26 ก.ค. 2020 เวลา 10:00 • กีฬา
การที่นักเตะวัยเพียง 17 ปีอย่าง จู๊ด เบลลิงแฮม ได้รับเกียรติจาก เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ที่ประกาศยกเลิกเสื้อหมายเลข 22 ให้เมื่อไม่กี่วันก่อน สร้างความประหลาดใจให้กับวงการฟุตบอลไปทั่วโลกเลยทีเดียว
เบลลิงแฮม เพิ่งเล่นให้เบอร์มิงแฮมชุดใหญ่ได้แค่ฤดูกาลเดียว เขาลงสนามรวมทุกรายการแค่ 44 นัด ยิงรวมทุกถ้วยแค่ 4 ลูก โดยที่ต้นสังกัดก็ไม่ได้ลุ้นเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกแต่อย่างใด
เบอร์มิงแฮม ซิตี้ จบฤดูกาล 2019-20 ของศึกแชมเปี้ยนชิพด้วยอันดับที่ 20 โดยมีคะแนนเหนือโซนตกชั้นเพียง 2 แต้ม
ถ้าจะบอกว่า เบลลิงแฮม ระเบิดฟอร์มเด่นในการพาทีมลูกโลกรอดพ้นการตกชั้นลงไปเล่นใน ลีก วัน ก็ไม่น่าจะใช่ ไอ้ที่อยู่รอดได้น่าจะเพราะทีมท้ายตารางฉวยโอกาสแซงพวกเขาในช่วงท้ายซีซั่นไม่ได้ซะมากกว่า
10 นัดล่าสุดที่ เบลลิงแฮม ได้โอกาสลงสนาม นับตั้งแต่ฟุตบอลรีสตาร์ทอีกครั้งหลังเบรกยาวเพราะโควิด-19 เขายิงประตูและทำแอสซิสต์ไม่ได้เลย แถมโดนใบเหลืองไปถึง 4 ใบ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เบอร์มิงแฮม ไม่ชนะเลยทั้ง 10 นัดที่ว่าอีกต่างหาก (เสมอ 3 แพ้ 7)
เกมสุดท้ายที่เจ้าหนูเบลลิงแฮมลงรับใช้ต้นสังกัด ซึ่งเป็นเกมแชมเปี้ยนชิพนัดปิดฤดูกาล 2019-20 จบลงด้วยการที่ทีมแพ้ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ คาบ้านไป 1-3
ถึงแม้แข้งวัย 17 ปีจะถูกยกให้เป็นวันเดอร์คิดคนใหม่ของวงการฟุตบอลอังกฤษ, ได้รับความสนใจจากยักษ์ใหญ่ทั่วยุโรป และเตรียมไปพิสูจน์ตัวเองในบุนเดสลีกากับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ตั้งแต่ฤดูกาลหน้าเป็นต้นไป...
แต่หลายคนก็ยังมองว่า เขายังไม่มีความพิเศษอะไรมากพอที่จะให้สโมสรยกเลิกเบอร์เสื้อให้อยู่ดี
ในสมัยอดีต นักฟุตบอลยังไม่มีหมายเลขเสื้อประจำตัวเหมือนยุคปัจจุบัน เพราะ 11 ตัวจริงที่ลงสนามจะใส่เบอร์ 1-11 เรียงกันไปตามตำแหน่ง
เช่นผู้รักษาประตูใส่เบอร์ 1, แบ็กขวาใส่เบอร์ 2, กองกลางใส่เบอร์ 8, กองหน้าใส่เบอร์ 9 หรือพวกตัวรุกที่เก่งที่สุดของทีมจะสวมเบอร์ 10 เป็นต้น
จนกระทั่งศึกฟุตบอลโลก 1954 ที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพ ถึงจะได้เห็นนักเตะมีหมายเลขประจำตัวจริงๆ แบบของใครของมันเป็นครั้งแรก เพราะมันคือเวิลด์คัพสมัยแรก ที่ต้องมีการลงทะเบียนผู้เล่นพร้อมหมายเลขเสื้อ ก่อนแต่ละทีมจะส่งรายชื่อเข้าแข่งในทัวร์นาเมนต์
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแข่งขันระดับสโมสร นักเตะยังไม่มีหมายเลขเสื้อประจำของตัวเองแต่อย่างใด และส่วนใหญ่ยังคงใช้กฎตัวจริงสวมเบอร์ 1-11 เหมือนเดิม
จนกระทั่งในปี 1993 นั่นเอง เอฟเอของอังกฤษ เริ่มมีการออกกฎว่านักเตะแต่ละคนต้องมีหมายเลขเสื้อประจำตัว เพื่อความง่ายต่อการจดบันทึกผลงาน, สถิติประตู และการโดนใบเหลือง-ใบแดงสะสมตลอดทั้งฤดูกาล
โดยพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 1993-94 คือซีซั่นแรกที่ฟุตบอลลีกแดนผู้ดี มีการพิมพ์ชื่อสกุลของนักเตะไว้บนหมายเลขด้านหลังเสื้อ และฟุตบอลโลกครั้งแรกที่นักเตะมีชื่อตัวเองอยู่ด้านหลังก็คือ เวิลด์ คัพ 1994 ที่สหรัฐอเมริกา
1
ปกติแล้ว เวลาที่ทีมไหนจะยกเลิกหมายเลขเสื้อให้ใครสักคน คนคนนั้นต้องมีความสำคัญกับสโมสรอย่างมหาศาลยิ่งกว่านักเตะทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกตำนาน หรือไม่ก็ผู้เล่นที่จงรักภักดีกับทีมเป็นเวลานานหลายปี
อย่างเช่น อาแจ็กซ์ ยกเลิกเสื้อเบอร์ 14 เป็นเกียรติแด่ โยฮัน ครัฟฟ์ ตำนานนักเตะเทวดาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลดัตช์ โดยตลอด 13 ปีหลังสุด ไม่เคยมีใครสวมเสื้อเบอร์นี้ให้ทีมแชมป์แดนกังหันลมเลย
เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ยกเลิกเสื้อหมายเลข 6 ซึ่งเคยเป็นของ บ็อบบี้ มัวร์ อดีตกองหลังกัปตันทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1966 ซึ่งเคยรับใช้ทีมขุนค้อนยาวนานถึง 16 ปี หลังจากที่คนสุดท้ายที่ได้สวมเสื้อเบอร์นี้คือ แม็ทธิว อัพสัน ในฤดูกาล 2007-08
3
อินเตอร์ มิลาน ไม่ยอมให้ใครมาสานต่อเสื้อเบอร์ 4 จาก ฮาเวียร์ ซาเน็ตติ หลังจากอดีตกัปตันทีมที่เคยเล่นให้งูใหญ่นานถึง 19 ฤดูกาล แขวนสตั๊ดไปในปี 2014
เช่นเดียวกับ นาโปลี ก็เว้นว่างเสื้อเบอร์ 10 เอาไว้ เพื่อเป็นเกียรติให้ ดีเอโก้ มาราโดน่า เพราะแชมป์ เซเรีย อา ทั้ง 2 สมัยในประวัติศาสตร์ที่สโมสรคว้ามาได้ ก็เป็นพระเจ้าจากแดนฟ้าขาวคนนี้นี่แหละที่แบกทีม
เอซี มิลาน ก็ประกาศให้เสื้อหมายเลข 3 คือเบอร์พิเศษสำหรับอดีตตำนานกองหลังกัปตันทีมอย่าง เปาโล มัลดินี่ ที่เล่นให้ปีศาจแดงดำเพียงสโมสรเดียวตลอดชีวิต
มิลาน ไม่ได้ยกเลิกเสื้อเบอร์นี้ แต่สงวนไว้ว่าคนที่จะได้สิทธิ์สวมใส่มันเป็นคนต่อไป ต้องเป็นทายาทจากตระกูล “มัลดินี่” เท่านั้น
ทางด้านทีมในพรีเมียร์ลีกอย่าง เชลซี ยังไม่มีใครมาสวมเสื้อเบอร์ 25 ต่อจาก จานฟรังโก้ โซล่า ที่อำลาทีมไปในปี 2003
ซึ่งแม้ว่าทัพสิงห์บลูส์ไม่เคยประกาศยกเลิกเสื้อเบอร์นี้อย่างเป็นทางการ แต่ทุกคนก็เข้าใจได้ว่า มันคือการเว้นว่างไว้ เพื่อให้มันเป็นของอดีตกองหน้าระดับตำนานชาวอิตาเลียนตลอดไป
ทีมในไทยลีกอย่าง บีจี ปทุม ยูไนเต็ด (หรือชื่อ บางกอกกล๊าส เอฟซี ในอดีต) ก็เคยยกเลิกเสื้อเบอร์ 6 เพื่อเป็นเกียรติให้อดีตตำนานอย่าง อำนาจ แก้วเขียว ที่เคยรับใช้ทีมยาวนานกว่า 10 ปี ตั้งแต่สโมสรยังเป็นทีมธนาคารกรุงไทย
จนกระทั่ง สารัช อยู่เย็น กองกลางดาวดังทีมชาติไทย ย้ายเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในปีนี้นี่เอง บีจีถึงยอมยกเสื้อเบอร์ 6 ให้ “เจ้าตัง” เพราะเชื่อว่านี่คือคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดที่จะมาสานต่อหมายเลขเสื้อเบอร์ตำนานดังกล่าว
สำหรับสโมสรในไทยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด, ชลบุรี เอฟซี, การท่าเรือ เอฟซี และ โปลิศ เทโร เอฟซี (อดีตคือ บีอีซี เทโรศาสน) ยังมีวัฒนธรรมไม่ให้นักเตะคนไหนใส่เสื้อหมายเลข 12 อีกด้วย เพื่อแสดงความเคารพต่อแฟนบอลที่เปรียบเสมือนนักเตะคนที่ 12 ของทีม
1
หรือไม่ก็ในบางกรณี การยกเลิกหมายเลขเสื้อก็อาจเป็นการแสดงความอาลัยให้กับนักเตะผู้ล่วงลับ
อย่างเช่น แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยกเลิกเสื้อเบอร์ 23 ไปตั้งแต่ มาร์ค-วิเวียง โฟเอ้ อดีตกองกลางทีมชาติแคเมอรูน เสียชีวิตด้วยการหัวใจวายคาสนามระหว่างรับใช้ชาติในศึก คอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ 2003
ฟิออเรนติน่า ยกเลิกเสื้อเบอร์ 13 หลังจาก ดาวิเด้ อัสตอรี่ อดีตกองหลังกัปตันทีมจากไปด้วยโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันขณะนอนหลับเมื่อปี 2018 พร้อมกับยืนยันว่าจะจ่ายเงินค่าเหนื่อยของนักเตะให้กับครอบครัวของเขาไปตลอดชีวิต
เอมิเลียโน่ ซาล่า กองหน้าชาวอาร์เจนไตน์ที่เสียชีวิตอย่างโชคร้ายเพราะอุบัติเหตุเครื่องบินตก ก็ได้รับเกียรติจาก น็องต์ อดีตต้นสังกัดใน ลีก เอิง ที่ยกเลิกเสื้อหมายเลข 9 ให้
1
หรืออย่างในกีฬาบาสเกตบอล ทีม แอลเอ เลเกอร์ส ก็ยกเลิกเสื้อเบอร์ 8 และ 24 ที่เคยเป็นของ โคบี้ ไบรอันท์ อดีตซูเปอร์สตาร์ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่ ชิคาโก้ บูลส์ ก็รีไทร์เสื้อเบอร์ 23 ให้กับดาวค้างฟ้าอย่าง ไมเคิ่ล จอร์แดน
คือหากดูจากตัวอย่างทั้งหมดที่เรายกมา แล้วเทียบกับกรณีของ จู๊ด เบลลิงแฮม เราจะเห็นได้เลยว่า เจ้าหนูวัย 17 ปีของ เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ไม่ได้มี Story ที่โดดเด่นเท่ากับพวกตำนานเหล่านั้นเลยจริงๆ
1
แถลงการณ์จากสโมสร เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ต่อการตัดสินใจครั้งนี้ เขียนไว้ว่า
“ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ อันน่าทึ่งนี้ จู๊ดได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของ Blues (ฉายาของเบอร์มิงแฮม) เขาแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เขาทำได้ผ่านพรสวรรค์, การทำงานหนัก และการอุทิศตนของเขา”
“ความเอาใจใส่, อ่อนน้อมถ่อมตน และพฤติกรรมนอกสนามที่น่ารัก ยังทำให้เขาคือแบบอย่างที่น่าประทับใจด้วยเช่นกัน”
“เสื้อเบอร์ 22 จะกลายเป็นสิ่งเดียวกันกับจู๊ด เป็นสิ่งเดียวกับการขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ด้วยวัยเพียง 16 ปี 38 วัน และคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ที่คู่ควร”
“ด้วยเหตุนี้ สโมสรจึงตัดสินใจว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม ที่จะยกเลิกหมายเลขเสื้อนี้เพื่อระลึกถึงหนึ่งในผลผลิตของเรา และเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น”
ทีนี้บรรดาแฟนบอลเบอร์มิงแฮมก็ไม่ค่อยปลื้มสักเท่าไร เพราะในประวัติศาสตร์สโมสร 145 ปี ไม่เคยมีตำนานแข้งคนไหนได้รับเกียรติอะไรแบบนี้เลยสักคน ทั้งที่หลายๆ คนรับใช้สโมสรนานกว่า 10 ปี บางคนเคยยิงประตูให้ทีมไม่น้อยกว่า 200 ลูกด้วยซ้ำ
ตัวอย่างคอมเมนต์ของแฟนบอลเบอร์มิงแฮมที่อังกฤษ ซึ่งปรากฏบนทวิตเตอร์ก็อย่างเช่น “นี่คือเรื่องน่าอับอายที่สุด เท่าที่สโมสรฟุตบอลสโมสรหนึ่งเคยทำมา”
บางคนก็บอกว่า “นี่คือเรื่องที่สิ้นคิดที่สุด เท่าที่ผมเคยเจอมาในชีวิตเลย”
ทีนี้เราจะมาดูกันว่า จู๊ด เบลลิงแฮม มีความพิเศษอะไรตรงไหนบ้าง ถึงสมควรได้รับเสื้อเบอร์ 22 ของสโมสรไปครองตลอดกาลแบบนั้น?
จู๊ด เบลลิงแฮม เข้าสู่อะคาเดมี่ของ เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบในปี 2010 และด้วยพรสวรรค์ที่สูงเกินวัย ทำให้เขากระโดดข้ามรุ่นไปเล่นกับพวกพี่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
ตอนที่อายุ 14 เบลลิงแฮม ลงเล่นให้ทีมชุดยู-18 ก่อนที่จะขยับขึ้นไปเล่นให้ทีมชุดยู-23 ตั้งแต่อายุเพียง 15 ปี
ในเดือนมีนาคม 2019 นิตยสาร โฟร์โฟร์ทู ของอังกฤษ จัดให้เขามีชื่อติดหนึ่งใน 50 นักเตะดาวรุ่งที่น่าจับตามองที่สุดของวงการฟุตบอลอังกฤษ และนั่นทำให้หลายๆ ทีมในยุโรป เริ่มส่งแมวมองมาจับตาดูพัฒนาการของเขา
จนกระทั่งถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2019 เขาได้ทำลายสถิติเป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ลงเล่นให้ทีมชุดใหญ่ของ เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ด้วยวัยเพียง 16 ปี 38 วัน เมื่อถูกส่งลงสนามในเกม คาราบาว คัพ รอบแรก นัดที่บุกไปแพ้ พอร์ทสมัธ 3-0
จากนั้นวันที่ 31 สิงหาคม 2019 เบลลิงแฮม กลายเป็นซูเปอร์ซับ ลงไปซัดประตูชัยพาทีมพลิกแซงชนะ สโต๊ค ซิตี้ 2-1 ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่ยิงประตูให้ทีมลูกโลกชุดใหญ่ ด้วยวัย 16 ปี 63 วัน
1
หลังจากนั้น จู๊ด เบลลิงแฮม ค่อยๆ เบียดแทรกรุ่นพี่ขึ้นยึดตัวจริงในทีมได้อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นนักเตะที่สำคัญที่สุด แม้จะมีอายุน้อยที่สุดในทีมก็ตาม
ตำแหน่งหลักของ เบลลิงแฮม คือการเล่นมิดฟิลด์ตัวกลาง แต่มันก็มีหลายครั้งที่ถูกจับไปเป็นกองกลางตัวริมเส้นทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา
จุดเด่นของเขาอยู่ที่การเก็บบอลไว้กับตัวได้ดีมาก มีทักษะการเลี้ยงบอลที่คล่องแคล่ว และความฉลาดในการอ่านจังหวะดักตัดบอล
ก่อนที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จะเป็นผู้ชนะในศึกชิงตัวเจ้าหนูวันเดอร์คิดรายนี้ ทีมที่เป็นข่าวกับ จู๊ด เบลลิงแฮม มากที่สุดก็คือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ต้องการกองกลางตัวต่ำคอยคุมเกม เพื่อรอแทนที่ เนมานย่า มาติช ในอนาคต
1
นอกจาก แมนฯ ยูไนเต็ด แล้ว ยังมีรายงานอีกว่า อาร์เซน่อล, เชลซี, เรอัล มาดริด และ บาเยิร์น มิวนิค ก็พยายามหาทางเจรจาคว้าตัวดาวเตะวัย 17 ปีไปพัฒนาด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่าด้วยฝีเท้าที่เก่งเกินวัย ทำให้ เบลลิงแฮม กลายเป็นนักเตะที่มีมูลค่ามากที่สุดเท่าที่ เบอร์มิงแฮม ซิตี้ มีในทีมชุดฤดูกาล 2019-20
คุณจะไปหานักเตะคนไหนได้อีก ที่เล่นกับทีมท้ายตารางของแชมเปี้ยนชิพ แต่มีทีมยักษ์ใหญ่ยุโรปให้ความสนใจ?
แล้วมันประจวบเหมาะพอดี ที่ เบอร์มิงแฮม ในช่วงหลายปีหลัง กำลังประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก
1
เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกในปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่พวกเขาคว้าแชมป์ คาร์ลิ่ง คัพ ด้วยการเอาชนะ อาร์เซน่อล 2-1 ในนัดชิงแบบเซอร์ไพรส์
พวกเขาได้ลุ้นเลื่อนชั้นกลับลีกสูงสุดทันทีในซีซั่น 2011-12 เมื่อจบฤดูกาลปกติด้วยอันดับ 4 แต่น่าเสียดายที่ตกรอบรองชนะเลิศของการเพลย์ออฟเลื่อนชั้น ด้วยน้ำมือของทีมที่ตกชั้นมาด้วยกันอย่าง แบล็คพูล (ซึ่งสุดท้าย แบล็คพูล ก็อดเลื่อนชั้นเช่นกัน เพราะแพ้ เวสต์แฮม ในนัดชิง)
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ไม่มีฤดูกาลไหนอีกเลย ที่ทีมลูกโลกได้ลุ้นเลื่อนชั้นกลับสู่พรีเมียร์ลีก เพราะไม่เคยทำอันดับได้สูงกว่าที่ 10
ไม่ใช่แค่ผลงานในลีกที่ย่ำแย่เท่านั้น แต่การลงเล่นบอลถ้วยก็ร่วงตกรอบอย่างรวดเร็วตลอด ซึ่งสถิติบอกว่า นับตั้งแต่ฤดูกาล 2012-13 จนกระทั่งปีนี้ พวกเขาไม่เคยไปไกลเกินกว่ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ทั้งในถ้วย ลีก คัพ และ เอฟเอ คัพ
แน่นอนว่านั่นส่งผลต่อโอกาสเพิ่มรายได้จากค่าตั๋วเข้าชมและลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด จนทำให้ระหว่างปี 2015-2018 เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ขาดทุนถึง 48 ล้านปอนด์ ซึ่งผิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ของสมาคมฟุตบอลลีกอังกฤษ (อีเอฟแอล) เพราะในกรอบเวลา 3 ปี แต่ละทีมขาดทุนได้สูงสุดคือ 39 ล้านปอนด์เท่านั้น
สาเหตุที่ขาดทุนมากขนาดนั้นเพราะการใช้งบประมาณเกินตัวในช่วงซัมเมอร์ 2017 ที่ลงทุนไปถึง 23 ล้านปอนด์ ซึ่งสำหรับทีมที่เล่นในลีกรอง นั่นคือเงินจำนวนมหาศาล
แต่กลายเป็นว่าผลงานในสนามไม่ได้เรื่อง จนต้องเปลี่ยนกุนซือถึง 3 ครั้ง และจบฤดูกาล 2017-18 แค่อันดับ 19
การผิดกฎ ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ ทำให้ เบอร์มิงแฮม ต้องออกสตาร์ทซีซั่น 2018-19 ด้วยการโดนหักถึง 9 แต้ม ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อโอกาสลุ้นเลื่อนชั้นให้ยากขึ้นไปอีก และมันก็เป็นอีกปีที่พวกเขาอยู่ในโซนท้ายตาราง เมื่อจบฤดูกาลแค่อันดับ 17
แน่นอนว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ เบอร์มิงแฮม จะต้องขาดทุนมากขึ้นอีกแน่ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างให้เร็วๆ
ทำให้ในช่วงซัมเมอร์ปี 2019 พวกเขาต้องตัดสินใจขายดาวยิงตัวเก่งอย่าง เช อดัมส์ ออกไปให้ เซาธ์แฮมป์ตัน ด้วยราคาสถิติสโมสรถึง 15 ล้านปอนด์
อย่างไรก็ตาม นั่นยังไม่ใช่เม็ดเงินที่ทำให้สโมสรรอดพ้นการมีบัญชีเป็นตัวแดงได้ แม้จะเป็นนักเตะที่ดีที่สุดเท่าที่ทีมมีเมื่อฤดูกาลที่แล้วก็ตาม
หลังจากนั้น พอมาถึงซีซั่นนี้ ผลงานของทีมก็ยังไม่กระเตื้อง มันจึงแทบมองไม่เห็นเลยว่าพวกเขาจะหาทางทำกำไรได้ยังไงในเวลาอันสั้น
จนกระทั่งการโผล่ขึ้นมาแจ้งเกิดของ จู๊ด เบลลิงแฮม นี่แหละ ที่ทำให้สโมสรค้นพบสมบัติล้ำค่าที่จะสร้างเม็ดเงินที่ต้องการได้หากขายให้ทีมใหญ่ ซึ่งรับประกันได้เลยว่าจะขายออกไปในราคาสถิติสโมสรอย่างแน่นอน
สุดท้าย โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ก็เป็นทีมที่ทุ่มเงินเอาตัวไป เมื่อพร้อมจ่ายค่าตัวเบื้องต้นทันที 25 ล้านปอนด์ โดยมีออปชั่นเสริมที่อาจทำให้ค่าตัวพุ่งสูงถึง 30 ล้านปอนด์ในอนาคต ซึ่งถือเป็นราคาที่แพงที่สุดในโลกสำหรับนักเตะอายุ 17 ปี
“อายุ 17 ปี” นะครับ ไม่ใช่ “ไม่เกิน 17 ปี” เพราะในเดือนพฤษภาคมปี 2017 เรอัล มาดริด เคยทุ่มเงินคว้าตัว วินิซิอุส จูเนียร์ ล่วงหน้าจากฟลาเมงโก้ ตอนที่อายุแค่ 16 ปีเศษๆ ด้วยค่าตัว 46 ล้านยูโรมาก่อนแล้ว
นอกจากจำนวนเงินที่ เบอร์มิงแฮม ซิตี้ พอใจแล้ว สิ่งที่ทำให้ทีมเสือเหลืองเป็นผู้ชนะในดีลนี้ ก็คือการการันตีจำนวนนัดที่ เบลลิงแฮม จะได้ลงสนาม
โดยรายงานข่าวจาก สกาย สปอร์ตส์ ระบุว่า ดอร์ทมุนด์การันตีว่าจะให้ เบลลิงแฮม ลงเล่นเกมลีกไม่น้อยกว่า 30 นัด ถ้าไม่มีปัญหาบาดเจ็บหรือติดโทษแบน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมใหญ่ทีมอื่นไม่สามารถให้ได้
สุดท้ายเลยกลายเป็นว่า เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ได้เงินในการมากอบกู้วิกฤติ จากการขายผลผลิตจากอะคาเดมี่ของตัวเอง ซึ่งในประวัติศาสตร์สโมสร พวกเขาไม่เคยสร้างเด็กปั้นที่มีมูลค่าสูงเท่านี้มาก่อนเลย
แน่นอนว่า จู๊ด เบลลิงแฮม ยังไม่ได้ฝากผลงานในสนาม ในระดับที่จะบอกได้ว่าเขาคือตำนานของ เบอร์มิงแฮม ซิตี้
แต่สิ่งที่เขาทำได้ ไม่เคยมีนักเตะทีมลูกโลกคนไหนทำได้มาก่อนเลย ตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน
เด็กอายุ 17 ปีที่โผล่ขึ้นมาเล่นให้ทีมชุดใหญ่ปีแรกแล้วกลายเป็นดาวดังของทีมทันที ก่อนย้ายจากทีมท้ายตารางแชมเปี้ยนชิพไปสู่ยักษ์ใหญ่ในยุโรป ด้วยราคาที่เป็นประวัติการณ์ คุณเคยเห็นผู้เล่นแบบนี้ด้วยหรือ?
เพราะฉะนั้นการที่เสื้อเบอร์ 22 ของ เบอร์มิงแฮม ซิตี้ มันจะกลายเป็นของเขาไปตลอดกาล มันก็อาจจะสมเหตุสมผลแล้วก็เป็นได้
#เสียบสามเหลี่ยม #JudeBellingham #Bellingham #Birmingham #BCFC #Dortmund #BVB #Bundesliga
ชอบกดไลค์ ถูกใจกดแชร์ และเพื่อไม่พลาดบทความคุณภาพจากเรา อย่าลืมกดไลค์เพจ และติดตามเพจแบบ See First ไว้เลยนะครับ
..สนใจติดต่อลงโฆษณา, สนับสนุนเพจ ติดต่อจ้างงานเขียนบทความฟุตบอล งานแปลข่าว เขียนสคริปต์สำหรับ Content ฟุตบอล หรือแปลหนังสือฟุตบอล ทักอินบ็อกซ์ สอบถามได้ตลอดเวลาครับ
โฆษณา