25 ก.ค. 2020 เวลา 04:22 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รัฐบาลยังเหลือกระสุนอีกเท่าใด ในการพยุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ผลของการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักลง ถึงแม้ว่าปัญหาด้านสาธารณสุขจะคลี่คลายลงไป แต่ปัญหาเศรษกิจยังตกอยู่ในขั้นวิกฤต ประชาชนทั่วไป เกษตรกร ผู้ประกอบการทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ผู้ส่งออกและนำเข้า ต่างได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า
1
รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก. เงินกู้ จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท ในการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยเงินกู้จำนวนดังกล่าว แบ่งเออกป็น 3 ส่วน พอจะสรุปได้ดังนี้
ส่วนที่ 1 รัฐบาลกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท สำหรับเยียวยาเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ช่วยเหลือเกษตรกร ดูแลประชาชนและด้านสาธารณสุข พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งในชุมชน
ส่วนที่ 2 แบงค์ชาติออก Soft Loan 5 แสนล้านบาท ในการช่วยเหลือสินเชื้อและพักชชำระหนี้แก่ผู้ประกอบการ SMEs
ส่วนที่ 3 แบงค์ชาติซื้อหุ้นกู้เอกชนจำนวน 4 แสนล้านบาท ในการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน
รัฐบาลยังเหลือกระสุนอีกเท่าใด ในการพยุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ก่อนอื่นมาดูสัดส่วนของ หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ก่อน จากข้อมูลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เมื่อเดือน พฤษภาคม 63 หนี้สาธารณะของไทยมีค่าประมาณ 7.34 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 44 % ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดโควิดที่อยู่ประมาณ 41% สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี 44% ยังเป็นตัวเลขที่ไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ที่ 60% ในระยะสั้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังไม่น่าเป็นห่วงนัก อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวล คือ ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จีดีพีและรายได้ของรัฐบาลมีแต่ลดลง ขณะที่หนี้ของรัฐบาลหรือหนี้สาธารณะกลับมีแต่เพิ่มขึ้น
รัฐบาลมีรายได้น้อยลง แต่กลับมีรายจ่ายมากขึ้น
รายได้หลักของรัฐบาล คือ รายได้จากการเก็บภาษี ผลจากโควิด ทำให้คนขายของได้น้อยลง ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ได้ลดลง นอกจากนั้นจากการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว มีคนวัยทำงานน้อยลง แต่มีคนสูงอายุมากขึ้น ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้น้อยลง แต่กลับมีรายจ่ายงบสวัสดิการช่วยเหลือผู้สูงอายุมากขึ้น
เครดิตภาพ จาก The Momentum
ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมา
การทีประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ผลของการแพร่ระบาดโควิดทำให้ ห่วงโซ่อุปทานจากจีนหยุดชะงัก อุตสาหกรรมการผลิตของไทย ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ต่างต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าจากจีน จึงทำให้การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ได้รับผลกระทบตามมาด้วย ขณะที่การท่องเที่ยวพี่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ทำให้ธุรกิจในภาคท่องเที่ยวและบริการ ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมา ขณะที่กำลังซื้อของคนในประเทศลดลง ประชาชนบางส่วนขาดรายได้จากการโดนลดชั่วโมงทำงาน หรือ ถูกเลิกจ้าง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการก็บเงินสดไว้กับตัว ใช้จ่ายเฉพาะของที่จำเป็น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SME มากนัก เนื่องจากกลัวปัญหาหนี้เสีย หรือ NPL ตามมา
การปฎิรูปการเก็บภาษี และการใช้จ่ายต้องมีประสิทธิภาพ
ในปีที่ผ่านมา การใช้จ่ายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่าง มาตรการ “ชิม ชอบ ใช้” เป็นมาตรการที่ล้มเหลว ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการนำเงินที่ได้ ไปซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน คนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงมาก ประมาณ 80% ของจีดีพี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนเคยใช้จ่ายซื้อสินค้าเดือนละ 2,000 บาท ถ้าเขาได้เงิน 1,000 บาท จากรัฐบาล ครัวเรือนยังคงใช้จ่าย 2,000 บาทเหมือนเดิม โดยใช้เงินตัวเอง 1,000 บวกเงินจากรัฐบาล อีก 1,000 บาท ดังนั้น มาตรการแจกเงิน อย่างชิม ชอบ ใช้ จึงเป็นนโยบายที่เกาไม่ถูกที่คัน ไม่สามารถกระตุ้นเศรษกิจได้ตามที่คาดไว้
ขณะที่การหารายได้จากการเก็บภาษีต้องปรับให้สอดคล้องกับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เช่น การเก็บภาษีสินค้าดิจิทัลจากบริษัทข้ามชาติ อาทิ Netflix Facebook Google ซึ่งบริษัทต่างชาติเหล่านี้พยายามหลีกเลี่ยงภาษี และทั้งหมดนี้ คือ ความท้าทายของรัฐบาลในการใช้จ่ายให้คุ้มค่าที่สุด และปฏิรูปการหารายได้จากการเก็บภาษีในการพยุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติโควิดต่อไป
1
โฆษณา