Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Guide Talk
•
ติดตาม
25 ก.ค. 2020 เวลา 17:49 • ท่องเที่ยว
หากนึกถึงการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อและศาสนาในภาคกลาง ที่แรกที่ตัวไกด์เองมักนึกถึงในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์นั่นก็คือ "วัดขุนอินทประมูล" หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆว่า วัดขุนอิน เป็นพระอารามราษฎร์ ตั้งอยู่ที่อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง เป็นวัดโบราณ สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี
พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล
หลังจากที่พ่อขุนรามคำแหงสิ้นพระชนม์ พระยาเลอไท(พระราชโอรสองค์โต) ได้เสวยราชสมบัติปกครองสุโขทัย จนกระทั่งปีพ.ศ.1843 พระยาเลอไทได้เสด็จประพาสทางชลมารคพร้อมกับเหล่าข้าราชบริพาร เพื่อนมัสการพระฤาษีทัตตะทิกะ ที่วัดเขาสมอคอน เมืองละโว้ ทั้งนี้พระดาบสตนนี้เป็นพระอาจารย์ของพระราชบิดาและพระยาเลอได้วยเช่นกัน
พระยาเลอไททรงพักค้างแรมที่วัดเขาสมอคอนเป็นเวลา 3 เพลา หลังจากนั้นได้เสด็จกลับทางเรือชลมารค โดยมีพระประสงค์จะดูวิถีชีวิตของพสกนิกร ขบวนเรือที่ประทับล่องเรือเข้าสู่ลำท่าแดง แล้วเข้าสู่หมู่บ้านบางพลับ ซึ่งก็ใกล้เวลาพลบค่ำ ไม่เหมาะแก่การเดินทาง จึงทรงตัดสินพระทัยจะพักค้างแรมที่ริมน้ำ เมื่อสำรวจที่ริมน้ำก็เห็นว่ามีสถานที่หนึ่งเป็นเนินสูง โคกร้าง ไม่มีเรือนชาวบ้านมาปลูกสร้าง ครั้นเลือกชัยภูมิได้เหมาะสมแล้ว ข้าราชบริพารจึงสร้างพลับพลาที่ประทับ
ในขณะที่พระยาเลอไทเสด็จเข้าที่ประทับ ก็ทรงบรรทมและสุบินนิมิตว่า ทรงเห็นดวงแก้วสุกสว่างลอยจากที่บรรทมของพระองค์ไปทิศตะวันออก เมื่อทรงตื่นยามเช้า จึงให้เหล่าปุโรหิตที่ตามเสด็จทำนายสุบินนิมิต และได้รับกราบบังคมทูลว่า สุบินนิมิตนั้นเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะดวงสว่างที่เห็นนั้น อาจจะเป็นพระบรมธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงปาฏิหารย์ให้พระเจ้าแผ่นดินได้ทราบก็เป็นได้ ซึ่งเหล่าข้าราชบริพารได้มีความเห็นว่า พระยาเลอไทควรจะสร้างพระพุทธรูปไว้เป็นอนุสรณ์ พระยาลิไทจึงทรงดำริสร้างเป็นพระพุทธไสยาสน์
พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาโปรดให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในมหาบุญครั้งนี้ จึงมีชาวบ้านจำนวนมากต่างเดินทางมาร่วมสร้างพระพุทธไสยาสน์ที่จัดสร้างด้วยอิฐดินเผา ครั้นสร้างพระพุทธไสยาสน์เสร็จเรียบร้อย พระยาเลอไททรงตั้งพระนามว่า “พระพุทธไสยาสน์ลือไทนฤมิต" ซึ่งพระนามขององค์พระนอนมาจากการที่พระองค์ทรงสุบินนิมิตนั่นเอง ก่อนจะเสด็จกลับ พระองค์ก็ทรงแต่งตั้งทาส 4 คน เพื่อดูแลวัดและองค์พระนอน
ต่อมาไม่นาน สุโขทัยเสื่อมอำนาจลง อยุธยาเรืองอำนาจขึ้นมาแทน ทำให้องค์พระขาดการทำนุบำรุง พระพุทธไสยาสน์จึงเกิดชำรุดทรุดโทรม กอปรกับในระหว่างที่อยุธยาเรืองอำนาจได้ทำศึกสงครามกับพม่าเสมอมา วัดและพระพุทธไสยาสน์ฤาไทนฤมิต ก็ได้รับผลกระทบจากสงคราม จนวิหารที่ครอบองค์พระนอนและอุโบสถได้เสียหายจนเหลือแค่เศษซากอิฐเก่า โชคดีที่องค์พระนอนรอดมาได้จนถึงสมัยพระบรมราชาธิราชที่3 หรือที่เรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ตามตำนานกล่าวไว้ว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้แต่งตั้ง ท่านขุนอินทประมูล(เส่ง) ชาวบ้านตำบลบางพลับให้เป็นข้าราชการกินตำแหน่งเป็นนายอากรบ่อนเบี้ย เก็บภาษีอากรมอบให้ท้องพระคลัง
ท่านขุนอินทประมูลนั้นแต่งงานกับแม่นาคมานานหลายปีก็ยังไม่มีบุตร ตัวท่านเองก็เป็นผู้มีศรัทธาในพุทธศาสนา จึงนำเงินที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิต มาทำนุบำรุงองค์พระนอน ด้วยเห็นว่าพระนอนนั้นชำรุดทรุดโทรม เมื่อคิดจะซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระพุทธไสยาสน์แล้ว ก็เห็นว่าควรเริ่มต้นสร้างอุโบสถหลังใหม่กับเจดีย์ด้านหลังก่อน ครั้นสร้างเสร็จได้บรรจุวัตถุมงคลต่างๆใส่ไว้ ยังมีเงินเหลือจำนวนหนึ่ง จึงปรึกษาหารือกับชาวบ้านว่าจะซ่อมแซมพระพุทธไสยาสน์ ชาวบ้านต่างศรัทธาจึงแห่แหนมาช่วย บ้างช่วยออกเงิน บ้างช่วยออกแรง โดยไม่ต้องเสียเงินว่าจ้าง
ปรากฏว่าข่าวการสร้างวัดและซ่อมบูรณะองค์พระนอนของท่านขุนอินทประมูล ได้เข้าถึงหูของเจ้าเมืองวิเศษชัยชาญ จึงทำหนังสือกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า มีความสงสัยว่าขุนอินทประมูลได้ฉ้อราษฎร์บังหลวง เอาเงินมาบำรุงพระพุทธศาสนา ซ่อมแซมพระพุทธไสยาสน์ พระเจ้าอยู่หัวจึงให้สมุหกลาโหมเดินทางไปไต่สวน แต่ท่านขุนอินทประมูลไม่ยอมรับ แล้วบอกว่ามีชาวบ้านมาช่วยบริจาคทรัพย์และเป็นแรงงาน ท่านสมุหกลาโหมไม่เชื่อ จึงสั่งให้โบยตีเป็นชุด ชุดละ30ที แต่เนื่องจากขุนอินทประมูลมีอายุมากแล้ว จึงทนต่อการโบยตีไม่ไหว และก่อนที่จะเสียชีวิตลง ท่านได้กล่าวไว้ว่า “ข้าขุนอินทประมูล เป็นข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้รับเบี้ยหวัดหลวง บ้านที่ดินพระราชทาน จึงขอเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวด้วยการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการสร้างพระอุโบสถ เจดีย์ และซ่อมแซมองค์พระนั้นก็เพื่อจะเสริมบารมีพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” และในที่สุดขุนอินทประมูลก็สิ้นชีวิตลง
วิหารเก่า
พระสมุหกลาโหมเดินทางกลับเข้ากราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบความ เมื่อพระองค์ทรงทราบแล้วก็เสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดให้นำทองคำ 100 ชั่ง(50ก.ก.) เป็นพระเกตุมาลาพระพุทธไสยาสน์ และทรงซ่อมแซมวิหารที่ชำรุดทรุดโทรม(หลังกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่1) จากนั้นทรงเปลี่ยนชื่อพระพุทธไสยาสน์ให้เป็น “พระพุทธไสยาสน์อินทประมูล” นับแต่นั้นมา
บริเวณหน้าพระพุทธไสยาสน์
วัดขุนอินทประมูลและพระนอนพระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล กลายเป็นวัดโบราณสำคัญที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างสมัยพระยาลิไท ทำให้มีพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ได้เคยเสด็จมาสักการะบูชา อาทิ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.5) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช(ร.9)ก็ได้เคยเสด็จมาถวายผ้ากฐินต้น ในปีพ.ศ.2516 และเสด็จมานมัสการอีกครั้งในปีพ.ศ.2518
อุโบสถไฮเทค
ในปัจจุบันทางวัดได้จัดสร้างพระอุโบสถขนาดใหญ่ถึง 3 ชั้น(อุโบสถไฮเทค) พร้อมมีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบครบครัน ทั้งบรรไดเลื่อน ลิฟท์ เครื่องปรับอากาศ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน ซึ่งสามารถพับเก็บเข้าฝาผนังได้แบบอัตโนมัติจากการควบคุมของระบบไฮโดรลิก นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถหลังนี้ยังสร้างความตื่นตาตื่นใจ ด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นรูปเทวดาและนางฟ้าสวมใส่เสื้อผ้าและเล่นเครื่องดนตรีสมัยใหม่ อาทิ การเล่นกีตาร์แทนระนาด ตลอดจนถือสมาร์ทโฟนรุ่นต่างๆ เช่น ไอโฟน ซัมซุง ไอแพด ทั้งนี้ภาพจิตรกรรมดังกล่าวถูกเขียนขึ้นมาก็เพื่อแสดงให้คนรุ่นหลังเห็นว่า ยุคสมัยนี้ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องของการสื่อสารที่เป็นแบบนี้ แต่ถ้าเป็นยุคข้างหน้าก็จะมีค่านิยมอื่นๆมาแทนนั่นเอง
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ทั้งนี้หากสนใจเดินทางมาเยี่ยมชมหรือต้องการติดต่อกับทางวัดเป็นกรณีพิเศษ สามารถติดต่อได้ที่ไวยาวัจกรวัด โทร086-9815615 ทางวัดเปิดให้เข้าชมทุกวัน
สามารถเดินทางโดยรถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข3064 สายอ่างทอง-อำเภอโพธิ์ทอง
ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือคู่มือมัคคุเทศก์
ภาพประกอบ :
เที่ยวภาคกลาง.com
พาไป.com
:
blooggang.com
บันทึก
20
16
2
20
16
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย