27 ก.ค. 2020 เวลา 05:50 • การเมือง
Ep. 2 ชานมข้นกว่าเลือด ‘in milk tea we trust’
กลับมาอีกครั้งกับเรื่อง “ชาๆ” และ “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ในครั้งนี้อชิจะพาทุกคนมาพบกับ ชานมไข่มุกค่ะ แต่เป็นชานมไข่มุกในรูปแบบของทูตทางการเมืองและวัฒนธรรม
สืบเนื่องจาก แฮชแท็ก #พันธมิตรชานม ได้ครองอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย ฮ่องกง และ ไต้หวัน ซึ่งเกิดขึ้นจาก ชาวเน็ตชาวไทย ฮ่องกง และไต้หวันเปิดวอร์กับชาวเน็ตจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อ คนไทยบางคนเผลอแสดงทัศนะขัดกับนโยบาย “จีนเดียว” คิดว่าไต้หวันและฮ่องกงเป็นประเทศ ชาวจีนผู้รักชาติเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก สิ่งที่ชาวเน็ตแดนมังกรงัดมาตอบโต้ชาวเน็ตไทย ได้แก่ "ประเทศไทยน่ะยากจนแถมยังด้อยพัฒนา มาว่าฉันปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่เทียนอันเหมินเหรอ เธอก็มี 6 ตุลาฯ เหมือนกัน สนับสนุนเอกราชไต้หวัน-ฮ่องกงใช่ไหม ถ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของคุณแยกตัวบ้างล่ะจะว่ายังไง" แต่ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะทำอะไรชาวทวิตเตอร์ไทยไม่ได้ และยังทำให้ชาวเน็ตไ้ต้หวัน และ ฮ่องกง ออกโรงมาร่วมด้วย ทำให้เกิดเป็น “พันธมิตรชานม” ขึ้น
แล้วทำไมถึงต้องเป็นชานมไข่มุกกันด้วยนะ? มาทำความรู้จักต้นกำเนิดของชานมไข่มุกอย่างลึกซึ้งขึ้นกันดีกว่าค่ะ
ชานมไข่มุกมีต้นกำเนิดในประเทศไต้หวัน เมื่อประมาณปี 1980 ชานมไข่มุกนั้นเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญล้วนๆ โดย Ms. Lin Hsiu Hui มีความคิดอยากหาสูตรชาใหม่ๆ มาขาย เนื่องจากคนเริ่มเบื่อชาสูตรเก่าๆ กันแล้ว ในตอนนั้นเธอกำลังกินขนมหวานที่เรียกว่าเฟิ่นเหยียน Fen Yuan อยู่ เป็นขนมที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง หนึบๆ คล้ายขนมโมจิของญี่ปุ่น ด้วยความนึกสนุก เขาก็เลยเทเฟิ่นเหยียน Fen Yuan ที่กำลังกินอยู่ ลงไปในชานมเย็นที่วางอยู่ในห้องประชุม แล้วเขาก็ลองชิมแล้วรู้สึกอร่อยดี เลยนำเสนอให้ทุกคนลองชิมดูและก็ได้สูตรใหม่ออกมาเป็น “ชานมไข่มุก” เครื่องดื่มเมนูชานมไข่มุกได้ทำยอดขายถล่มทลาย แซงหน้าทุกเมนูที่เคยมีมาในร้านแห่งนี้ กลายเป็นกระแสไปทั่วไต้หวัน ก่อนที่จะกระจายไปประเทศอื่นๆ กระทั่งเข้ามาในเมืองไทยเมื่อช่วงปี 1990 นี้ และ ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
แล้วชานมไข่มุกกลายมาเป็นตัวแทน ของประชาธิปไตยได้อย่างไร?
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความคิดเห็นต่อ ปรากฏการณ์ “พันธมิตร” ว่าเป็นกังวลว่าเด็กเหล่านี้ที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจถูกชักชวน อาจถูกปลุกมาโดยฟังความข้างเดียว จึงขอให้นักศึกษาทุกคนที่ชุมนุมเวลานี้ช่วยฟังข้อมูลของรัฐบาลที่ได้แถลงออกไปและเลือกฟังดูว่าจะเชื่อทางไหนอย่างไร ในขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียวกันนี้ที่เคยกล่าวเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2562 ขณะต้อนรับนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนว่า “มดน้อยในบางครั้งยังสามารถช่วยพญาราชสีห์ได้" สิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างรัฐบาลไทยกับปักกิ่ง แต่ในความสัมพันธ์ประหว่างประเทศผ่านทางผู้ใช้ทวิตเตอร์ของทั้งสองประเทศไม่ได้เป็นแบบนั้น ผู้ใช้ทวิตเตอร์ไทยไม่ใช่แค่ตอบโต้ชาวจีนชาตินิยมเท่านั้น แต่พวกเขายังตอบโต้ชุดความคิดอนุรักษ์นิยมของรัฐบาลไทยในคราบคสช. อีกเช่นกัน
สิ่งนี้เอง สื่อให้เห็นว่า การปะทะของ 2 ชุดความคิดของคน 2 รุ่น หรือ generational gap ระหว่างประชาธิปไตยอนุรักษนิยมแบบเดิมๆ กับประชาธิปไตยสากลของคนไทยรุ่นใหม่ เกิดขึ้นตลอดเวลา และ เกิดขึ้นได้แบบไร้พรมแดน
นอกจากนี้ เจิ้ง เหวินชาน นายกเทศมนตรีเมืองเถาหยวนของไต้หวัน ทวีตข้อความขอบคุณเพื่อนจากประเทศไทย ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ทวีตข้อความอวยพรวันสงกรานต์ให้คนไทย ขณะที่โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวสัญลักษณ์ประชาธิปไตยฮ่องกง ทวีตข้อความ มีความหวังเรื่องการสร้างแนวร่วมใหม่ทั่วเอเชีย ต่อต้านอำนาจนิยมทุกรูปแบบ ซึ่งโจชัว หว่องก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนักศึกษาในหลายประเทศเอเชีย
ดังนั้น แฮชแท็ก #พันธมิตรชานม นั้นไม่ใช่แค่การที่ม่ีความเห็นที่ไม่ตรงกันของ 2 ฝ่าย เพียงเท่านั้น แต่ยังสื่อได้อีกว่า ความเป็นปึกแผ่น (Solidarity) ทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร้พรมแดน และ ไร้ขีดจำกัด
สงครามตัวแทนชุดความคิดนี้เองจึงเป็นที่มาว่าทำไม “ชานมจึงข้นกว่าเลือด” ได้
โฆษณา