25 ก.ค. 2020 เวลา 13:48 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
“มุมมองของผู้หญิงผ่านภาพยนตร์”
ตั้งแต่ปี2017 กระแส Me Too Movement ได้ซัดสาดเหล่าคนดังในฮอลลีวูดอย่างหนักหน่วง ใครเคยกระทำการล่วงละเมิดทางเพศไว้ ใครเคยใช้อำนาจบังคับให้นักแสดงหญิงทำในสิ่งที่พวกเธอไม่เต็มใจ ผู้กระทำผิดเหล่านี้ถูกเปิดโปงต่อสาธารณชนทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ผมอ่านข่าวแล้วก็คิดในใจว่า ตกลงฮอลลีวูดคือสวรรค์ของนักข่มขืนใช่ไหมเนี่ย? การเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก จากเดิม เวลาเราเห็นกลุ่มสตรีออกมาเรียกร้องสิทธิต่างๆเพื่อความเท่าเทียม ไม่มีใครคิดจะเข้าไปช่วยอย่างจริงจังหรอกครับ อย่างมากก็แค่ลงข่าวให้ แต่หลังจากปี2017เป็นต้นมา ปัญหาหลายอย่างที่เคยถูกเพิกเฉยก็เริ่มได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ทุกคนดูตื่นตัวกับประเด็นนี้ อย่างในไทยเราก็มีบทความเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศลงให้อ่านกันแทบทุกสัปดาห์ ยิ่งไปกว่านั้น ภาพยนตร์หลายเรื่องถึงกับเอาประเด็นนี้มาเป็นจุดขายเลยด้วยซ้ำ กระแสตอบรับก็ออกมาดีบ้างแย่บ้าง ปะปนกันไป ซึ่งวันนี้เราก็จะมาวิเคราะห์ผลงานของเหล่าผู้กำกับหญิงที่ผมชื่นชอบ มี3คนที่ผมอยากพูดถึงและ2ใน3คนนี้ ก็ขึ้นชื่อเรื่องการเล่าผ่านมุมมองของผู้หญิงซะด้วย มาดูกันครับ!
คนแรกคือ Celine Sciamma หลายคนคงรู้จักเซลีนผ่านผลงานชิ้นล่าสุดของเธออย่าง Portrait of a Lady on Fire จุดเด่นที่เห็นได้ชัดมากคือการ “ไม่เร่ง” ในการเล่าเรื่อง ความรักในมุมของเซลีน มันจะใช้เวลาสักพัก ค่อยๆเติบโต ความรักถึงจะเบ่งบาน จะไม่ค่อยมี “รักแรกพบ” ในหนังของเธอซักเท่าไหร่ รวมไปถึงการโชว์ฉากที่ผู้ชายไม่อยากเห็น เช่น ขนรักแร้ ปวดท้องเมนส์ การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ เรื่องพวกนี้ถูกเล่าออกมาแบบเรียบๆเหมือนมันเป็นส่วนนึงของชีวิตผู้หญิง(ซึ่งก็จริง แต่ฮอลลีวูดพยายามเลี่ยงเสมอ) อีกประเด็นนึงที่น่าสนใจเกี่ยวกับเซลีนคือ ตัวจริงเธอมักจะวิจารณ์ผู้ชายอย่างเปิดเผยครับ ผมเคยฟังสัมภาษณ์ตอนที่เธอให้ความรู้เรื่องการกำกับ ช่วงแรกเราก็นั่งอกผายไหล่ผึ่งเตรียมรับความรู้เต็มที่ พอฟังไปซัก30นาที กลายเป็นว่าเรานั่งตัวลีบๆ ไหล่ห่อๆ เพราะโดนเจ๊เซลีนเนี่ย...แซะเป็นว่าเล่นเลยครับ ฮ่าๆ เราโดนด่าจนรู้สึกแย่ที่เกิดเป็นผู้ชายอะ คิดดูละกัน -*- แต่จุดที่ต้องชื่นชมคือ เธอไม่เคยเอาคำเหน็บแนมหรือคำต่อว่าเหล่านี้ใส่ไปในหนังเลยครับ แม้ว่าจุดยืนของตนเองจะชัดเจนมาก แต่ภาพยนตร์ของเธอกลับเล่าออกมาอย่างแยบคาย และไม่มีการดูถูกเพศตรงข้ามในหนังเลยซักครั้ง เกร็ดความรู้อีกอย่างคือ กองถ่ายหนังทุกเรื่องของเซลีน ไม่มีผู้ชายนะครับ ไม่มี..แม้แต่..คนเดียว (จะเกลียดอะไรขนาดน้านนนน ฮ่าๆ)
เซลีน ไซแอมมา
เจอสายแข็งเข้าไปอาจจะทำให้เรารู้สึกอึนๆ มาผ่อนคลายกับสายหวานกันบ้าง เธอก็คือ Greta Gerwig ผลงานเด่นๆก็สองเรื่องนี้เลยครับ Lady Bird และ Little Women จุดเด่นของเกรต้า คือฉากไดอะล็อกที่มีการ Overlap กันเสมอ เอาง่ายๆก็คือ ฉากคุยกันที่ทุกคนแย่งกันพูดอะครับ เกรต้าบอกว่า “เวลาผู้หญิงคุยกันโดยเฉพาะถ้าเป็นเพื่อนสนิท เราไม่เคยรอให้อีกฝ่ายพูดจบประโยคหรอกนะ เราคิดอะไรได้ก็จะพูดโพล่งออกไปเลย ฉันจึงอยากใส่อารมณ์แบบนี้ลงไปในหนังของตัวเอง” ซึ่งเราก็ได้เห็นฉากแบบนี้บ่อยๆใน Little Women เรียกได้ว่าแย่งกันพูดทั้งเรื่อง ทำให้หนังดูมีชีวิตชีวา และมีความสมจริง ส่วนในกองถ่ายของเธอก็จะเป็นฟีลน่ารักๆ สบายๆ เกรต้าตั้งกฎข้อนึงขึ้นมาก็คือ ทุกคนในกองถ่ายต้องแขวนป้ายชื่อใว้ที่คอ และเวลาคุยกันต้องเรียกชื่อเท่านั้น เพื่อเพิ่มความสนิทสนมของทีมงาน ทำให้บรรยากาศในกองถ่ายมีความสนุกสนาน เป็นกันเอง ซึ่งผมมั่นใจว่าไม่มีผู้กำกับชายคนไหน ที่ใส่ใจบรรยากาศในกองถ่ายเท่าเกรต้าแน่นอนครับ
เกรต้า เกอร์วิก ภาพจาก AP Photos
คนสุดท้ายจะเป็นสายกลางๆในแง่ของจุดยืน แต่ฝีมือไม่กลางนะครับ การันตีด้วยรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม เธอคือ Kathryn Bigelow เมื่อพูดถึง The Hurt Locker และ Zero Dark Thirty คงไม่มีนักดูหนังสายดาร์คคนไหนไม่รู้จัก การใช้กล้อง Hand-Held ที่เป็นเอกลักษณ์ ให้ภาพสั่นๆและความรู้สึกของความไม่แน่นอนดั่งเนื้อเรื่องในหนังของเธอ ทิศทางการกำกับของแต่ละซีนจะถูกวางใว้อย่างยอดเยี่ยม เพื่อใช้บีบคั้นอารมณ์ของผู้ชมไปจนถึงช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งฉากไคลแมกซ์ในหนังของแคทริน จะทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า “ควรค่าแก่การรอคอย” เสมอ เป็นการปลดปล่อยอารมณ์ครั้งใหญ่ที่เรียกน้ำตาจากผู้ชมได้ตลอด ส่วนตัวผมเอง 3คนนี้ผมชอบแคทรินที่สุดครับ ฝีมือการกำกับของเธอเหนือชั้นจริงๆ แถมเธอยังใช้ทุนสร้างแค่ระดับกลางๆ แต่กลับสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมาได้อย่างต่อเนื่อง เป็นอีกหนึ่งผู้กำกับไอดอลของผมเลยครับ
แคทริน บิเกโลว์
แถมให้อีกคนละกัน คราวนี้เป็นนักตัดต่อกันบ้าง อย่างที่ทุกคนทราบดีว่าภาพยนตร์เรื่อง Mad Max: Fury Road ผู้กำกับอย่าง George Miller ตั้งใจใช้คนตัดต่อที่เป็นผู้หญิง ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าผู้ชายตัด มันก็คงออกมาเหมือนหนังแอคชั่นทั่วไปในตลาด ซึ่ง editor ที่ตัดหนังเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เธอคือ Margaret Sixel ภรรยาของ George Miller เองนั่นแหละครับ(อยากช่วยกันหาเงินเข้าบ้านรึไงไม่ทราบ ฮ่าๆ หยอกๆ) แต่สิ่งที่ไม่มีใครพูดถึงก็คือ การตัดต่อจากมุมมองของผู้หญิงคืออะไร ต่างจากผู้ชายยังไง ไม่เห็นมีใครวิเคราะห์ออกมาเลย แม้กระทั่งในต่างประเทศก็ไม่มีใครทำ แต่ผมทำครับ! จริงๆว่าจะเอาไปสร้างเป็นคลิปด้วยซ้ำ แต่รู้สึกอยากเล่ามาก เพราะงั้นก็...มา อ่านเอาละกัน -*- นี่คือประเด็นหลักๆที่ผมสังเกตได้ 1.ฉากการตายของตัวละครฝั่งพระเอก จะตัดต่อให้เรารู้สึกถึงความสลักสำคัญของมันมากขึ้น ถ้าเป็นภาษาคนก็...ขยี้ฉากตายครับ ด้วยการชะลอจังหว่ะการตัดต่อ จากเดิมที่แต่ละช็อตไม่เคยฉายนานเกิน3วินาที พอตัวละครฝั่งพระเอกตาย จะสลับเป็นการแช่กล้องไว้นานๆทันที ประหนึ่งว่าให้ผู้ชมได้อยู่กับพวกเขาจนวินาทีสุดท้าย พ่วงด้วยการใช้ความขัดแย้งของเสียงดนตรี ซึ่งตลอดทั้งเรื่องเราจะได้ยินเสียงเพลงประกอบกระหึ่มจนหูแทบพัง แต่ถ้าเป็นฉากการสูญเสีย ดนตรีจะเงียบลง เหมือนเป็นการ “ไว้อาลัย” สั้นๆให้กับตัวละครนั้น 2.ฉากแอคชั่น ตัดเร็ว แต่ชัดเจนทุกเฟรม หนังแอคชั่นในยุคปัจจุบันจะตัดเร็วจนผู้ชมมองไม่ทัน เพื่อกลบความปวกเปียกของฝ่ายออกแบบฉากต่อสู้ ยิ่งถ้านักแสดงสู้ไม่เป็นด้วยแล้ว ยิ่งต้องใช้มุมกล้องกับการตัดต่อเข้ามาช่วย แต่ใน Mad Max: Fury Road เราเห็นทุกการเคลื่อนไหวของนักแสดง ตัดเร็วก็จริง แต่มาร์กาเร็ตก็ให้เวลามากพอ เพื่อให้ผู้ชมคิดตามได้ทัน และเทคนิคการวางนักแสดงไว้กลางเฟรมของ จอร์จ มิลเลอร์ ยิ่งทำให้เราเข้าใจฉากนั้นเร็วขึ้นไปอีก ทุกครั้งที่มีการคัท ผู้ชมแทบไม่ต้องกวาดสายตาไปจุดอื่นของจอเลย แค่มองตรงกลางจอเข้าไว้ แล้วเดี๋ยวความมันส์จะพุ่งทะลุโสตประสาทของเราเอง ฮ่าๆ ต้องปรบมือชื่นชมสามีภรรยาคู่นี้ ที่ได้ร่วมกันสร้างหนังแอคชั่นที่ดีที่สุดในทศวรรษ2010-2019 (หรือจะบอกว่าดีสุดที่เคยมีมาก็ยังได้นะ)
สรุปแล้วมุมมองของผู้หญิงในภาพยนตร์ ถ้าเอามาเรียบเรียงเป็นคำพูดก็คงจะได้คำว่า เห็นอกเห็นใจ แคร์ผู้ชม ใส่ใจรายละเอียด ละเมียดละไม และมีชีวิตชีวา ส่วนฉากขยี้อารมณ์ ก็จะหนักหน่วงเป็นพิเศษ ระหว่างที่ดูอาจจะมีการตบเข่าฉาดบ้างอะไรบ้าง ถ้าอยากให้มีหนังลักษณะนี้มากขึ้น ก็ต้องช่วยกันสนับสนุนภาพยนตร์ของพวกเธอ สุดท้าย อาจจะดูนอกเรื่องไปหน่อย แต่...ผมอยากจะบอกสาวๆที่เกลียดตัวผู้เข้ากระดูกดำว่า “บางทีการที่เราอยากสนับสนุนคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็ไม่จำเป็นต้องไปดึงคนอีกกลุ่มลงมาหรอกครับ” และผู้ชายกับผู้หญิง เราไม่ได้เกิดมาเพื่อแข่งกัน เราเกิดมาเพื่อคู่กัน นะแจ๊ะ
ช่องยูทูปของผมครับ :)
โฆษณา