9 ก.ย. 2020 เวลา 23:06 • ท่องเที่ยว
ช๕๓_พระตำหนักคำหยาด
ร่องรอยแห่งเปอร์เซีย
.....ถ้าเราติดตามดูงานจากรุ่นพระนารายณ์ที่วังลพบุรี ตลอดจนที่ตำหนักกำมะเลียน อยุธยา ก็ดีเราจะเห็นพัฒนาการของ งานสถาปัตยกรรม การเริ่มศึกษาลักษณะการก่ออิฐสำหรับช่องหน้าต่างที่กำมะเลียนอาจจะเป็นว่ากำมะเลียนเป็นเรือนยาวเลยทำให้การทำทรงท้องสำเภาทำได้ยาก แต่อย่างไรรูปทรงของท้องสำเภานี้ก็นิยมกันทำมาในยุคปลายนี้มากมาย ดังจะเห็นได้จากวัดหลายแห่งที่ยังมีทรงท้องสำเภา ปรากฏอยู่ และภายหลังก็ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างอยุธยาไปเลย
.
นารายณ์ราชนิเวศน์ลพบุรี
ตำหนักกำมะเลียน อยุธยา
.....กำมะเลียนดูเหมือนศึกษาวิธีก่ออิฐมาจากลพบุรีแต่ลพบุรียังดูเป็นเปอร์เซียมังค่าอยู่ยกเว้นหอพระหรือพระเจ้าเหาที่มีการตกแต่งเป็นไทย จากจังหวะและวิธีเปิดช่องหน้าต่างแบบเปอร์เซียนนั้นล้วนมาดูลงตัวเอาที่งานชิ้นนี้ เรือนที่เทินขึ้นเป็นสองชั้นท้องช้างของเรือสำเภาที่ดูลงตัวนุ่มนวลการคลี่คลายโค้งหน้าต่างของเปอร์เซียมาเป็นโค้งของบันแถลง และถ้าดูไปเรื่อยก็จะเห็นว่าช่องหน้าต่างเล็กๆน้อยๆบางครั้งก็ไม่ได้สนใจที่จะใช้สัดส่วนของเปอร์เซียลงมาทั้งหมด มีสัดส่วนโค้งแหลมแปลกๆออกมาหลายอัน จริงๆในสายของอิสลามก็มีการพัฒนารูปแบบแตกต่างกันเล็กน้อยอย่างโมกุลในอินเดีย เปอร์เซียหรืออิหร่านเองก็ดีและงานของมัวร์ในเสปนตอนใต้ แต่ผมก็ไม่มีความรู้พอที่จะตีความแยกประเภทได้ และที่ตำหนักคำหยาดนี้ ทำให้เราเห็นยุคทองของงานสถาปัตยกรรมในอยุธยาจริงๆ ช่างฝีมือที่มาทำงานให้กษัตริย์อยุธยา ในช่วงการสร้างเมืองลพบุรีของพระนารายณ์ตลอดจนสืบยาวมาจนปลายสมัยอยุธยานั้นกลายเป็นช่างเปอร์เซีย ไม่ใช่ฝรั่งอั้งหม้อที่ไหน กลไกของยุคสมัยกำลังพัฒนารูปแบบในตัวของมันเองอยู่ ถ้ากรุงศรีฯยังไม่แตกเราคงได้เห็นทิศทางของงานที่ต่อเนื่องจากจุดนี้
โค้งเปอร์เซีย กลายเป็นบันแถลง
๏๑.คำหยาดหยดเหย่าะย้อย...ลงดิน
เผลอลืมคือองค์อิน.................เหย่าะแย้ม
ร่างรอยเปอรเซียผิน...............นิเวศน์ นารายณ์
เจาะช่องฉลุปรุแง้ม.................สมัยแต้มเชิงเดียวฯ
.
๏๒.บันแถลงแสดงรูปซุ้ม.......ช่องย้อน
ซุ้มเดี่ยวลดซุ้มซ้อน...............ปลายแน้
เสาเหลี่ยมย่อมุมต้อน............บัวแวง
โค้งแหลมเปอรเซียแม้...........เชื่อมแท้แขกไทยฯ
.
๏๓.ตำหนักนี้ดูแท้.............ที่ประทับ
กษัตริย์หนึ่งอยุธยาจับ.....ไอศูรย์แก้ว
ยินบุราณคดีสดับ.............แปลกเสมอ
ได้แต่แลอัสดงแล้ว...........กล่นแก้วโรยรา ฯ
.
.....ยุคสมัยที่มีกระแสทางประวัติศาสตร์เป็นระยะๆตั้งแต่เรื่องการค้นคว้าหาที่ประทับของเจ้าฟ้า
อุทุมพรในพม่าของนักโบราณคดีการพยายามตีความให้กระจ่าง คาดเดา หรือชำระประวัติศาสตร์ สมัยเสียกรุง ตลอดจนเรื่องชาวบ้านบางระจันก็ดี ขุนรองปลัดชูก็ดี ย่อมทำให้เราเห็นว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหน้าเดียวให้เราค้น ประวัติไม่ได้ถูกบันทึกไว้เพียงสายของกษัตริย์เท่านั้น สิ่งที่เราคิดว่าสูญหายหรือคิดว่าเราจะได้ความได้รายละเอียดเพิ่มเติมจากการรับรู้ในปัจจุบันหรือไม่ แต่เราอาจจะต้องมองกลไกของช่วงเวลาจากตำแหน่งนั้นมาถึงเราในวันนี้ว่า สถานการณ์ต่างๆในแต่ล่ะช่วงเวลาที่ผ่านมา บิดเบือนอะไรในประวัติศาสตร์ไปหรือเปล่า หลายช่วงเวลาที่น่าสนใจที่น่าพิจารณาเช่นยุคสมัยของการจะเป็นมหาอำนาจของไทยในช่วงผู้นำยุคสงครามโลกครั้งที่สอง การต้องการให้รัฐไทยเป็นรัฐที่มีรากเหง้า และมีความเป็นชาติอันชัดเจน
.....อย่างที่เราพูดกันวันนี้ว่าชาวบ้านบางระจันเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง ในสมัยอยุธยานั้นความคิดของคนไทยในเรื่องอุดมการณ์เพื่อชาติเป็นอย่างไร ตัวแปรในสมัยนั้นมีอะไรหลายๆอย่างที่อาจจะแตกต่างกันเช่นตอนนั้นเชียงใหม่อยู่กับพม่า นี่ยังมิต้องกลับมาพูดถึงรุ่นลูกๆของพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งยุคที่พระเจ้าบรมโกศยังอยู่นั้นอยุธยาถือว่าเป็นยุคทองของความเจริญยุคหนึ่งเอาทีเดียว เจ้าฟ้าอุทุมพรก็มีตำแหน่งเป็นวังบวร หลังจากเจ้าฟ้ากุ้งที่เป็นพี่คนโตที่บรรดากวีทั้งหลายคงรู้จักกันเป็นอันดีสิ้นหรือถูกประหารแล้ว ความผิดที่เมืองอยุธยาแตก ประวัติศาสตร์ต่างๆล้วนโยนภาระให้พระเจ้าเอกทัศน์ ถึงขนาดว่าทหารรบกับพม่าแล้วตัวเองยังบันเทิงอยู่กับสนมในวังได้ ถ้าเราจะคิดตีความอย่างไรกับประวัติศาสตร์ แม้แต่พงศาวดารก็เป็นเรื่องที่เราต้องพยายามเพียงรับรู้แต่อย่าเพิ่งปักหลัก"ตาม"ความ เพราะอาจทำให้เราเหไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง กับดักของนักประวัติศาสตร์มีเสมอเมื่อคิดตีความต่อเนื่อง
....ในฐานของสถาปนิกซากปรักหักพังโบราณบางครั้งยังไว้ใจไม่ได้เลย เพราะอาจมีการสร้างซ้อนทับกันและลวงเราให้เข้าใจยุคสมัยผิดไปก็ได้ คนโบราณก็นิยมการซ้อนทับโครงสร้างเก่ากัน
๏๔.สละเศวตฉัตรแก้ว..กรุงศรี
สวมเพศบรรชิตที่.........ร่มเร้น
ประดู่ในโรงธรรมชี้.......ครองธรรม
ยังสึกสู้ศึกเค้น..............ม่านเสี้ยนอลองพญา ฯ
๏๕.เพรงอยุธยาจักสิ้น...สุดสมัย
ขัดดิยะอันควรไฉน........กลับว้าง
วังบวรบรมโกศไย..........สละราชย์
เจ้าอุทุมพรม้าง..............ส่งให้เซษฐาฯ
๏๖.กรมขุนพรพินิตเจ้า....อุทุมพร
ครองเพศบรรชิตตอน......เมืองล้ม
ม่านจับเชลยต้อน............กลับคืน
ขุนหลวงหาวัดก้ม............ไป่กู้กรุงศรีฯ
๏๗.ขานว่ามีอัฐิเจ้า...........อโยธยา
"โยเดียเชดี"เมืองพม่า.......อมรปุระนี้
ใช่สถูปกษัตริย์ท้า............สุกสมัย
ยัง"เมงตาสึ"ครัวไทยชี้......หมู่บ้านมัณฑะเลย์ ฯ
.
สถูปพระเจ้าอุทุมพรที่มัณฑะเลย์
๏๘.โฉมเอยอยุธยาค่าล้ำ...พังภินท
โอยสวรรค์ล่มลงดิน..........ลบฟ้า
ทางไปขีดเส้นสิ้น..............แลฤา
กรรมร่วมรวมเราล้า...........โรยแล้งกลายกงฯ
.....สมัยนั้นบริเวณอ่างทองนี้เป็นแหล่งความเจริญ คำว่าอ่างทองไม่ทราบมีหรือยังแต่คำว่าทองก็มาพ้องกับคำว่า"คำ"ในชื่อตำหนักแม้อาจจะไม่เกี่ยวข้อง แต่ตัววิเศษไชยชาญซึ่งเป็นอำเภอในปัจจุบันดูจะได้ยินชื่อคุ้นเคยในการอ้างอิง รุ่นพระเจ้าบรมโกศมีบันทึกมาในพื้นที่นี้การสร้างอาคารระดับพระเจ้าแผ่นดินในพื้นที่นี้นั้น คงมีจุดประสงค์อะไรอยู่บ้าง เท่าที่ฟังมาบอกว่าท่านมาประทับเพื่อทำนุบำรุงพระนอนที่อ่างทองนี่ไม่แน่ใจว่าเป็นท่านขุนอินฯ หรือท่านป่าโมกฯ และรุ่นพระเจ้าอุทุมพรตอนท่านรบชนะพม่าครั้งแรกท่านก็มาใช้ตำหนักหลังนี้ก็น่าสนใจที่จะขบคิดตีความ ชาวบ้านบางระจันอาจจะเป็นเรื่องจริงด้วยหรือไม่ ในพื้นที่บริเวณนี้ที่มีผู้คนชุมชนและมีความเจริญอยู่มาก
.....ในส่วนตัวเรื่องชาวบ้านบางระจันน่าจะมีเค้าเพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งก่อนเข้าอยุธยาของกองทัพพม่า แต่ความคิดของพวกเรานี่เป็นเรื่องอันตรายที่ไปจับความคิดของหนังหรือละครแม้แต่หนังสือที่ทำหรือเขียนเรื่องอิงประวัติศาสตร์ จะเป็นไม้เมืองเดิมก็ดีท่านมุ้ยก็ดีแม้แต่หลวงวิจิตรก็ตาม
.....นี่ผมเพิ่งกลับจากไปดูตะเลงพ่ายของคุณจักรพันธ์มาเมื่อวานนี้(25มกราคม)สนุกมากศิลปินท่านนี้ทำอะไรสวยงามไปหมดทุกรายละเอียด นี่ก็เป็นกับดักความคิดด้วยกระมัง ในหนังละครบางครั้งอาจกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ไปเลยทีเดียว วันก่อนผมเจอน้องคนหนึ่งแกบอกว่าแกรู้ประวัติศาสตร์อยุธยาดีพอสมควร พอคุยกันประวัติศาสตร์ที่แกรู้อย่างดีนั้นกลายเป็นประวัติศาสตร์ฉบับท่านมุ้ย สิ่งอันตรายไม่ใช่เรื่องว่าประวัติศาสตร์หรือหนังสือถูกหรือผิดในหนัง ท่านมุ้ย แต่การยึดติดของผู้คนอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ชั่วโมงในการดูภาพยนตร์เป็นเรื่องน่าสนใจ แม้ว่ายุคสมัยปัจจุบันของการเรียนรู้สามารถทำได้รวดเร็วแต่มันกระด้าง ในทำนองกลับกันมันอาจจะทำให้พวกเราเข้ารกเข้าพงได้อย่างรวดเร็วในอนาคตได้
.....นี่ยังมิต้องพูดถึงประเด็นการยึดครองพระนเรศวรหรือพระเจ้าตากตามวัดวาอารามหรือ สถานที่ หลายที่หลายแห่งโดยเฉพาะในอยุธยา ที่พากันยื้อแย่งท่าน เพราะวัดเดี๋ยวนี้ต้องการเพียงอามิสของนักท่องเที่ยวหรือนักแสวงหาบุญหรือสิ่งเหนือธรรมชาติเลยต้องค้นหาจุดขายเพื่อให้คนเข้าวัด แต่ถ้าวัดใดทำด้วยการที่เป็นประวัติศาสตร์ฺจริงๆซึ่งก็มีอยู่บ้าง ผมก็กราบขออภัยท่านด้วย วัดส่วนหนึ่งในปัจจุบันพากันหมดพลังไปแล้วสำหรับการเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์ (หรือ) ดูเป็นเรื่องยาวที่อาจจะมาสนทนากันได้เป็นวันๆ โดยสนุกปากและไม่มีข้อสรุป และเช่นเดียวกันกับ อะไรต่ออะไรในอยุธยา พระเจ้าอุทุมพรมารวบรวมกองกำลังในบริเวณนี้หรือเปล่า เมื่อสมัยโบราณอย่างที่บอกกันบ่อยๆว่า แม่น้ำลำคลองคือถนนที่เป็นเหมือนการคมนาคมหลัก แต่ในบริเวณตำหนักคำหยาดนี้กลับไม่มีแม่น้ำลำคลองเลย ทำไมน่ะเมื่อพระเจ้าอยู่หัวอยู่ในสถานะที่เลือกพื้นที่ได้ทำไมไม่จัดการพื้นที่ให้อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลองเพื่อความสะดวกในการเดินทางของท่านเอง ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ทัพพม่าจะต้องผ่านก่อนเข้าอยุธยา และถ้าเข้าไปลึกอีก ตำแหน่งนี้คือบ้านเกิดของมเหสีพระเจ้าบรมโกศ ผมยังไม่ได้ตีความอะไรเลยน่ะครับได้แต่โยนภาระให้คนอ่านแล้ว แต่อย่าเพิ่งรีบสรุปอะไรเชียวแม้แต่บันทึกประวัติศาสตร์หรือพงศาวดาร
..."๏คำหยาดหยดเหย่าะย้อย.....ลงดิน
เผลอลืมคือองค์อิน..........เยี่ยมแย้ม
ร่างรอยเปอรเซียผิน........นิเวศน์ นารายณ์
เจาะช่องฉลุปรุแง้ม..........สมัยแต้มเชิงเดียว ฯ"
.
วาดวัด
๒๕๕๘_๒๕๖๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา