28 ก.ค. 2020 เวลา 14:55 • ความคิดเห็น
ตีแผ่คำสั่งไม่ฟ้อง “กระทิงแดงน้อย” ตอนที่ 2 โดย รถชนกัน
###เรื่องความเร็วรถ###
หลังเกิดเหตุมีการตรวจสถานที่เกิดเหตุ วัตถุพยาน และรถทั้งสองคัน พตท.ธนสิทธิ ให้การว่าจากการคิดคำนวณแล้ว ก่อนเกิดเหตุคุณกระทิงแดงน้อยขับรถด้วยความเร็ว 177 กม./ชม.
ตอนหลังเรื่องผ่านไป 4 ปี พตท.ธนสิทธิมาบอกว่าคำนวณด้วยวิธีใหม่แล้ว ความเร็วประมาณ 79 กม./ชม. ซึ่งแตกต่างกันเป็นร้อย ถือว่าผิดปกติมาก
มีพยานให้การเพิ่มเติมสามปาก เป็นตำรวจสองปากบอกว่าตรวจดูจากความเสียหายของรถทั้งสองคันแล้ว ไม่น่าจะใช่ความเร็ว 170 กม./ชม. พยานสองปากนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นตำรวจที่ร่วมตรวจพิสูจน์หลักฐานตั้งแต่ต้นหรือไม่
ดร.ผู้เชี่ยวชาญอีกคนนึงให้การหลังเกิดเหตุเกือบ 5 ปี บอกความเร็วน่าจะประมาณ 76 กม./ชม.
น่าแปลกมั้ยครับ กลับตาลปัตรไปหมด ทั้ง ๆ ที่หลังเกิดเหตุมีการระดมกำลังตำรวจและผู้เชี่ยวชาญหลายหน่วยงานมาตรวจและทำความเห็นเกี่ยวกับคดีนี้ อยู่ ๆ ผ่านไปหลายปี ตำรวจที่เคยตรวจไว้เดิมก็เปลี่ยนคำให้การ มีพยานที่เป็นตำรวจอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นมาใหม่อีก 2 ปาก แถมยังมีดร.ผู้เชี่ยวชาญมาให้การเพิ่มเติมหลังเกิดเหตุเกือบ 5 ปี สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
ยังไม่จบนะครับ ยังมีพยานบุคคลที่อ้างว่าอยู่ในที่เกิดเหตุอีก 2 ปาก ที่อยู่ ๆ ผ่านไป 7 ปีเพิ่งจะนึกขึ้นได้ว่า เฮ้ย! เราอยู่ในที่เกิดเหตุนี่หว่า ไปให้ความร่วมมือในฐานะพลเมืองดีดีกว่า ก็ไปให้การว่าขับตามตำรวจผู้ตายมา เห็นชัด ๆ เลยว่าคุณกระทิงแดงน้อยขับรถความเร็วประมาณ 50-60 กม./ชม. หนักเข้าไปอีก
พยานที่อ้างว่าเป็นประจักษ์พยาน 2 ปากนี้ หลังเกิดเหตุไม่เคยให้การต่อตำรวจมาก่อน อยู่ ๆ ผ่านไป 7 ปีแล้วมาให้การ ในทางคดีนักกฎหมายเค้าจะตั้งข้อสงสัยในความมีพิรุธของพยาน และต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังนะครับ ไม่ใช่อยู่ ๆ หยิบขึ้นมารับฟังแล้วผูกโยงกับพยานอันนั้นอันนี้จนลงเอยด้วยการด่วนสรุปไปแบบนี้
เรื่องที่อัยการเชื่อการคิดคำนวณความเร็วรถก่อนเกิดเหตุของพยานที่อ้างถึงทั้งหมด ไม่ปรากฏเอกสาร เลยไม่ทราบว่าใช้วิธีใดในการคิดคำนวณ
แต่เรื่องนี้มี อ.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับทีมตำรวจพิสูจน์หลักฐานคดีนี้ บอกว่า หลังเกิดเหตุ อ.สธน ลงพื้นที่ไปตรวจสอบร่วมกับตำรวจเกี่ยวกับความเร็วของรถที่คุณกระทิงแดงน้อยขับก่อนเกิดเหตุ
ซึ่งวิธีที่ใช้ในขณะนั้นคือภาพที่บันทึกได้จากกล้องวีดีโอวงจรปิด(เป็นภาพก่อนเกิดเหตุที่พบรถคุณกระทิงแดงน้อยขับผ่านกล้องไป) แล้วลงพื้นที่วัดระยะทางจริงตามภาพที่ปรากฏในกล้อง โดยกำหนดจุดเริ่มต้นคือต้นไม้ด้านขวาตามภาพและจุดสิ้นสุดอยู่ด้านซ้ายของภาพ วัดระยะทางได้ 31 เมตร แล้วใช้เทคนิคทำภาพเคลื่อนไหวเป็นภาพนิ่งโดยนับเฟรม เพื่อให้ได้เวลามาคำนวณความเร็ว พบว่ารถที่คุณกระทิงแดงน้อยขับใช้เวลาผ่านหน้ากล้อง 0.63 วินาที แล้วนำมาเข้าสูตรคำนวณหาค่าความเร็วเฉลี่ย ปรากฏว่าความเร็วของรถในขณะนั้นอยู่ที่ 177 กม./ชม. ซึ่งข้อมูลนี้ได้สรุปลงสำนวนของคดีนี้ด้วย
เป็นไงครับ มีวิธีการคิดคำนวณละเอียดตามหลักวิชา ชัดเจนมั้ยครับ?
เรื่องที่เล่าให้ฟังข้างต้น เป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญทำความเห็นไว้
ทีนี้ผมชวนคุณผู้อ่านลองจินตนาการตามไปด้วยกัน โดยเชื่อตามที่อัยการเค้าวินิจฉัยไว้
คุณเพิ่งซื้อรถยนต์เฟอร์รารี่ รุ่น เอฟเอฟ สมรรถนะเครื่องยนต์มีอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ได้ภายในเวลาเพียง 3.7 วินาที และทำความเร็วได้ถึง 335 กม./ชม.
คุณขับรถเฟอร์รารี่ไปตามถนนสุขุมวิท ด้วยความเร็วเพียง 60 กม./ชม. แล้วจู่ ๆ มีตำรวจขี่รถมอเตอร์ไซค์เข้ามาในเลนคุณทางด้านหน้ารถคุณอย่างกะทันหัน คุณเลยเหยียบเบรค แต่ไม่ทันรถคุณชนกะรถตำรวจซะแล้ว
การที่คุณขับรถด้วยความเร็วเพียง 60 กม./ชม.ซึ่งถือเป็นความเร็วที่ค่อนข้างช้า แล้วชนกับรถมอเตอร์ไซค์ที่อยู่ด้านหน้า(อย่าลืมนะครับว่ารถมอเตอร์ไซค์ก็เคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความเร็วพอ ๆ กับคุณ ไม่ได้จอดรถขวางถนนอยู่เฉยๆ) อย่างมากที่สุดเลยตำรวจคนนั้นก็น่าจะตกจากรถมอเตอร์ไซค์ไปที่ถนน แล้วก็ไม่น่าจะทำให้ตำรวจถึงแก่ความตายอย่างแน่นอน (ยกเว้นว่าโดนรถคันอื่นทับ)
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ร่างของตำรวจกลับลอยละลิ่วจากรถมอเตอร์ไซค์มากระแทกกระจกด้านหน้ารถคุณอย่างแรง แล้วคุณยังขับรถพาร่างของตำรวจไปอีก 200 เมตร ก่อนหยุดรถ
คุณคิดว่าตอนเกิดเหตุ คนขับรถยนต์เฟอร์รารี่ ต้องขับรถด้วยความเร็วเท่าไหร่ถึงทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงถึงขนาดนี้?
###ธรรมชาติของการวินิจฉัยสั่งคดี###
ตามปกติคดีรถชนกัน ส่วนใหญ่คู่กรณีต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมรับผิดอยู่แล้ว ต่างคนต่างสรรหาข้อแก้ตัวมาบอกตำรวจให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูกอยู่เสมอ
ทีนี้ตำรวจและอัยการเค้าดูจากอะไร?
เมื่อได้รับแจ้งเหตุที่เกิดขึ้น เบื้องต้นตำรวจเค้าจะตรวจดูที่เกิดเหตุคร่าว ๆ ก่อน แล้วสอบถามคู่กรณีทั้งสองฝ่าย หลังจากนั้นตรวจสอบรถทั้งสองคัน และตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุอย่างละเอียด ถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุ รถทั้งสองคัน สภาพโดยรอบของจุดเกิดเหตุ เก็บวัตถุพยานที่พบในที่เกิดเหตุ ตรวจหากล้องวงจรปิดในบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อดูภาพก่อนหรือขณะเกิดเหตุ สอบถามพยานอื่น ๆ ที่อยู่ในที่เกิดเหตุ และจัดทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ
หลังจากสอบคำให้การคู่กรณีและพยานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด (อาจทำควบคู่กันไปในกรณีที่ต้องส่งให้พยานผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ เช่น ตรวจสอบร่องรอยการชนของรถทั้งสองคัน ตรวจสอบความเร็วรถ ฯลฯ)
เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงพอแล้วจึงวินิจฉัยว่าจะสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่าย แล้วสรุปสำนวนทำความเห็นส่งอัยการ
อัยการก็จะตรวจสำนวนดูพยานหลักฐานทั้งหมด ถ้าเห็นว่าเพียงพอแล้วและเห็นด้วยกับความเห็นของตำรวจก็จะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อไป
ถ้าอัยการเห็นว่ายังต้องสอบสวนประเด็นไหนหรือพยานใดเพิ่มเติมอีก ก็จะมีคำสั่งให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมต่อ และส่งกลับมาให้อัยการอีกที
ทีนี้ตามปกติถ้ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดี ทุกคดีตำรวจและอัยการก็จะมีความเห็นสั่งฟ้องแน่นอน
การสั่งไม่ฟ้องไม่ว่าของตำรวจหรืออัยการจะต้องมีพยานหลักฐานอันสำคัญหรือเหตุผลที่หนักแน่นจริง ๆ
ทำไมเหรอครับ ก็เพราะว่าถ้าพยานหลักฐานพอไปได้แล้วสั่งไม่ฟ้อง อย่าว่าแต่ประชาชนตาดำ ๆ อย่างเราเลยครับที่สงสัย แต่ตำรวจหรืออัยการด้วยกันเองเค้าก็ตั้งข้อสงสัยเหมือนกันครับว่าคุณมีนอกมีในอะไรรึเปล่าถึงได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง
พูดง่าย ๆ ถ้าพยานหลักฐานพอไปได้ เค้าก็สั่งฟ้องทุกคดีแหละครับ
เรื่องนี้ที่มันแปลกก็คือ อัยการที่รับผิดชอบ(อธิบดีอัยการ สำนักคดีอาญากรุงเทพใต้) เค้าสั่งฟ้องคุณกระทิงแดงน้อยไว้แล้ว แต่รองอัยการสูงสุดไปหยิบมาแล้ววินิจฉัยตามที่เล่าให้ฟังข้างต้น จากสั่งฟ้องเป็นสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งตามปกติไม่เคยเห็นว่ามีใครเค้าทำกันอย่างนี้
เอาล่ะ! ถึงแม้จะทำได้ตามระเบียบ(ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการฯ) แต่ผมขอตั้งขอสังเกตไว้หน่อย
1. ตั้งแต่มีองค์กรอัยการมา คดีขับรถชนท้ายรถอีกคันจนมีคนตายแบบนี้ แล้วอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว เคยมีซักครั้งมั้ยครับที่อัยการสูงสุดหรือรองฯ เคยหยิบมาวินิจฉัยใหม่เป็นสั่งไม่ฟ้องอย่างคดีนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ากรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณกระทิงแดงน้อย แต่ดันเกิดกับคุณบักหำน้อยอย่างเรา ๆ
2. ถ้าอัยการเห็นว่าการขับรถเร็วของผู้ต้องหาเป็นข้อสำคัญมากขนาดนี้ ทำไมไม่สั่งให้สอบสวนโดยจัดให้พยานผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถืออีกซักคนสองคนทำความเห็นเพิ่มเติมมาให้ชัดเจน แล้วค่อยนำมาประกอบการวินิจฉัยอีกทีก็ยังได้ ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนสั่ง เพราะผู้ต้องหาก็หลบหนีอยู่แล้ว และคดีก็ยังอยู่ในอายุความ(เหลืออีก 7 ปี)
3. นอกจากสอบสวนพยานผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม พยานบุคคลที่เพิ่งมาให้การหลังเกิดเหตุถึง 7 ปี ทั้งสองปาก ในฐานะนักกฎหมายหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะตั้งข้อสงสัยถึงความมีพิรุธของพยาน ก็สมควรที่จะสั่งให้มีการสอบสวนพยานทั้งสองปากนี้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของพยาน เพื่อให้เกิดความชัดเจน
4. ไม่ทราบว่าท่านอัยการลืมไปรึเปล่าว่า ข้อหาที่คุณกระทิงแดงน้อยถูกฟ้อง คือ ข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งการขับรถเร็วหรือไม่ของผู้ต้องหา เป็นแค่เพียงข้อเท็จจริงหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงความประมาทเท่านั้น
ยกตัวอย่าง คุณขับรถช้า ๆ เลี้ยวซ้ายออกจากซอยโดยไม่ดูรถคันอื่นในทางร่วมทางแยกนั้น ไม่คำนึงถึงสิทธิการใช้ทาง แล้วเกิดชนกัน คุณก็เป็นฝ่ายประมาทได้
หรือคุณขับรถฝ่าไฟแดงไปโดยไม่เกิดเหตุใด ๆ หรือแม้กระทั่งขี่มอเตอร์ไซค์ยกล้อ โดยไม่เกิดเหตุชนกับใคร การกระทำเหล่านี้ถือเป็นการกระทำโดยประมาททั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น การกระทำโดยประมาทไม่จำเป็นต้องเกิดจากการขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วเกิดเหตุชนกับใครเพียงอย่างเดียว
คุยกันเฉพาะคดีนี้ วันเกิดเหตุคือวันที่ 3 กันยายน 2555 ซึ่งเป็นวันจันทร์ ขณะเกิดเหตุเวลาประมาณ 5.30 นาฬิกา ที่เกิดเหตุคือถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ เป็นที่ชุมชนและเป็นย่านธุรกิจ เวลาดังกล่าวผู้คนออกจากบ้านไปทำงาน ไปส่งลูกเรียนหนังสือกันแล้ว การจราจรเริ่มจอแจ
สมมติว่าเชื่อตามที่ท่านอัยการวินิจฉัยว่า คุณกระทิงแดงน้อยขับรถอยู่เลนขวาสุดด้วยความเร็ว 76 กม./ชม. การขับรถด้วยความเร็วขนาดนี้ในที่ชุมชนที่การจราจรเริ่มขวักไขว่ และชนท้ายรถจักรยานยนต์ของตำรวจ ถือเป็นการขับรถด้วยความระมัดระวังแล้วหรือยัง
ที่สำคัญแม้ท่านอัยการจะวินิจฉัยว่าตำรวจผู้ตายขับรถโดยประมาท(ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงประกอบ) แต่คดีนี้สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือความประมาทของคุณกระทิงแดงน้อย (ทำนองว่าตำรวจผู้ตายประมาทหรือไม่ไม่รู้ แต่ถ้าคุณกระทิงแดงน้อยมีส่วนประมาทก็ต้องรับผิด)
ทีนี้นอกจากการขับรถเร็ว(ที่ท่านอัยการเห็นว่าเป็นประเด็นหลัก) กับพยานบุคคลที่โผล่มาให้การหลังเกิดเหตุ 7 ปี ท่านยังต้องวินิจฉัยร่องรอยในที่เกิดเหตุ รอยครูดที่ผิวถนน สภาพแวดล้อมในที่เกิดเหตุ ภาพที่บันทึกได้จากกล้องวีดิโอวงจรปิด ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ร่องรอยจากการกระแทกและความเสียหายของรถทั้งสองคัน (ที่ปรากฏว่ารถของคุณกระทิงแดงน้อยเสียหายมากทางด้านหน้า และกระจกหน้ารถถูกร่างของตำรวจผู้ตายกระแทกอย่างแรง(ยังมีตรานายดาบติดอยู่ที่กระจกหน้าด้วย) หลังจากชนกันคุณกระทิงแดงน้อยยังขับพาร่างตำรวจผู้ตายไปห่างจากจุดชนถึง 200 เมตร)
ถ้าคุณกระทิงแดงน้อยขับรถมาช้า ๆ ด้วยความระมัดระวังจริง เหตุใดความเสียหายรุนแรงถึงเพียงนี้? ทำไมชนแล้วไม่สามารถหยุดรถได้ใกล้กับจุดชน?
การกระทำของคุณกระทิงแดงน้อยเป็นเหตุสุดวิสัยจริงหรือ?
ขอให้ทุกคนโชคดีไม่มีเรื่องครับ❤️
ฝากกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามเป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ👍👍👍
หมายเหตุ
ผมเขียนเรื่องนี้จากเนื้อหาตามหนังสือคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ถ้ามีเอกสารหรือข่าวสารเพิ่มเติมจะมาอัพเดทให้ทราบนะครับ
มุมน่ารู้ ไว้เล่าให้เพื่อนฟัง
คณะกรรมาธิการกฎหมาย ฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่คุณกระทิงแดงน้อยไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม แล้วคณะกรรมาธิการแจ้งอัยการสูงสุดให้สอบสวนเพิ่มเติม จนกระทั่งมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีในกาลต่อมา มีรายชื่อที่น่าสนใจดังนี้
- พลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ (น้องชายพลเอกประวิตรแ วงษ์สุวรรณ)
- พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (น้องชายพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ)
- ร้อยตำรวจตรี พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร (อัยการสูงสุดในขณะนั้น)
- พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา (ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
- พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง (ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น)
คำถามคือ คุณผู้อ่านเชื่อหรือไม่ครับว่า คดีที่เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้ที่สำนักข่าวต่างประเทศ(CNN) ยังรู้ แต่ผบ.ตร.และอัยการสูงสุดไม่รู้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ,291
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 - 147
พรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43(2) ,67 ,78 ,160 ตรี
#รถชนกัน #ขับรถชนคนตาย #กระทิงแดง #ไม่ฟ้อง
โฆษณา