1 ส.ค. 2020 เวลา 23:00
#ร่างกาย และ จิตใจ ในภาวะใกล้ตาย
...อาจารย์สุมาลี เป็นอาจารย์แพทย์ศิริราชที่มีความสามารถและมีความรู้สูงมาก น่าเสียดายอายุสั้น...อาจารย์เสียชีวิตไปหลายปีแล้วอย่างสงบจริง ๆ ตอนจากไป อาจารย์ยังได้เป็นตัวอย่างและสอนเรื่องสุดท้ายเพื่อเป็นวิธีจากโลกไปอย่างสงบ..
" ร่างกาย และ จิตใจ ในภาวะใกล้ตาย
-ความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย
เมื่อใกล้ตาย ความอ่อนเพลียเป็นสิ่งที่ควรยอมรับ ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆสำหรับความอ่อนเพลียที่เกิดขึ้น เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ควรให้ผู้ป่วยในระยะนี้ได้พักผ่อนให้เต็มที่
คนใกล้ตายจะเบื่ออาหาร และกินอาหารน้อยลง จากการศึกษาพบว่า ความเบื่ออาหารที่เกิดขึ้นเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะ
ทำให้มีสารคีโตนในร่างกายเพิ่มขึ้น สารคีโตนจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้นและบรรเทาอาการเจ็บปวดได้
คนใกล้ตาย จะดื่มน้ำน้อยลงหรืองดดื่มเลย ภาวะขาดน้ำที่เกิดขึ้นเมื่อใกล้ตายไม่ทำให้ผู้ป่วยทรมานมากขึ้น ตรงกันข้ามกลับกระตุ้นให้มีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น หากปาก ริมฝีปากแห้ง จมูกแห้ง และตาแห้ง ให้หมั่นทำความสะอาด และรักษาความชื้นไว้ โดยอาจใช้สำลีหรือผ้าสะอาดชุบน้ำแตะที่ปาก ริมฝีปาก หรือใช้สีผึ้งทาริมฝีปาก สำหรับตาก็ให้หยอดน้ำตาเทียม
คนใกล้ตาย จะรู้สึกง่วงและอาจนอนหลับตลอดเวลา ผู้ดูแลควรให้ผู้ป่วยหลับ ไม่ควรพยายามปลุกให้ตื่น เมื่อคนใกล้ตายไม่รู้สึกตัว ไม่ควรคิดว่าเขาไม่สามารถรับรู้หรือได้ยินสิ่งที่มีคนพูดกันอยู่ข้างๆ เพราะเขาอาจจะยังได้ยินและรับรู้ได้แต่ไม่สามารถสื่อสารให้ผู้อื่นทราบได้ จึงไม่ควรพูดคุยกันในสิ่งที่จะทำให้เขาไม่สบายใจหรือเป็นกังวล
1
การร้องครวญคราง หรือมีหน้าตาบิดเบี้ยวอาจไม่ได้เกิดความเจ็บปวดเสมอไป แต่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสมองซึ่งแพทย์สามารถให้ยาระงับอาการเหล่านี้ได้
คนใกล้ตาย อาจมีเสมหะมาก ควรให้ยาลดเสมหะแทนการดูดเสมหะ ซึ่งนอกจากไม่ได้ผลแล้วยังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกทรมานเพิ่มขึ้นด้วย (เฉพาะคนที่ใกล้ตายเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้ป่วยอื่นๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการดูดเสมหะ)
-ความเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ
โดยทั่วไปเมื่อกายป่วย ใจจะป่วยด้วยเสมอ ยิ่งคนที่ป่วยหนักใกล้ตายด้วยแล้วยิ่งต้องการการดูแลประคับประคองใจอย่างมาก สิ่งที่คนใกล้ตายกลัวที่สุด คือการถูกทอดทิ้ง การอยู่โดดเดี่ยว
และสิ่งที่คนใกล้ตายต้องการ คือใครสักคนที่เข้าใจและอยู่ข้างๆ เขาเมื่อเขาต้องการ แต่ละคนก็อาจมีความรู้สึกและความต้องการต่างกันไป ฉะนั้นผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ก็ควรให้โอกาสคนใกล้ตายได้แสดงความรู้สึกและความต้องการโดยการพูดคุยและเป็นผู้รับฟังที่ดีและควรปฏิบัติตามความต้องการของคนใกล้ตาย
2
ซึ่งหมายรวมถึงความต้องการในด้านการรักษา ต้องประเมินก่อนว่าความต้องการนั้นเกิดจากการตัดสินใจบนพื้นฐานใด หากเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของอารมณ์ ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง ก็ควรชะลอการปฏิบัติไว้ก่อน และควรให้การประคับประคองใจจนสบายใจขึ้น กับทั้งให้โอกาสผู้ใกล้ตายเปลี่ยนความต้องการ และความตั้งใจได้เสมอ
1
ความตายได้กลายเป็นปัญหาสังคมขึ้นแล้ว วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีด้านการแพทย์ทำให้มนุษย์มีโอกาสตายตามธรรมชาติได้น้อยลง ความตายอย่างสงบจึงไม่เกิดขึ้น ไม่มีโอกาสได้ตายอย่างสงบที่บ้าน แต่ตายอย่างโดดเดี่ยวและทรมานในโรงพยาบาล โดยตายกับสายระโยงระยางที่เข้า-ออกจากร่างกายและเครื่องมืออุปกรณ์ที่อยู่รอบตัว “
1
ศ.พญ.สุมาลี นิมมานนิตย์
Cr : ชมรมผู้สูงอายุกรมชลประทาน
โฆษณา