26 ก.ค. 2020 เวลา 15:54 • สุขภาพ
ยืนหยัด หรือ ยินยอม...
วันหลังจากที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการโควิด... เมื่อได้มีโอกาสไปตลาดตามที่ต่างๆ ก็ยังได้เห็นคนไทยใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง และระมัดระวังตัวโดยเฉพาะเมื่อเจอใครไม่ใส่หน้ากากเข้ามาใกล้...
คิดในใจว่า คนไทยนี่ (โค-ตระ) น่ารักเลยยย... คงเป็นเพราะเห็นใจที่คุณหมอพยาบาลลำบากกัน ยอมเสียสละ เสี่ยงต่อสู้กับโรคจนไม่ได้หลับได้นอน เจ็บป่วยกันไปหลายคน...จึงพร้อมใจกันลดความเสี่ยงในการแพร่โรค จนได้รับคำชื่นชมให้เป็นตัวอย่างไปทั่วโลก...
ใครจะหาเหตุว่า ทำไมคนไทยถึงติดโรคน้อยตายน้อย... โดยอ้างเหตุสารพัดสารเพยังไงก็ช่างเถอะ... นี่แหละคือคนไทย... ที่มีความเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือกัน และพร้อมเสียสละความสะดวกส่วนตนเพื่อสังคม...
ชาวตะวันตกมักเป็นผู้ที่รักอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง (freedom & autonomy) ให้ความสำคัญกับการยืนยันตัวเอง (assertiveness) และความเป็นปัจเจกบุคคล (individuality) มากกว่ากลุ่ม (collectivity)...
แนวคิดแบบหยวนๆ ยอมๆ ให้อภัยไม่ถือสาหาความ ถูกนิยามว่าเป็นลักษณะของการยอมตาม (appeasement) ซึ่งทำให้นึกถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร (United Kingdom) ในสมัยก่อนเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 (Neville Chamberlain) ที่ใช้นโยบายอะลุ่มอะล่วยกับเยอรมันสมัย Adolf Hitler จนถูกหลอกเสียทีในสมัยเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2...
แนวคิดทางตะวันตกจึงมักให้ยืนหยัด ไม่ประนีประนอม (compromise)...
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก (Iron lady) ของอังกฤษ Magaret Thatcher ที่มีผู้กล่าวขานไว้ว่า... 'She always preferred to winning a fight to reaching a compromise'
ในอเมริกาเอง ก็มีคำพูดประมาณว่า... 'If you are right you should fight to an end' หรือ คำพูดของ Andrew Grove ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Intel ที่เขียนหนังสือจ่าหัวเรื่องว่า... 'Only the paranoid survive'... (ผู้ที่คอยระแวงระวังเท่านั้นที่อยู่รอด...)
เคยมีคนเปรียบเทียบชาวตะวันตกและตะวันออกว่า... ชาวตะวันตกมักเก่งที่จะเรียนรู้วัตถุและสิ่งต่างๆ ภายนอก (external) สามารถค้นพบกฎเกณฑ์ธรรมชาติและนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างเทคโนโลยีและพยายามเอาชนะธรรมชาติเพื่อให้เกิดประโยชน์กับตน...
ในขณะที่ชาวตะวันออกมักเก่งที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ภายใน (internal) ด้านจิตวิญญาณ การเข้าถึงตัวตนและจิตใจ มุ่งเอาชนะกิเลสความทะยานอยากภายใน และเรียนรู้ที่จะอยู่อาศัยและโอนอ่อนผ่อนตามไปกับธรรมชาติ...
ในระยะหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ประเทศทางตะวันตกจึงมีอำนาจทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และทางทหารที่เหนือกว่าจนกลายเป็นเจ้าอาณานิคม...
แต่เมื่อกระแสโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งด้านความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและจิตวิญญาณ... ชาวตะวันออกได้เรียนรู้และมีความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ในขณะที่ชาวตะวันตกเริ่มให้ความสนใจในเรื่องการเติบโตทางจิตวิญญาณ...
ในด้านจิตวิทยานั้น คนที่ก้าวร้าว (aggression) คือ คนที่ขาดกลัว (fear) ขาดความมั่นคงทางอารมณ์... ประมาณว่า คนที่ขาดกลัวและระแวง จะเป็นฝ่ายเริ่มโจมตีหรือทำร้ายผู้อื่นก่อน... ตรงข้ามกับบุคคลที่มีความมั่นคงในจิตใจ กลับจะนิ่งเงียบ ใจเย็น ไม่ริเริ่มแสดงความก้าวร้าวหรือคุกคามผู้อื่น...
ในทำนองเดียวกัน คนเก่งและมีของ... มักไม่กลัวที่จะแบ่งปัน ถ่ายทอด... เพราะมีอยู่เยอะ สามารถสร้างสรรค์ใหม่ได้ง่าย... ตรงข้ามกับคนที่หวงของ มักไม่เก่งจริง มีของอยู่น้อย สร้างได้ไม่ง่าย หรือ อาจเป็นเพราะนิสัยเป็นคนแบบนั้น...
คนเก่งจริง มีดี มักถ่อมตน ไม่โอ้อวด ตรงข้ามกับคนที่พยายามพูดจายกตนชูคอให้คนได้เห็นความสามารถ... เคยมีผู้เปรียบคนสองกลุ่มเหมือนรวงข้าว... คนเก่งจริงมักเหมือนรวงข้าวที่มีเม็ดข้าวอยู่เต็มฝัก ก็จะหนักและโน้มลงต่ำ ต่างจากฝักกลวงที่จะเบาชูรวงตระหง่านให้ใครๆ ได้เห็น...
โลกนี้เคยถูกแบ่งแยกให้เป็น ประเทศที่พัฒนาแล้ว และ ประเทศที่ด้อยพัฒนา โดยวัดจาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product, GDP) ต่อประชากรว่า ต้องถึงระดับตัวเลขเท่าไหร่ จึงจะจัดว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว...
บางทีก็ถูกเรียกว่า เป็นประเทศที่มีหรือไม่มี อารยธรรม (civilization)...
แต่วิกฤตโควิดครั้งนี้ อาจทำให้นิยามของ อารยธรรม เปลี่ยนไป โดยเฉพาะสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องตกค้างอยู่ในประเทศไทย และได้รับการดูแลช่วยเหลือไม่ว่าจะจากรัฐบาล แพทย์พยาบาล และน้ำใจจากพี่น้องชาวไทย...
#ChillChatAtWork #COVID-19
อย่าลืมกด Like & กด Follow (และตั้งค่าเป็น see first) เพื่อจะไม่พลาดเรื่องราวดีๆที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
โฆษณา