28 ก.ค. 2020 เวลา 16:23 • การเมือง
23. [ งบ “ดึง” ครูออกจากห้องเรียน หรือ “คืน” ครูสู่ห้องเรียนกันแน่? ]
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่านักเรียนไทยนั้นมีจำนวนชั่วโมงเรียนต่อปีมากถึง 1,000-1,200 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งมากกว่ากลุ่มประเทศ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ที่เป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีจำนวนชั่วโมงเรียนอยู่ที่ไม่เกิน 800 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่สะท้อนผ่านผลการทดสอบ PISA ของประเทศไทยกลับต่ำกว่ากลุ่ม ประเทศ OECD และยังอยู่ในกลุ่มท้ายๆ มาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา
.
“สาเหตุหนึ่งเกิดจากการที่ครูต้องไปทำกิจกรรมอื่นโดยไม่สามารถอยู่สอนนักเรียนในห้องเรียนได้มากถึงปีละ 84 วัน ทำให้นักเรียนมีจำนวนชั่วโมงเรียนจริงๆ เหลืออยู่เพียงแค่ 600 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น จนกระทรวงศึกษาธิการมีความพยายามที่จะรณรงค์ให้ “คืนครูสู่ห้องเรียน” โดยการตัด ปรับลด โครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนและกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนออกหรือให้มีงบประมาณลดลง แต่จากการพิจารณางบประมาณ ของกระทรวงศึกษาธิการในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 กลับพบว่ายังคงมีงบประมาณในการทำโครงการที่มุ่งเน้นการดึงครูออกจากห้องเรียนหรือโครงการที่เป็นการสร้างภาระงานธุรการให้แก่ครูผู้สอนอย่างไม่จำเป็นอยู่เต็มไปหมด อาทิ โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน งบประมาณ 3,827 ล้านบาทเศษ โครงการเสริมสร้างระเบียบวินัย คุณธรรม และจริยธรรม งบประมาณ 171 ล้านบาทเศษ โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษางบประมาณ 154 ล้านบาทเศษ โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา งบประมาณ 141 ล้านบาทเศษ โครงการส่งเสริมและเผยแพร่ความ
จริงที่ถูกต้องเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา 813 ล้านบาทเศษ เป็นต้น เมื่อโครงการเหล่านี้ยังคงอยู่ ก็ย่อมคาดการณ์ได้เลยว่า ประโยคที่รัฐบาลพร่ำบอกว่าจะ “คืนครูสู่ห้องเรียน” นั้น ก็เป็นเพียงการพร่ำเพ้อที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง.
โฆษณา