุคของเยลต์ซิน...
ซึ่งในอนาคตจะมีชายคนหนึ่งขึ้นมากอบกู้และแก้ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้...
ชายที่ตอนนั้นแทบจะไม่มีใครรู้จัก...
เพราะเขาอยู่ในเงามืดมาโดยตลอด...
ภาพจาก The New York Times (บอริส บีรีซอฟสกี้)
ภาพจาก The New York Times (สงครามเชชเนีย)
เอาล่ะครับ เมื่อเราเข้าใจถึงสภาพของรัสเซียหลังการล่มสลายของโซเวียตแล้ว เรากลับมาที่เรื่องราวของพระเอกในเรื่องนี้กันดีกว่า นั่นคือ “วลาดิเมียร์ ปูติน” หรือ “โววา”
หลังจากที่โซเวียตล่มสลาย โววาก็ได้กลับมาที่รัสเซีย ซึ่งในตอนนั้น KGB ยังคงอยู่ แต่เรียกได้ว่าเป็นองค์กรที่ไร้ประโยชน์ แทบไม่มีใครต้องการอีกแล้ว
1
โดยส่วนตัวนั้นโววาอยากจะลาออก แต่ติดที่ว่าถ้าออกแล้วลูกเมียจะเอาอะไรกิน! จึงต้องจำใจทำงานที่ไม่มีเกียรตินี้ต่อไป
โววาได้หาทางสำรองเผื่อไว้ โดยการไปทำงานที่มหาวิทยาลัยเลนินกราด พร้อมกับเรียนต่อ ป.เอกไปด้วย
2
และจากการทำงานที่มหาวิทยาลัยเลนินกราด ทำให้โววาก็ได้พบกับอนาโตลี ซับชาค ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงมากในเลนินกราด
2
โดยเพื่อนของโววาได้แนะนำให้โววาไปเป็นผู้ช่วยของซับชาค โววาจึงได้เข้าไปคุยกับซับชาคเพื่อขอเป็นผู้ช่วย ปรากฏว่า ซับชาครับโววาเข้าทำงานโดยไม่ติดว่าตัวของโววายังเป็นเจ้าหน้าที่ KGB อยู่ และเมื่อเข้าทำงานกับซับชาค โววาก็ลาออกจาก KGB ซึ่งถูกยุบหลังจากนั้นไม่นาน
2
จากประสบการณ์ที่โชกโชนใน KGB ทำให้งานที่ทำกับซับซาค ถือว่าเป็นเรื่องกล้วยๆไปเลยสำหรับโววา ซับชาคจึงเริ่มไว้ใจและเชื่อใจโววามากขึ้นเรื่อยๆ (เพราะความซื่อสัตย์ของโววาด้วย)
2
แล้วในที่สุด ซับชาคก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีของเลนินกราด (ซึ่งในตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแล้ว)
ความก้าวหน้าของซับซาค ก็คือความก้าวหน้าของโววา ซับชาคแต่งตั้งให้โววาเป็นรองนายกเทศมนตรี ฝ่ายการต่างประเทศ
7
ซับชาคและโววาได้ทำการเปลี่ยนเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กให้กลายเป็นมหานครแห่งยุโรปเหนือเลยล่ะครับ! มีการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้การค้าในเมืองดีขึ้นผิดหูผิดตา
1
ทั้งสองคนได้สร้างเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กให้เป็นเมืองที่ทันสมัยอย่างแท้จริง
1
แต่ทว่า โววาก็ได้ทำสิ่งที่ผิดพลาดอย่างหนึ่ง และข้อผิดพลาดนี้นำมาสู่จุดจบของอนาโตลี ซับชาค...
ภาพจาก greatcharlie (วลาดิเมียร์ ปูติน และอนาโตลี ซับชาค)
ความผิดพลาดที่ว่า คือ โววาได้พยายามเข้าไปจัดระเบียบธุรกิจการพนัน ซึ่งธุรกิจนี้ผู้มีอิทธิพลควบคุมอยู่ โววาคิดที่จะทำลายกลุ่มอิทธิพลและให้ประชาชนเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้ผลประโยชน์จากธุรกิจนี้ด้วย
แต่โววาประเมินผู้มีอิทธิพลต่ำเกินไป! เพราะเมื่อโววาได้ส่งเจ้าหน้าที่ให้ไปจัดการดูแล ผู้มีอิทธิพลก็ทำการซื้อตัวเจ้าหน้าที่เหล่านั้นไป ทำให้ทั้งโววาและซับชาคต่างโดนเหมารวมไปด้วยว่าอยู่ใต้ผู้มีอิทธิพลเพราะอำนาจเงิน
1
ฝ่ายตรงข้ามซับชาคก็ทำการโจมตีอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน! ว่าซับชาคมีการก่อตั้งบ่อนและยักยอกเงินปันผลเข้าคลังเทศบาล จนในที่สุด ซับชาคก็แพ้การเลือกตั้งในสมัยที่ 2 พร้อมชื่อเสียงที่ถูกทำลายอย่างป่นปี้! ส่งผลให้โววาต้องตกงานตามไปด้วย
โววาต้องว่างงานอยู่หลายเดือนเลยล่ะครับ เขากลายเป็นคนที่ล้มเหลวในชีวิต เคราะห์ซ้ำกรรมซ้อนบ้านและรถก็ถูกไฟไหม้อีกต่างหาก! โววาจึงจำเป็นต้องหางานอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะไม่มีอะไรกิน...
5
แต่ด้วยชื่อเสียงและความสามารถที่เคยทำให้กับเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ก็ได้มีการติดต่อมาจากปาเวล บาโลดิน เพื่อทาบทามให้โววาเข้าไปทำงานในสำนักประธานาธิบดีของบอริส เยลต์ซิน
1
และนี่ คือจุดเริ่มต้นในการก้าวเข้าสู่การเมืองระดับประเทศของโววา
2
งานใหม่ที่โววาได้รับก็คือเป็นพนักงานบริหารกฎหมายและสินทรัพย์ของประเทศ ซึ่งทำไปได้ไม่กี่ปี โววาก็ไต่เต้าจนขึ้นไปเป็นหัวหน้า
1
และเมื่อสถานการณ์ในรัสเซียเริ่มวุ่นวายจากสงครามเชชเนีย บอริส เยลต์ซิน จึงได้ตั้งหน่วยข่าวกรองลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า FSB
1
แต่ติดอยู่ตรงที่ว่า เยลต์ซิน ต้องการผู้ที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้อย่างโชกโชน มีความฉลาด และซื่อสัตย์เพื่อมาเป็นผู้นำองค์กร
1
แล้วหวยก็มาล็อกที่โววานั่นเองครับ...
1
ภาพจาก The Moscow Times (บอริส เยลต์ซิน และวลาดิเมียร์ ปูติน)
เยลต์ซินได้แต่งตั้วโววาให้เป็นหัวหน้าองค์กร FSB โดยไม่ได้ถามหรือบอกโววาก่อนซักนิด! (แสดงให้เห็นว่าเยลต์ซินไว้ใจโววามาก)
1
ซึ่งโววาก็ไม่ค่อยพอใจซักเท่าไหร่ครับ พร้อมพูดว่า “การทำงานในหน่วยสืบราชการลับเป็นงานหนัก เพราะใช้ชีวิตโดยการรักษาความลับ ซึ่งผมลาออกจาก KGB มาตั้งนานแล้ว ทำให้คุ้นเคยกับชีวิตที่หลากหลายและน่าสนใจมากกว่าการเป็นสายลับ”
แต่โววาก็ได้เพียงแค่บ่นอุบอิบเท่านั้น เพราะเมื่อนายสั่ง ก็ต้องทำ!
แล้วอาชีพในฝันตอนเด็กของโววาก็กลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้มาในรูปแบบของการเป็นหัวหน้าองค์กรเลยทีเดียว
1
เมื่อเป็นหัวหน้า โววานั้นทำหน้าที่ได้ดีเช่นเคย FSB ของโววานั้นไม่เดินตามรอย KGB แต่โววาได้ปรับระเบียบองค์กรขึ้นมาใหม่ อีกทั้งยังวางฐานอำนาจของตัวเองเอาไว้ในองค์กร โดยการแต่งตั้งคนที่ไว้ใจให้เข้ามาทำงาน
1
และ FSB จะเป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยมของโววาในช่วงที่เป็นผู้นำรัสเซียในอนาคต...
1
อีกทั้ง โววาเป็นผู้ที่มาช่วยเยลต์ซินแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของรัสเซีย เรียกได้ว่าทำงานหนักจนหลังแอ่น โดยไม่ปริปากบ่นซักคำ
1
จุดนี้จึงทำให้เยลต์ซินยิ่งไว้ใจโววามากขึ้น
ทำให้อำนาจของโววาไม่ใช่เพียงอยู่ใน FSB เท่านั้น แต่อำนาจของโววาเริ่มคลอบคลุมไปถึงคณะรัฐบาลของเยลต์ซิน
1
ความเก่งกาจ...
ความเงียบเชียบ...
ความขยัน...
และความซื่อสัตย์...
คุณสมบัติเหล่านี้ของโววาก็ไปถูกใจบอริส บีรีซอฟสกี้และกลุ่มโอลิกาเข้าอย่างจัง
โอลิกาจึงตั้งเป้าไว้อย่างแน่วแน่ว่า “หมอนี่แหละทายาททางการเมืองคนต่อไปของเยลต์ซิน!”
ภาพจาก Voice of America (ทายาททางการเมืองของบอริส เยลต์ซิน)
ทำไมเยลต์ซินถึงต้องเลือกทายาททางการเมืองของตัวเอง?
นั่นก็เพราะว่าเยลต์ซินคิดว่าตัวเองแก่แล้ว อีกทั้งยังป่วยหนัก ไม่รู้ว่าจะตายวันตายพรุ่ง ดังนั้นเยลต์ซินและกลุ่มโอลิกาต้องรีบเลือกทายาททางการเมืองที่เหมาะสมขึ้นมา
เยลต์ซินก็คิดว่า “ต้องเลือกคนที่จะทำให้ตัวของเยลต์ซินลงจากตำแหน่งได้อย่างปลอดภัย”
กลุ่มโอลิกาก็คิดว่า “ต้องเลือกคนที่เชื่อฟังและอยู่ใต้อิทธิพลของโอลิกา”
แล้วโววาที่อยู่ดีๆก็โผล่มา แถมมีคุณสมบัติครบถ้วนตรงกับความต้องการของเยลต์ซินและโอลิกาได้แบบพอดิบพอดี! กลุ่มโอลิกาจึงทำการดันโววาอย่างสุดตัว
1
จนในที่สุดเยลต์ซินก็ได้แต่งตั้งให้โววาเป็นนายกรัฐมนตรี!
และเรื่องนี้ได้สร้างความตกใจให้กับคณะรัฐบาล สภาดูมา รวมถึงประชาชนรัสเซียไปทั่วประเทศ ทั้งยังพร้อมใจกันตั้งคำถามว่า
1
“ไอ้คนที่เยลต์ซินเลือกให้เป็นนายกนี่มันเป็นใคร?”
1
หรือ “ใครคือปูติน?”
2
หรือ “นี่จะเป็นทายาททางการเมืองของเยลต์ซินหรือเปล่า?”
ประชาชนต่างงงกันไปเป็นแถวเพราะไม่รู้จักเลยว่าโววาเป็นใคร ทำไมอยู่ดีๆถึงได้เป็นนายก หรือพูดไปในทำนองว่า “หมอนี่คงเป็นหุ่นเชิดของพวกโอลิกาอีกคนล่ะสิ”
1
ทางด้านโววาก็ออกมาพูด “เป็นการตัดสินใจของประธานาธิบดี ผมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง และเยลต์ซินไม่เคยพูดว่าผมเป็นทายาททางการเมือง เขาพูดเพียงว่าผมเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอนาคต ซึ่งถ้าทุกอย่างไปได้ด้วยดี ผมก็คงจะมีโอกาสนั้น”
2
จากการพูดและลักษณะนิสัยแบบ “ดีครับนาย สบายครับผม เหมาะสมครับท่าน” ของโววา ทำให้บีรีซอฟสกี้และกลุ่มโอลิกาคิดว่า “หมอนี่มันไก่อ่อนจริงจริ๊ง! ควบคุมได้ง่ายๆอยู่แล้ว”
2
แต่ทว่าการตัดสินใจเลือกโววาเป็นหุ่นเชิดครั้งนี้ กลับทำให้บีรีซอฟสกี้และกลุ่มโอลิกาจดจำไปจนวันตาย! ว่าพวกเขาได้ทำผิดพลาดอย่างมหันต์
4
พวกเขาโดนเมฆหมอกจากความมืดบดบังการมองเห็นชายคนนี้อย่างชัดเจน...
พวกเขาเห็นชายคนนี้เป็นเพียงสุนัขที่ซื่อสัตย์ ควบคุมได้ง่าย...
จึงทำให้พวกเขาประเมินชายที่ชื่อ “วลาดิเมียร์ ปูติน” ต่ำจนเกินไป...
และทำให้มองไม่เห็นถึงธาตุแท้ของชายคนนี้...
ชายผู้อยู่ในเงามืดมาโดยตลอด
ภาพจาก History
ใน Ep. ต่อไป ผมจะนำพาทุกท่านไปพบกับเรื่องราวการขึ้นเป็นผู้นำของวลาดิเมียร์ ปูติน...
เรื่องราวการไม่ยอมเป็นเบี้ยล่างหรือหุ่นเชิดของผู้มีอิทธิพลใดๆ...
เรื่องราวการกำจัดกลุ่มโอลิกา...
เรื่องราวการจัดการกลุ่มกบฎในเชชเนียอย่างเด็ดขาด...
เรื่องราวการตัดสินใจอย่างเลือดเย็นในการสยบผู้ก่อการร้าย...
เรื่องราวการกำจัดคู่แข่งทางการเมืองอย่างไร้ปรานี...
และเรื่องราวการสร้างรัสเซียให้ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกอีกครั้ง...
ใน Ep.3 ขาวและดำ
ภาพจาก Fair Observer
อ้างอิง
Gessen, Masha. The Man Without a Face: The Unlikely Rise of Vladimir Putin, Riverhead Books, 2013.
Putin, Vladimir. First Person: An Astonishingly Frank Self-Portrait by Russia's President, 2000.
University Press. Vladimir Putin : The Biography, University Press 2019.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา