28 ก.ค. 2020 เวลา 23:06 • การเมือง
28. [ งบไม่ประจำที่ถูกใช้ไป “พราง” ก่อน ]
งบประมาณที่ขาดการตรวจสอบ โดยใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน
.
ในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ได้ระบุไว้ว่า ในกรณีที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกใช้ไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีของปีก่อนไปพลางก่อนได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกำหนด และต้องได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งโดยหลักการแล้ว "การใช้งบไปพลางก่อน" ควรจะต้องใช้ได้เฉพาะ ในกรณีที่เป็นงบค่าใช้จ่ายประจำ อาทิ ค่าใช้จ่ายบุคลากร เงินสงเคราะห์หรือสวัสดิการ ค่าใช้จ่ายที่ได้ก่อหนี้ผูกพันเอาไว้แล้ว ค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินจำเป็น หรือค่าใช้จ่ายคงที่เท่านั้น ไม่สามารถนำเอางบประมาณไปใช้จ่ายในการดำเนินโครงการใหม่ที่ไม่ปรากฏ เป็นโครงการในปีงบประมาณเดิม (พ.ศ.2562) ได้ เพราะหากรัฐบาลใช้เงื่อนไขของการใช้งบประมาณไปพลางก่อน โดยนำงบประมาณไปใช้ในโครงการใหม่ๆ อาทิ บ้านดีมีดาวน์ ชิมช้อปใช้เฟส 3 ฯลฯ ทั้งๆ ที่งบประมาณยังไม่ผ่านการอนุมัติจาก รัฐสภานั้น อาจถูกตีความได้ว่า รัฐบาลมีความจงใจที่จะใช้งบประมาณเพื่ออำพราง และไม่รับผิดชอบต่อรัฐสภาได้
.
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลมักจะอ้างว่าหากได้รับงบประมาณล่าช้าออกไปจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนนั้น เป็นเพียงการกระทำเพื่อกดดันให้สภาผู้แทนราษฎรยอมผ่านและให้ความเห็นชอบงบประมาณที่ไม่เหมาะสมให้กับรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการจับเอาประชาชนเป็นตัวประกันทั้งๆ ที่รัฐสภาควรมีหน้าที่ที่ต้องตรวจสอบการใช้งบประมาณของประชาชนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โฆษณา