28 ก.ค. 2020 เวลา 09:12 • หนังสือ
มาค่ะทุกคนวินดาเชิญชวนมาทลายกองดองอ่านหนังสือกันนนนน วันนี้มากับหนังสือดีฉบับพกพา พกง่าย เปิดคล่อง อ่านแป๊ปปปปปเดียวจบค่ะ🤗📚📖
ตอนแรกเห็นชื่อหนังสือแล้วพานึกถึง "ซูชิ" จังเล้ยยยย ก็แหมๆๆๆๆๆๆๆๆๆ "พอดีคำ" จะมีอะไรเหมาะกว่าซูชิละค่ะ พอเปิดอ่านเท่านั้นแหละ พอดีคำจริงๆด้วย ลงตัว อ่านง่าย ไม่หนักสมอง แถมเพิ่มรอยหยักได้ดีทีเดียว วินดาจับพู่เต้นเชียร์ให้อ่านค่ะทุกคน🎉🎉🎉
หนังสือ ธุรกิจพอดีคำ
ในเล่มจะมีเรื่องให้เราได้อ่านสั้นๆไม่กี่หน้าก็จบแล้ว ได้ความรู้และสนุกควบคู่กัน มียี่สิบกว่าเรื่อง น่ารู้ทั้งนั้นค่ะเป็นเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรมทางความคิดที่ไม่มีวันหมดอายุ ที่สำคัญในขณะที่เราอ่านอาจจะปิ๊งไอเดียอะไรดีๆขึ้นมาก็ได้นะคะ
วันนี้วินดาจะยกตัวอย่างพอกรุบกริบเลือกเรื่องที่อ่านแล้วชอบมาให้ทุกคนได้อ่านกันสัก 2 เรื่องค่ะ เริ่มกันที่
“เป็นต่อ” จากหนังสือ ธุรกิจพอดีคำ
"เป็นต่อ"
ถ้าคุณจะไปกินข้าวในห้างแล้วเห็นร้านนึงคนเยอะจนที่นั่งเต็มและยังมีคนรอคิวอยู่ด้านนอก กับอีกร้านที่ที่นั่งเต็มเหมือนกันแต่ไม่มีคนยืนรอคิวหน้าร้าน คุณคิดว่าร้านไหนอร่อยกว่ากันค่ะ???
โรเบิร์ต ซีอัลดีนี่ (Robert Cialdini) ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาการโน้มน้าว (Influence) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้พูดถึงเทคนิค "การโน้มน้าวใจคน" เอาไว้อย่างน่าสนใจหลายวิธีเลยค่ะ หนึ่งในนั้นก็คือ "การพิสูจน์จากสังคม (Social Proof)" แปลง่ายๆว่า "ถ้าคนอื่นเห็นว่าดี ฉันก็ว่ามันน่าจะดี" ซึ่งเทคนิคนี้มีการนำไปใช้ในการตลาดของธุรกิจมากมาย เช่น การเลือกร้านอาหาร ถึงขนาดบางร้านจ้างคนไปต่อคิวเพื่อให้คนรู้สึกว่าร้านนี้อร่อยและอร่อยกว่าก็มีค่ะ
อีกตัวอย่างนึงนะคะ ลองจินตนาการว่าคุณกำลังเข้าร้านขายขนมปังคิดว่าจะซื้อขนมปังไปฝากคนที่บ้าน ในขณะนั้นคุณยังตัดสินใจเลือกไม่ได้ ระหว่างคิดอยู่นั้นพนักงานก็เดินมาหาพร้อมรอยยิ้มและชี้ไปยังถาดขนมปังถาดหนึ่งและบอกคุณว่า "อันนี้ขายดี" พร้อมมีป้าย Bestseller ติดอยู่
นั่นไง!!! คุณตัดสินใจได้ทันทีและหยิบขนมปังในถาดนั้นไปมากกว่า 1 ชิ้นด้วย
ทุกร้านมีขนมปังที่ขายดีและทำกำไรต่อชิ้นมากเสมอ นี่คือการตลาดแบบเนียนๆที่เห็นกันอยู่จาก "การพิสูจน์จากสังคม (Social Proof)"
ศาสตราารย์โรเบิร์ต อธิบายไว้ว่า "มนุษย์เราทุกคนกลัวการทำผิด แต่กลัวมากที่สุดคือ ทำผิดแล้วดูโง่อยู่คนเดียว"
ป้าย "ขายดี" ส่งผลต่อจิตใต้สำนึกว่า "มันน่าจะอร่อย ถึงแม้มันไม่อร่อย ฉันก็ไม่ได้ถูกหลอกคนเดียว คนอื่นก็เลือกเหมือนฉันนี่แหละ"
อีกตัวอย่างค่ะ "กระป๋องหัวเราะ (Canned Laughter)"
ใครเคยดู "เป็นต่อ" ซีรีส์ ซิทคอมคงคิดตามได้ไม่ยากนะคะ เพราะในเรื่องมักจะมีเสียงหัวเราะนำเราเสมอ สิ่งนี้รายการตลกทั่วโลกยังนำไปใช้กันอยู่ เพราะมีงานวิจัยบอกไว้ว่า "กระป๋องหัวเราะ" ทำให้คนรู้สึกว่าละครมันตลกมากขึ้น เหมือนว่า ถ้าคนอื่นขำแสดงว่ามันตลก เราจะขำบ้างก็ไม่เขิน
การโน้มน้าวแบบ "การพิสูจน์จากสังคม" ส่งผลถึงพฤติกรรมของเราแบบที่เราไม่รู้ตัวเลย มันส่งผลต่อการซื้อของ การดูทีวี และส่งผลต่อการตัดสินใจทางธุรกิจด้วย
ไปกันที่เรื่องที่ 2 ที่วินดาเลือกมาเล่าให้ทุกคนอ่านนะคะ
"ใครฆ่ารถไฟฟ้า"
การใช้ไฟฟ้า เฟื่องฟูมากในช่วงปี 1900 และในช่วงนั้น "รถยนต์ไฟฟ้า" ก็ได้กำเนิดมาแล้วพร้อมๆกับ "รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน" ไม่ได้เกิดในยุคนี้อย่างที่หลายคนตื่นเต้นกับบริษัท เทสลา ของ อีลอน มัสก์ แต่ที่ทำให้ รถยนต์ไฟฟ้า หายไปจากถนน ก็คือ เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford)
“ใครฆ่ารถไฟฟ้า” จากหนังสือ ธุรกิจพอดีคำ
สาเหตุก็เพราะเขาจะผลิตรถยนต์ปริมาณมากๆให้ได้วันละร้อยกว่าคัน เพื่อทำให้ราคาของรถถูกลง และเขาก็เลือกที่จะผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันสร้างเป็นรถยนต์ที่ปฏิวัติวงการเดินทาง ชื่อว่า "ฟอร์ด โมเดลที" ซึ่งก็เป็นที่นิยมไปทั่วโลก ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันและรถยนต์ใช้น้ำมันที่ยิ่งใหญ่ ครองโลกมาอย่างยาวนาน
แต่แล้วก็มี อีลอน มัสก์ เรียกว่าอาจเป็นคนที่ถูกส่งมาปฏิวัติวงการรถยนต์เลยก็ว่าได้ค่ะ เขาตั้งโรงงานผลิตเองทุกอย่างจากศูนย์ รถยนต์ แบตเตอรี่ แม้แต่แท่นชาร์จไฟ "ซุปเปอร์ชาร์จเจอร์ (Super Charger)" ทำเองทั้งหมดเพื่อลดต้นทุนและควบคุมคุณภาพอย่างที่ต้องการ
ในความคิดของวินดา จนถึงวันนี้เรื่องรถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร จะตอบโจทย์คนใช้มากน้อยแค่ไหน และอะไรทำให้คนตัดสินใจซื้อหรอไม่ซื้อไว้ในครอบครองค่ะ
นี่คือเรื่องราวการเล่าหนังสือพอกรุบกริบ สองจากยี่สิบกว่าเรื่องในหนังสือที่ขอบอกต่อให้ลองไปอ่านแล้วจะสัมผัสได้ถึงนวัตกรรมทางความคิดที่ไม่มีวันหมดอายุค่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ ธุรกิจพอดีคำ
ผู้เขียน : กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร
แล้วพบกันใหม่นะคะ👋🏻
#windasharing
โฆษณา