ทำไมทำกับเราแบบนี้!
.
เมื่อคุณแฟนดูหนังที่มีตอนจบอันแสนปวดร้าว ทำร้ายจิตใจ เธอจะมีประโยคนึงที่พูดอยู่บ่อยๆ “อยากโทรไปถามผู้กำกับจังเลย ทำไมทำกับเราแบบนี้” ด้วยความอินเกินเบอร์ของเธอ บางครั้งจึงเกิดอาการ “หนังจบคนไม่จบ” คือซึมต่อเนื่องไปอีกหลายวัน ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยมีประสบการณ์แบบนี้เช่นกัน แล้วเคยสงสัยไหมว่า ทำไมเราจำฉากจบอันน่าสะเทือนใจเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ ชนิดฝังอยู่ในหัวครบทุกรายละเอียด เมื่อเทียบกับฉากจบแบบ happy ending ที่มักจำได้เพียงเลือนลางเท่านั้น แล้วทำไมผู้กำกับหลายคนถึงชอบจบคีย์นี้เหลือเกิน เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆกันครับ
.
นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์จาก University of Chicago นามว่า John T. Cacioppo ได้ทำการทดลอง โดยให้ผู้ร่วมทดลองมองภาพ 3 ประเภท ดังนี้ 1.ภาพที่ก่อให้เกิดอารมณ์ทางบวก(พิซซ่า,รถสปอร์ต) 2.ภาพที่ก่อให้เกิดอารมณ์กลางๆ(จานชาม, ไดร์เป่าผม) 3.ภาพที่ก่อให้เกิดอารมณ์ทางลบ(หน้าตาที่ผิดแปลกจากการกลายพันธุ์, ศพหมา ศพแมว) แล้วสังเกตกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในสมองส่วน Cerebral Cortex ซึ่งดูแลเรื่องการประมวลผลข้อมูล ผลก็คือ..เมื่อเรามองภาพที่น่ากลัวหรือน่าหดหู่ จะทำให้เกิดกระไฟฟ้าในสมองมากกว่าภาพอีก2ประเภทอย่างมีนัยยะสำคัญ สั้นๆคือ สมองชอบเรื่องลบๆครับ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะ ตั้งแต่อดีตกาล มนุษย์ต้องเอาตัวรอดจากภัยอันตรายรอบด้าน สมองจึงสร้างระบบป้องกันตัวอัตโนมัติขึ้นมา ด้วยการทำให้มนุษย์สังเกตเห็นสิ่งที่ “อาจเป็นภัย” ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ นี่ยังเป็นเหตุผลที่ใช้อธิบายพฤติกรรมชอบจับผิดชอบติเตียนของมนุษย์ได้ด้วย (ผมรู้สึกว่าระบบป้องกันตัวอันนี้มันทำงานดีเกินไปหน่อยสำหรับคนไทย -*-) ข่าวร้ายต่างๆ รวมถึงดราม่าบนโซเชียลจึงได้รับความสนใจมากกว่าข่าวดีเสมอ ถ้าเป็นช่วงนี้ก็อย่างเช่น บทความหรือคอนเทนต์ที่มีคำว่า ฌอน อยู่ในเนื้อหา ก็จะขายดีเป็นพิเศษนั่นเอง
.
กลับมาที่ภาพยนตร์ของเรา มีเรื่องไหนบ้างที่ดูจบแล้วเหมือนผู้กำกับเอามีดเสียบคาไว้ที่อกผู้ชม La La Land, The Mist, The Boy In The Striped Pyjamas, Old Boy(2003) แค่ชื่อหนังก็ทำให้เราครวญครางด้วยความเจ็บปวดแล้ว รักที่ไม่สมหวัง ฉากหักมุมที่รุนแรง เรื่องพวกนี้สมองเรามันโปรดปรานนักแล ผู้กำกับหลายคนชอบจบหนังของตนเองในสไตล์นี้ แต่ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาเขียนบทให้สอดคล้องตามเหตุผลทางวิทยาศาสตร์หรอกนะครับ ผู้กำกับสายดาร์คส่วนใหญ่มักพูดว่า “ในโลกความเป็นจริง ฉากจบที่สวยงามแทบไม่เคยเกิดขึ้น พอเราใช้ชีวิตไปสักระยะ การเขียนบทแบบ happy ending ดูจะเป็นการฝืนธรรมชาติไปหน่อย” ซึ่งพอมาคิดดูดีๆ ทุกคนก็คงเห็นพ้องกับประโยคนี้
.
ผลกระทบอีกอย่างที่ผมคิดว่าสำคัญมากๆคือ หนังที่จบแบบหดหู่ มักจะทำให้เรามองชีวิตตัวเองในแง่บวกมากขึ้น เหมือนเป็นการเตือนสติว่า ปัญหาที่เรากำลังเผชิญ แม่มโคตรกระจอกเลย เมื่อเทียบกับสิ่งที่ตัวละครเหล่านี้ต้องเจอ เป็นการเปิดโลก หรืออีกนัยหนึ่ง “ขยายความเข้าใจ” ที่แสนจะจำกัดของมนุษย์ ซึ่งนี่ก็เป็นข้อดีอันใหญ่ๆของหนังประเภทดังกล่าวเลยก็ว่าได้
.
ถึงจะเป็นอย่างงั้น!!! ผมก็ชอบฉากจบแบบ happy ending อยู่ดีครับ ฮ่าๆๆ มีหนังหลายเรื่องที่อยากจะเปลี่ยนตอนจบมันเหลือเกิน แค้นใจสุดๆก็คงจะเป็น Blade Runner 2049 ที่ตอนจบ(มีสปอยล์นะ แต่อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงต้องไปต่อจนจบแล้วหล่ะ-*-) พระเอกที่เราเอาใจช่วยมาตั้งแต่เริ่มเรื่อง มนุษย์สังเคราะห์ที่มีจิตใจและความรู้สึกมากกว่ามนุษย์จริงๆซะอีก แล้วเฮีย Denis Villeneuve กลับให้พระเอกคนนี้ตายซะงั้น! เรื่องนี้ผมให้10/10 แต่คงไม่กลับไปดูซ้ำแน่ๆ ต้องไปเห็นพระเอกตายอีกรอบเนี่ยนะ..ไม่ มี ทาง จังหว่ะนั้นเลยเข้าใจหัวอกคุณแฟน เพราะเราเองก็อยากโทรไปถามเดนีส์ วิลเนิฟว์เหมือนกันว่า ทำไมนายทำกับเราแบบเน้!