25 ก.ค. 2020 เวลา 12:46 • ประวัติศาสตร์
ออกญาเสนาภิมุข อดีตคนหามเกี้ยวผู้กลายเป็นขุนนางสยาม
ยามาดะ นิซาเอะมง โนะโจ นางามาสะ (山田仁㔫衛門尉長政) หรือออกญาเสนาภิมุข เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่นในสมัยพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุทธยา เมื่อครั้งยังอยู่ในญี่ปุ่นเคยเป็นคนหามเกี้ยวของไดเมียวมาก่อน
ภาพวาด ยามาดะ นิซาเอะมง โนะโจ นางามาสะ (山田仁㔫衛門尉長政) หรือ ออกญาเสนาภิมุข
หลักฐานชั้นต้นที่กล่าวถึงยามาดะ นางามะสะในฐานะคนหามเกี้ยว คือเอกสารเรื่อง “อิคโคคุ นิกกิ” (異国日記) หรือ “จดหมายเหตุต่างแดน” เรียบเรียงโดย อิชิน ซูเด็น (以心崇伝) พระภิกษุผู้ใหญ่นิกายเซ็นสำนักรินไซ (臨済宗) ซึ่งได้รับมอบหมายจากโชกุนโทะกุงะวะ อิเอะยะสึ (徳川家康) ให้รับผิดชอบกิจการต่างประเทศร่วมกับเสนาบดีระดับสูงในรัฐบาลเอโดะคือ โดอิ โทชิคะสึ (土井利勝), ฮนดะ คุสุเกะโนะสุเกะ (本多上野介) และ ซากาอิ อุตะโนะกามิ (酒井雅楽頭)
พระซูเด็นมีบทบาทในการร่างเอกสารทางการทูตหลายชิ้น การร่างใบเบิกร่องประทับตราแดงสำหรับอนุญาตให้สำเภาญี่ปุ่นไปทำการค้าที่ต่างประเทศ รวมถึงมีบทบาทในการรับราชทูตจากสยามใน ค.ศ. ๑๖๒๑ (พ.ศ. ๒๑๖๔) และเรียบเรียงเอกสารเกี่ยวกับการต่างประเทศดังที่กล่าวมาแล้ว
อิชิน ซูเด็น (以心崇伝) พระนิกายเซ็นสำนักรินไซ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการต่างประเทศในสมัยเอโดะตอนต้น
อิคโคคุ นิกกิ ได้บันทึกเรื่องราวของยามาดะครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๖๒๑ ซึ่งเป็นปีที่ยามาดะได้ส่งจดหมายของตนมาพร้อมคณะทูตจากอยุทธยาที่เดินทางมายังญี่ปุ่น โดยมีการเล่าประวัติของยามาดะไว้ว่า
“ยามาดะ นินซาเอมอง คนหามเกี้ยวของ โอคุโบะ จิเอมอง ได้ไปสยาม เวลานี้มีข่าวว่ารับราชการอยู่ที่นั่น”
《大久保治右衛門六尺山田仁左衛門暹羅へ渡り有付、今ハ暹羅の仕置を致由也。上様への書にも見えたり。此者の事歟。大炊殿・上州へ文を越。》
โอคุโบะ จิเอมง (大久保治右衛門) มีอีกชื่อหนึ่งว่า โอคุโบะ ทาดาสึเกะ (大久保忠佐) เป็นหนึ่งในขุนศึกที่ติดตามโทกุวางะ อิเอยาสึทำสงครามเซกิงาฮาระจนได้รับชัยชนะ เมื่ออิเอยาสึได้ครองแผ่นดินจึงปูนบำเหน็จทาดาสึเกะให้เป็นไดเมียวหรือเจ้าผู้ครองแคว้นนุมาสุ (沼津藩) ซึ่งอยู่ในเมืองซุรุกะ จังหวัดชิสึโอกะของญี่ปุ่นในปัจจุบัน เมื่อ ค.ศ. ๑๖๐๑ (พ.ศ. ๒๑๔๔)
โอคุโบะ จิเอมง ทาดาสึเกะ (大久保治右衛門忠佐) จากภาพยี่สิบขุนพลของโทกุงาวะ (徳川二十将図) วาดโดย คะโน เอะโน (狩野永納) จิตรกรสมัยเอโดะ โอคุโบะ ทาดาสึเกะ เป็นไดเมียวแห่งแคว้นนุมาสุใน ค.ศ. ๑๖๐๑ ถึง ๑๖๑๓ และเป็นเจ้านายผู้ที่ยามาดะ นางามาสะเคยรับใช้หามเกี้ยวให้
สำหรับยามาดะ พบหลักฐานจากแผ่นภาพเขียนเอมะ (絵馬) หรือภาพเขียนสำหรับอุทิศให้เทพเจ้าในศาสนาชินโตเพื่อขอพรซึ่งเขาส่งไปถวายศาลเจ้าเซ็นเง็น (静岡浅間神社) แคว้นซุมปุ (駿府藩 ปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดชิสึโอกะ) เมื่อ ค.ศ. ๑๖๒๖ (พ.ศ. ๒๑๖๙) มีข้อความที่ยามาะดะกล่าวว่าเขาเป็นคนในแคว้นนั้น จึงเป็นไปได้ว่ายามาดะอาจย้ายไปอยู่ที่แคว้นนุมาสุในภายหลังด้วยเหตุผลบางอย่าง และได้เข้าทำงานเป็นคนหามเกี้ยวให้ โอคุโบะ ทาดาสึเกะ
.
หน้าที่คนหามเกี้ยวดูเผินๆ เหมือนจะต่ำต้อย แต่ความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อพิจารณาจากอิคโคคุ นิกกิที่พระซูเด็นเรียบเรียงได้เรียกตำแหน่งคนหามเกี้ยวของยามาดะว่า “โรคุชาคุ” (六尺) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกคนหามเกี้ยวโนริโมโนะ (乗物) ซึ่งเป็นเกี้ยวที่ชนชั้นสูงอย่างไดเมียวใช้ แตกต่างจากเกี้ยวทั่วไปที่เรียกว่า คาโกะ (駕籠)
การหามเกี้ยวให้ไดเมียวหรือเจ้าผู้ครองแคว้นย่อมไม่ใช่งานที่เอาใครมาทำก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้เป็นนายสูงเพราะต้องทำงานรับใช้ใกล้ชิด ต้องเป็นผู้มีร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันแล้วก็อาจเปรียบได้กับคนขับรถยนต์ส่วนตัวของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง
ซึ่งมีการวิเคราะห์ไว้ด้วยว่าการที่ยามาดะได้ทำงานใกล้ชิดไดเมียวขนาดนี้ นอกจากเรื่องพละกำลังและก็อาจจะต้องอาศัย “เส้นสาย” หรือมีความสัมพันธ์อยู่ในแวดวงชนชั้นปกครองด้วยในระดับหนึ่ง ซึ่งก็มีการสันนิษฐานไว้ว่าเขาน่าจะเป็น คะชิ (下士) หรือซามูไรระดับล่าง
ภาพเขียนเอมะ (絵馬) หรือภาพเขียนสำหรับอุทิศให้เทพเจ้าในศาสนาชินโตเพื่อขอพร รูปเรือสำเภาที่ยามาดะ นางามาสะส่งไปถวายศาลเจ้าเซ็นเง็น (静岡浅間神社) แคว้นซุมปุ (ปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดชิซิโอกะ) บ้านเกิดของตน ในปีคันเอที่ ๓ (ค.ศ. ๑๖๒๖) ภาพนี้วาดขึ้นเลียนแบบจากภาพดั้งเดิมก่อนที่ภาพเดิมจะถูกไฟไหม้ไปใน ค.ศ. ๑๗๘๘ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของศาลเจ้าเซ็นเง็น
ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ายามาดะทำหน้าที่เป็นคนหามเกี้ยวนานแค่ไหน แต่โอคุโบะ ทาดาสึเกะถึงแก่กรรมใน ค.ศ. ๑๖๑๓ (พ.ศ. ๒๑๕๕) โดยไม่มีทายาทชาย ทำให้รัฐบาลตระกูลโทกุงาวะดึงแคว้นนุมาสุกลับไปปกครองเองโดยไม่มีการตั้งไดเมียวอีกเป็นเวลานาน
แม้ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ายามาดะเดินทางมายังอยุทธยาในปีใด แต่มีการสันนิษฐานว่าการสูญเสียเจ้านายของยามาดะอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางออกจากญี่ปุ่นไปยังต่างแดน เช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่หลั่งไหลออกจากประเทศ ทั้งซามูไรที่สูญเสียนายในสมรภูมิเซกิงาฮาระหรือชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์เพื่อแสวงหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า
ยามาดะได้มารับราชการที่อยุทธยา ได้ไต่เต้าเป็นถึงออกญาเสนาภิมุขเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น และได้เลื่อนเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในเวลาต่อมา กลายเป็นหนึ่งในขุนนางที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์อยุทธยา นับว่ามีความก้าวหน้ามาไกลมากจากคนที่เคยเป็นเพียงคนหามเกี้ยว น่าจะแสดงถึงความสามารถที่ไม่ธรรมดาของยามะดะได้พอสมควร
บรรณานุกรม
- อิชิอิ โยเนะโอะ และ โยชิทาเกะ โทชิฮารุ. (๒๕๔๒). ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ๖๐๐ ปี. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมและมนุษย์ศาสตร์.
- Polenghi, C. (2009). Yamada Nagamasa, Japanese Warrior and Merchant in Early Seventeenth-Century Siam. Bangkok: White Lotus.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา