Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MarketThink
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
22 ก.ค. 2020 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
รู้จัก CPRAM ผู้ผลิตข้าวกล่องใน 7-Eleven และเจ้าของ เลอแปง
7-Eleven เจ้าแห่งร้านสะดวกซื้อของเมืองไทย โดยมีสาขาอยู่ประมาณ 12,000 สาขาทั่วประเทศ
โดยผู้ได้รับสิทธิบริหารแฟรนไชส์ 7-Eleven ในบ้านเราคือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL
ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยมูลค่าบริษัทกว่า 600,000 ล้านบาท
2
ในแต่ละวันจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่ร้าน 7-Eleven เฉลี่ยวันละ 1,122 คนต่อสาขา
ซึ่งลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่แวะเข้ามาภายในร้าน ก็เพื่อต้องการหยิบซื้อ
ข้าวกล่องสำเร็จรูปแช่เย็น แบรนด์ 7-FRESH และ EZYGO
รวมถึง ขนมปัง-เบเกอรี่ แบรนด์ “เลอแปง” มารับประทานกัน
ทั้งนี้ ผู้ผลิตข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven และเจ้าของแบรนด์เลอแปง คือ
บริษัท ซีพีแรม จํากัด หรือ CPRAM
CPRAM เป็นบริษัทลูกของ CPALL ซึ่งถือหุ้นอยู่ 99.99%
โดย CPALL ได้ก่อตั้งบริษัท ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด จำกัด ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531
เพื่อดำเนินการผลิตอาหารแช่แข็ง-แช่เย็นพร้อมรับประทาน ป้อนเข้า 7-Eleven โดยเฉพาะ
รวมไปถึงการช่วยผลักดัน และรองรับการขยายตัวของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในอนาคต
ก่อนบริษัทจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีพีแรม จํากัด หรือ CPRAM ในปี พ.ศ. 2556
โดยปัจจุบัน บริษัทดำเนินการผลิตและจำหน่ายทั้ง ขนมจีบ, ซาลาเปา, ไส้กรอก, แฮมเบอร์เกอร์, ข้าวกล่อง, ขนมปัง, เบเกอรี่ และเค้ก
แล้วรายได้ของ CPRAM มากขนาดไหน ?
จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
บริษัท ซีพีแรม จำกัด
ปี 2560 มีรายได้ 16,416 ล้านบาท กำไร 619 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 18,199 ล้านบาท กำไร 526 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 20,061 ล้านบาท กำไร 606 ล้านบาท
คิดเป็นอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ย 10.6% ต่อปี
โดย CPRAM มีสัดส่วนรายได้จากอาหารแช่แข็ง-แช่เย็น ประมาณ 60%
และรายได้จากเบเกอรี่ ประมาณ 40%
แล้วธุรกิจของ CPRAM สำคัญกับร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven แค่ไหน ?
1
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นับเฉพาะธุรกิจของ 7-Eleven
ปี 2562 มีรายได้ 361,034 ล้านบาท กำไร 20,180 ล้านบาท
1
ถ้าเทียบแล้วง่ายๆ ในปีล่าสุด
รายได้ของ CPRAM จะคิดเป็นเพียง 5.6%
และมีกำไร คิดเป็น 3.0% ของธุรกิจ 7-Eleven
อย่างไรก็ตาม ถึงธุรกิจของ CPRAM จะมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดของร้าน 7-Eleven
แต่ทาง CPALL ก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้อย่างมาก
เพราะมองว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาหมุนเวียนใช้บริการที่ร้าน 7-Eleven บ่อยๆ
ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ทางอ้อม จากการที่ลูกค้ามีโอกาสเห็นสินค้าอื่นๆ ผ่านตา ตอนแวะเข้ามาที่ร้าน และหยิบติดไม้ติดมือไปด้วย
และ CPALL ก็ได้ประกาศกลยุทธ์ชัดเจนว่าจะทำให้ 7-Eleven เป็น “ร้านอิ่มสะดวกซื้อ”
ตามสโลแกน ‘หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา …7-Eleven’
ซึ่งช่วงที่ผ่านมา กลยุทธ์นี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก
เพราะตอบโจทย์สังคมยุคใหม่ ที่ผู้คนมีพฤติกรรมเร่งรีบ และต้องการความสะดวกสบายกันมากขึ้น
เช่น พนักงานออฟฟิศ หรือนักศึกษา
ที่แวะซื้อข้าวกล่อง 7-Eleven หรืออาหารแช่แข็งอื่นๆ
ระหว่างทางไปทำงาน ไปเรียน และกลับที่พัก
1
หรือซื้อตุนเก็บเอาไว้ที่ห้อง
เพราะจะได้ไม่ต้องออกไปไหน เวลาหิวก็สามารถเอาอาหารมาอุ่นไมโครเวฟทานได้ทันที
ด้วยความสะดวก และง่ายนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค
เลยทำให้ธุรกิจของ CPRAM และ 7-Eleven เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเงาของสังคมเมือง
แต่.. ทุกธุรกิจย่อมมีอุปสรรค ไม่เว้นแต่ CPRAM
1
การเกิดขึ้นและบูมของแพลตฟอร์ม “ฟู้ด ดิลิเวอรี” อย่างเช่น Grab และ LINE MAN
ได้กลายเป็นคู่แข่งธุรกิจรายสำคัญ และเป็นตัวแปรที่คาดไม่ถึง จนอาจทำให้การเติบโตของ CPRAM สะดุดลง..
1
เมื่อผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
สามารถเข้าถึงร้านอาหารรายใหญ่ รายย่อย ได้ตามต้องการ เพียงแค่สไลด์หน้าจอ
และเลือกอาหารจากเมนูอันหลากหลาย
จากนั้นรออาหารอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องออกไปไหน
ง่ายไม่แพ้การหยิบข้าวกล่องเข้าเครื่องไมโครเวฟ
และ “สะดวก” กว่าการแวะไปซื้ออาหารที่ “ร้านสะดวกซื้อ”
ที่สำคัญอาหารยังมีความ “สดใหม่” กว่าอีกด้วย
ซึ่งผู้บริโภคจำนวนหนึ่ง จากเดิมที่มีพฤติกรรมทานอาหารเวฟจากร้าน 7-Eleven บ่อยๆ ก็หันมาสั่งอาหารจากแอปแทน เพราะมองว่าคุ้มค่า และตอบโจทย์มากกว่า
แต่ก็ใช่ว่าทาง CPRAM และ 7-Eleven จะยอมอยู่เฉยๆ ให้ตัวเองถูกดิสรัปอยู่ฝ่ายเดียว
อย่างเมื่อไม่นานมานี้ 7-Eleven ก็เปิดให้บริการดิลิเวอรี และแอป 7-Delivery เพื่ออำนวยความสะดวกผู้บริโภค และโต้กลับการรุกรานจากบรรดาแอปฟู้ด ดิลิเวอรี
ศึกครั้งนี้ ก็น่าติดตามว่า กลยุทธ์ใหม่ของ 7-Eleven จะสามารถต้านทานความร้อนแรงของแพลตฟอร์มดิลิเวอรีจากต่างชาติ
และยังคงรักษาการเติบโตของธุรกิจ CPRAM ต่อไปในอนาคตได้หรือไม่
โลกของธุรกิจก็เป็นแบบนี้ แม้แต่ยักษ์ใหญ่ ที่เคยเป็นเสือนอนกินมาเกือบตลอด
ก็ต้องปรับตัว ตาม “พฤติกรรม” และ “ความคาดหวัง” ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
แต่ต้องบอกไว้ว่า
ไม่ใช่แค่ CPRAM และ 7-Eleven ที่ต้องลำบากกับการปรับตัว
แต่พนักงาน 7-Eleven เอง ที่ต้องทำงานสารพัดอย่าง ก็คงเหนื่อยไม่แพ้กัน
อ้างอิง :
1Q20_Presentation_CPALL
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
http://www.cpram.co.th/th/about-history.php#nogo
73 บันทึก
212
15
106
73
212
15
106
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย