29 ก.ค. 2020 เวลา 00:39 • การศึกษา
พินัยกรรมใครก็ทำได้📑📃
พินัยกรรม เป็นการแสดงเจตจำนงสุดท้ายของบุคคลหนึ่งซึ่งเป็นผู้ทำพินัยกรรม โดยระบุและกำหนดถึงความต้องการ ความประสงค์ และข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการ งานศพ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ความรับผิด หนี้สิน ทายาท และบุตรซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ของบุคคลนั้นเมื่อบุคคลนั้นตาย ในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมได้กำหนดให้สิทธิหรือประโยชน์ใดๆ แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย เช่น การยกทรัพย์สินให้ หรือการปลดหนี้ให้ บุคคลผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ตามพินัยกรรมนั้นจะเรียกบุคคลนั้นว่า ผู้รับพินัยกรรม
แบบของพินัยกรรม มี 5 แบบ คือ
1.พินัยกรรมแบบธรรมดา
2.พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ
3.พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง
4.พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ
5.พินัยกรรมทำด้วยวาจา
วันนี้เราจะยกแบบของพินัยกรรมที่สามารถทำได้เอง ได้แก่
1. พินัยกรรมแบบธรรมดา
หลักเกณฑ์การทำ
1. ต้องทำเป็นหนังสือ โดยจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้
2. ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ
3. ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน จะลงลายมือชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือก็ได้ แต่จะใช้ตราประทับแทนการลงชื่อหรือเครื่องหมายแกงไดไม่ได้ และพยานที่จะลงลายมือชื่อ ในพินัยกรรมจะพิมพ์ลายนิ้วมือหรือใช้ตราประทับ หรือลงแกงได หรือลงเครื่องหมายอย่างอื่นแทนการ ลงชื่อไม่ได้ จะต้องลงลายมือชื่ออย่างเดียว
4. การขูด ลบ ตกเติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น ซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ในขณะ ที่ขูด ลบ ตกเติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น ได้ลงวัน เดือน ปี และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน
พร้อมกัน และพยานอย่างน้อยสองคนนั้นต้องลง ลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมในขณะนั้น (ต้องเป็นพินัยกรรมแล้ว)
ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้เป็นโรคเรื้อน (ไม่มีลายนิ้วมือ) หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองถูกต้องย่อมใช้ไม่ได้
2. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
หลักเกณฑ์การทำ
1. ต้องทำเป็นเอกสาร คือ ทำเป็นหนังสือ โดยจะใช้ภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้
2. ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับจะพิมพ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้เขียนหนังสือไม่ได้ ไม่สามารถจะทำพินัยกรรมแบบนี้ได้ พินัยกรรมแบบนี้จะมีพยานหรือไม่มีก็ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ ห้ามไว้
3. ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ
4. ต้องลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือ หรือแกงได หรือเครื่องหมายอย่างอื่นไม่ได้
5. การขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำ พินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเองและลงลายมือชื่อกำกับไว้
- การขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่มิได้ทำด้วยตนเอง หรือลงลายมือชื่อกำกับ ไว้เท่านั้นที่ไม่สมบูรณ์
ส่วนข้อความเดิมหรือพินัยกรรมยังคงใช้บังคับได้ตามเดิม ไม่ทำให้โมฆะทั้งฉบับ
คุณสมบัติและความสามารถของผู้ทำพินัยกรรมและผู้รับพินัยกรรม
ผู้ทำพินัยกรรม คือ บุคคลที่แสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง
1.ต้องมีอายุอย่างน้อย 15 ปีบริบูรณ์ ในขณะที่ทำพินัยกรรม
2.ต้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริตในขณะที่ทำพินัยกรรม
3.ต้องไม่เป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนซึ่งไร้ความสามารถในขณะที่ทำพินัยกรรม
ผู้รับพินัยกรรม คือบุคคลที่ได้รับสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ตามที่ระบุหรือกำหนดไว้ในพินัยกรรมโดยที่
1.ผู้รับพินัยกรรมจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ เช่น ห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด หรือมูลนิธิ
2.ในการระบุตัวผู้รับพินัยกรรมในพินัยกรรม จะต้องระบุตัวตนของผู้รับพินัยกรรมให้ชัดเจนที่สามารถระบุตัวตนของผู้รับพินัยกรรมได้ หรือการระบุคุณสมบัติและคุณลักษณะของผู้รับพินัยกรรมก็ได้
3.ผู้รับพินัยกรรมจะต้องไม่เป็นบุคคลเดียวกันกับบุคคลซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมนั้น
มรดกของผู้ทำพินัยกรรม คือทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ความรับผิด หนี้สิน ต่างๆ ของผู้ทำพินัยกรรม ซึ่งอาจรวมถึงที่มีอยู่ในปัจจุบัน ณ ขณะทำพินัยกรรมหรือที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตัวอย่างเช่น
1.ทรัพย์สิน เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เงินสด เงินในบัญชีธนารคาร ตราสาร ที่เป็นกรรมสิทธิของผู้ทำพินัยกรรม
2.สิทธิ เช่น สิทธิในหนี้เงินกู้ที่ผู้ทำพินัยกรรมเป็นเจ้าหนี้ สิทธิในค่าสินไหมทดแทนค้างชำระต่างๆ ที่ผู้ทำพินัยกรรมมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย สิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเรียกร้องต่างๆ ตามกฎหมายและ/หรือตามสัญญาที่ผู้ทำพินัยกรรมเป็นคู่สัญญา
3.หน้าที่ ความรับผิด เช่น หน้าที่ที่ต้องโอนทรัพย์สินให้ธนาคารทำสัญญาจำนอง หนี้สินที่ผู้ทำพินัยกรรมก่อขึ้น
ฎีกาที่เกี่ยวข้อง
พิพากษาศาลฎีกาที่ 7199/2552
ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมเขียนเองระบุว่า เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วบ้านและที่ดินพิพาทนั้น เจ้ามรดกขอยกให้สิทธิอยู่อาศัยและสิทธิเก็บกินแก่จำเลยมีอำนาจครอบครองและเก็บกินได้จนตลอดชีวิต แต่ถ้าจำเลยถึงแก่ความตายลงเมื่อใดแล้ว ให้บ้านและที่ดินดังกล่าวนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์แก่บุตรที่เกิดจาก ฉ.ทุกคน โดยให้บุตรของ ฉ. ทุกคนมีส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดังกล่าวนี้เท่ากัน ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าว เจ้ามรดกมิได้ยกกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย เพียงแต่ให้สิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินตลอดชีวิตแก่จำเลยเท่านั้น สิทธิของจำเลยในฐานะผู้รับพินัยกรรมก็มีเพียงตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น ส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทจะต้องตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ฉ. เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายแล้วตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่ผู้ทำพินัยกรรมระบุให้พินัยกรรมมีผลบังคับให้เรียกร้องกันได้ภายหลังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1673 ประกอบมาตรา 1674 วรรคสอง จึงต้องถือว่านับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและข้อกำหนดในพินัยกรรมเฉพาะส่วนของจำเลยมีผลนั้นก็มีผลเพียงให้จำเลยมีสิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินในบ้านและที่ดินพิพาทจนตลอดชีวิตของจำเลยเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสามผู้รับพินัยกรรมซึ่งมีเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขนั้นยังไม่สำเร็จเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้ ทั้งนี้เพราะมาตรา 1755 รับรองสิทธิของบุคคลที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่เฉพาะบุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมรดกเท่านั้น
จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับมรดกบ้านและที่ดินพิพาทมาเป็นของตน เนื่องจากบ้านและที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมระบุยกให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้ว เพียงแต่เงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนดให้บ้านและที่ดินพิพาทตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามยังไม่สำเร็จเพราะจำเลยยังไม่ถึงแก่ความตายเท่านั้น บ้านและที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์นอกพินัยกรรมอันจะตกทอดแก่จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620
โฆษณา