27 ก.ค. 2020 เวลา 15:35 • ประวัติศาสตร์
ซีรีส์ “นักกายวิภาคศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ในตัวคุณ!!!”
EP II: Galen the medical prince
EP II: Galen the medical prince
ความเดิมจากตอนที่แล้ว หลังจากที่หมอเกเลนได้ฝึกปรือทักษะและเก็บชั่วโมงบินจากการรักษาบรรดาเหล่านักสู้กลาดิเอเตอร์ไว้เป็นโปรไฟล์ไปบ้างแล้วนั้น ก็ถึงคราวที่หมอเกเลนจะได้ออกเดินทางไปยังสถานที่แห่งใหม่เพื่อไปเปิดหูเปิดตาเรียนรู้ประสบการณ์อันแปลกใหม่กันต่อที่กรุงโรมแล้วครับ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อนั้น โปรดติดตามอ่านกันได้ใน EP. นี้เลยครับ
ภาพ กรุงโรม
ในปี ค.ศ. 162 หมอเกเลนได้ย้ายไปอยู่กรุงโรมที่ซึ่งเต็มไปด้วยชุมชนของมิจฉาชีพผู้อ้างตนว่าเป็นแพทย์ ในไม่ช้าหมอเกเลนก็โดดเด่นจนเป็นที่เลื่องลือในด้านการถ่ายทอดความรู้อันล้ำเลิศและเป็นแพทย์ผู้ช่ำชอง
ซึ่งถ้าว่ากันตามเรื่องราวที่ได้ถูกเล่าขานไว้ สาเหตุที่หมอเกเลนมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมานั้น ก็น่าจะมาจากการที่เขาได้ให้การรักษาแก่เหล่าบรรดาผู้ป่วยที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็น อูเดมุส (Eudemus) – นักปรัชญาและผู้ที่คอยชี้แนะคนแรกๆของเกเลน  และฟลาวิอุส เบธุส (กงสุลและผู้ที่จะได้รับเลือกให้เป็นเสนาบดีแห่งปาเลสไตน์ในเวลาถัดมา) รวมไปถึงจักรพรรดิโรมัน มาร์กุส เอาเรลิอุส (Marcus Aurelius) ดั่งที่จะได้กล่าวต่อไป
จากการที่เกเลนประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการรักษาอูเดมุสที่ต้องทนทุกข์เจ็บป่วยจากไข้วันเว้นสองวัน (quartan fever) (ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นมาลาเรีย) เนื่องด้วยผลงานในครั้งนี้จึงทำให้สถานะของหมอเกเลนได้รับการยกย่องให้สูงขึ้นในหมู่สังคมชนโรมัน
ภาพ หมอเกเลนให้การรักษาแก่ผู้ป่วย
แต่ถึงกระนั้นด้วยความที่ไม่มีใครมีกิตติศัพท์เทียบเคียงกับเขาได้ ร่วมกับการที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ทักษะฝีมือของแพทย์คนอื่นๆ ในกรุงโรมจึงทำให้เขาถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงจนต้องย้ายหนีกลับมาอยู่ที่เมืองเพอร์กามัม ในปี ค.ศ. 166
แต่ถึงอย่างไรก็ตามด้วยชื่อเสียงเรียงนามอันเรืองระบือของเกเลนทำให้จักรพรรดิโรมันนาม มาร์กุส เอาเรลิอุส (Marcus Aurelius) และ ลูกิอุส เวรุส (Lucius Verus) ได้ทำการเรียกตัวเขาไปยังทางตอนเหนือของอิตาลีในปี ค.ศ. 168 เพื่อรับใช้กองกำลังที่กำลังรบพุ่งอยู่กับพวกชนเผ่าเยอรมัน
ภาพ จักรพรรดิโรมัน มาร์กุส เอาเรลิอุส (Marcus Aurelius)
ถัดมาในปี ค.ศ. 169 ซึ่งเป็นช่วงที่กรุงโรมทำศึกสงครามกับโรคระบาดอยู่นั้น เกเลนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ส่วนพระองค์ของจักรพรรดิ มาร์กุส เอาเรลิอุส และโอรสของเขานาม ก็อมมอดุส (Commodus) รวมทั้งยังได้เป็นแพทย์ส่วนพระองค์ให้แก่แซ็ปติมิอุส แซเวรุส (Septimius Severus) ซึ่งถือได้ว่าเป็นจักรพรรดิผู้ประสบความสำเร็จในการปกครองอาณาจักรโรมันตราบกระทั่งสิ้นพระชนม์
ภาพ กรุงโรมถูกโจมตีโดยโรคฝีดาษ/ไข้ทรพิษ (smallpox)/โรคระบาดแอนโทนีน (Antonine Plague)
แอดขอเล่าเสริมเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเพิ่มเติมอีกสักนิดเกี่ยวกับโรคระบาดที่ว่านี้ อันที่จริงแล้วโรคระบาดที่โจมตีกรุงโรมในช่วงเวลานั้นก็คือ โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (smallpox) นั้นเองครับ การระบาดนั้นเกิดขึ้นในช่วงราวๆ ปี ค.ศ.165 – 180 และโรคระบาดที่ว่านี้ต่างก็เป็นที่รู้จักกันในนามของ “โรคระบาดแอนโทนีน” (Antonine Plague) ด้วย
ซึ่งหลายท่านอาจสงสัยว่า ชื่อที่ว่านี้ได้มาจากไหนกัน? คือแอดอยากให้ทุกท่านย้อนกลับไปนึกถึงจักรพรรดิ มาร์กุส เอาเรลิอุส กันสักชั่วครู่ หากท่านผู้อ่านได้รู้ถึงพระนามเต็มของจักรพรรดิ มาร์กุส เอาเรลิอุส แล้วทุกท่านจะลอง “อ๋อ!!!”
คืออย่างนี้ครับ พระนามเต็มของจักรพรรดิผู้นี้มีอยู่ว่า “มาร์กุส เอาเรลิอุส แอนโทนินุส” เริ่มสังเกตเห็นอะไรกันบ้างแล้วหรือยังครับ? ใช่แล้ว ที่มาของชื่อโรคระบาดแอนโทนีนนั้นก็ไม่ได้มีที่มาที่ไปที่ซับซ้อนแต่อย่างใด ในเมื่อโรคดังกล่าวเกิดการระบาดในรัชสมัยของพระองค์ ถ้าอย่างนั้นเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำห้วงเวลาที่โรคระบาดนี้โจมตีกรุงโรม จึงมีการนำชื่อในส่วนท้ายของจักรพรรดิ มาร์กุส เอาเรลิอุส  มาใช้ตั้งเป็นชื่อเรียกโรคระบาดที่ว่านี้ นั้นเองครับ
กลับมาต่อที่เรื่องของหมอเกเลนกันครับ...
นอกเหนือไปจากการฝึกฝนวิชาทางการแพทย์แล้ว หมอเกเลนยังได้ส่งต่อและสอนสิ่งที่เขาศึกษาไว้ อีกทั้งเขายังคอยปลุกปั้นงานเขียนมาโดยตลอดระยะเวลาที่เขาอาศัยอยู่ใต้ร่มเงาแห่งจักรวรรดิโรมัน ในระหว่างที่เขาได้ผลิตงานเขียนออกมามากกว่า 500 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ความเรียง ซึ่งถ้าหากนำมารวมๆกันแล้วเขาได้เขียนไปทั้งหมดทั้งสิ้นกว่าสี่ล้านคำ
มีเพียงก็แค่ส่วนหนึ่งของงานของเขาเท่านั้นที่ได้รับการเก็บรักษาไว้จากเพลิงที่ลุกไหม้เผาวิหารพีซ (temple of Peace) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 191   ความเรียงว่าด้วยปรัชญาจำนวนมากของเขาถูกทำลายสิ้น แต่ถึงกระนั้น แม้ว่าจะมีการสูญเสียครั้งนี้เกิดขึ้น แต่เกเลนก็ยังคงใช้เวลาถัดจากนั้นอีก 2 – 3 ปี เพื่อสานต่องานเขียนทางการแพทย์รวมถึงสรรสร้างผลงานหลักๆอีกหลายชิ้นของเขา
ภาพ วิหารพีซ (temple of peace)
เกเลนเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 200 ด้วยอายุ 70 ปี   จักรพรรดิ มาร์กุส เอาเรลิอุส ได้ตรัสเป็นเกียรติแก่เกเลนไว้ว่า “เป็นคนแรกและหนึ่งเดียวในท่ามกลางหมู่แพทย์ที่เป็นทั้งนักปราชญ์และแพทย์”
ทั้งนี้ระบบทางการแพทย์ที่อิงตามการทำงานของหมอเกเลนรวมถึงศัพท์ที่ใช้นั้นยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมานานนับพัน ๆปี ซึ่งนั้นอาจแสดงถึงความเป็น “ลัทธิเกเลน” (Galenism)  และจากการที่หมอเกเลนเป็นผู้รวบรวมพืชสมุนไพรจำนวนมากและส่วนผสมชนิดอื่น ๆไว้ จึงทำให้เกิดคำศัพท์เฉพาะขึ้น อย่างคำว่า “Galenicals”  ซึ่งคำดังกล่าวที่คิดค้นขึ้นนี้ ถูกนำมาใช้เรียก “การเตรียมยาตามตำรับเกเลน” แอดคาดว่าคำๆนี้น่าจะเป็นที่คุ้นหูในแวดวงของเภสัชกร
ถึงแม้เรื่องราวจะดำเนินมาถึงวาระสุดท้ายหมอเกเลน แต่! เรื่องเล่าของหมอเกเลนที่แอดนำมาเล่าจะยังคงไม่จบลงเพียงเท่านี้ ยังเหลือประเด็นสำคัญๆ อีกมากที่เกี่ยวข้องกับหมอเกเลนที่แอดยังไม่ได้เล่าถึง ไม่ว่าจะเป็น ผลงานและวิธีการศึกษาทางกายวิภาคศาสตร์ของหมอเกเลน ตลอดถึงสาเหตุของการที่ความรู้ทางการแพทย์ที่หมอเกเลนเป็นผู้ค้นพบถูกส่งต่อกันมายาวนานราว 15 ศตวรรษ!!! ซึ่งความรู้ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นนี้แทบจะไม่มีการค้นพบความรู้ทางการแพทย์ใหม่ๆเลย จะด้วยเหตุผลอะไรกัน!? โปรดติดตามอ่านในตอนต่อๆไปครับ
อ้างอิงข้อมูล:
Mohammadali, M.S.; Tubbs, R.S.; Ghabili, K. et al (2014). The Roman Empire legacy of Galen (129 – 200 AD). Child’s Nervous System, 2014. DOI:10.1007/s00381-014-2467-7
Parker, S. (2019). A short history of medicine. (p.41). United Kingdom: Dorling Kindersley Limited
อ้างอิงภาพ:
โฆษณา