Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Jamez Shengzu 聖祖
•
ติดตาม
29 ก.ค. 2020 เวลา 09:02 • ประวัติศาสตร์
ถิ่งจีอั้น - คดีกระบองจู่โจมรัชทายาท
(Case of the Palace Assault : 梃击案)
.
..
…
…
..
.
Case of the Palace Assault คดีปริศนาช่วงปลายราชวงศ์หมิง
ในปี ค.ศ. 1615 ปีว่านลี่ที่ 43 รัชกาลจักรพรรดิหมิงเสินจง (Ming Shenzong : 明神宗) พระนามเดิม ‘จูอี้จวิน (Zhu Yijun : 朱翊钧)’
เมื่อพลบค่ำของวันที่ 4 เดือน 5 มีชายฉกรรจ์ผู้หนึ่งนาม จางไช (Zhang Chai : 张差) หรือจางอู่เอ๋อร์ (Zhang Wuer : 张五儿) ถือกระบองไม้บุกเข้าเขตพระราชฐานผ่านประตูตงหวาเหมิน (东华门) ทำร้ายขันทีที่เฝ้าเวรยามบาดเจ็บไปหลายราย เมื่อมาถึงตำหนักฉือชิ่งกง (慈庆宫) ที่องค์รัชทายาทประทับอยู่ เขาก็ถูกจับกุมตัวไว้ได้
จักรพรรดิว่านลี่ (Wanli Emperor : 万历帝) ร้อนพระทัยมีรับสั่งให้ ฟางฉงเจ๋อ (Fang Congzhe : 方从哲) ราชบัณฑิตจิ้นซื่อ (Jinshi : 进士) และซู่จี๋ซื่อ (Shujishi : 庶吉士) แห่งสำนักฮั่นหลิน (Hanlin Academy : 翰林院) เป็นประธานในการสอบสวนคดีนี้โดยด่วน เมื่อสืบสวนในคราวแรกพบว่า จางไชเป็นเพียงคนสติฟั่นเฟือนผู้หนึ่งเท่านั้น ราชบัณฑิตฟางนำความขึ้นกราบทูลให้ฮ่องเต้ทรงทราบแล้วก็มีคำสั่งให้จองจำชายผู้นั้นให้สงบสติอารมณ์ไว้ก่อน
ทว่า หวังจือไช่ (Wang Zhicai : 王之寀) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม (刑部主事 ; Xingbu Zhushi) เห็นว่าคดีนี้รวบรัดตัดตอนไปมาก สมควรนำมาพิจารณาใหม่ ใต้เท้าหวังถึงกับลงทุนไปสอบปากคำกับจางไชที่ถูกตัดสินว่าเป็นคนบ้าไปแล้วด้วยตัวเอง จนความจริงกระจ่างที่ว่ามีขันที 2 คนคือ ผังเป่า (Pang Bao : 庞保) และหลิวเฉิง (Liu Cheng : 刘成) ข้ารับใช้ใน “พระอัครเทวีเจิ้งกุ้ยเฟย (Zheng Guifei : 郑贵妃)” ใช้ให้จางไชไปก่อเรื่องดังกล่าว ด้วยข้อแม้ที่ว่า.....
…”สั่งให้บุกวัง ถ้าเอาชีวิตไท่จื่อได้ก็จะมีกินมีใช้ตลอดไป”...
เมื่อเรื่องแดงขึ้น เจิ้งกุ้ยเฟยทำท่าทางสะอื้น เข้าไปกราบร่ำไห้ต่อหน้าพระพักตร์องค์จักรพรรดิและรัชทายาท ฮ่องเต้ว่านลี่เห็นว่าพระอัครเทวีผู้นี้คงมิได้คิดร้ายอย่างที่พวกปากหอยปากปูที่ลือกันให้แซ่ดอย่างที่ว่าหรอกกระมัง คงเป็นเพราะลูกน้องต้องการเอาใจนายจึงได้เกิดภัยมหันต์ขึ้น ว่าแล้วก็มีรับสั่งให้เรื่องราวทั้งหมดเป็นเรื่องภายในราชวงศ์ ห้ามคนนอกข้องแวะเกี่ยวอีก การจัดการกันเองลงเอยด้วย จางไชรับโทษประหารด้วยการโดนแล่เนื้อเป็นพันชิ้น ถูกลงอาญาเมื่อวันที่ 29 เดือน 5 แค่นั้นยังไม่พอ ขันทีผังเป่ากับหลิวเฉิงก็ถูกสั่งเก็บอย่างลับ ๆ ในภายหลัง คดีที่ว่าจึงได้ยุติเพียงเท่านี้
หวังจือไช่ - เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ผู้ลงทุนสอบสวนคดีด้วยตนเอง
เท้าความถึงมูลเหตุที่เป็นไปได้ของคดีนี้กัน ในรัชสมัยว่านลี่ ไท่จื่อก็คือ องค์ชายจูฉางลั่ว (Zhu Changluo : 朱常洛) พระราชโอรสองค์โต ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาทเมื่ออายุ 20 ชันษา เพราะเป็นไปตามพระประสงค์ของ จักรพรรดินีพันปีหลวง เสี้ยวติ้งไท่โฮ่ว (Empress Dowager Xiaoding : 孝定太后) พระมารดาของหมิงเสินจงที่ยืนกรานให้รักษาขนบกฎมณเฑียรบาล แต่เนื่องจากแม่ของเด็กคนนี้คือ พระมเหสีหวางกงเฟย (王恭妃) เดิมทีเป็นหญิงรับใช้ของไทเฮา ฮ่องเต้ว่านลี่จึงดูแคลนที่นางเคยมีฐานะต่ำต้อย พาลทำให้ไม่โปรดโอรส-จูฉางลั่วด้วยเช่นกัน
จริง ๆ ฮ่องเต้อยากให้องค์ชาย จูฉางสวิน (Zhu Changxun : 朱常洵) ที่ประสูติจากเจิ้งกุ้ยเฟยเป็นไท่จื่อมากกว่า แต่ก็ทนเสียงคัดค้านจากเหล่าขุนนางอาวุโสไม่ได้เช่นกัน ฮ่องเต้ว่านลี่ลุ่มหลงกุ้ยเฟยคนนี้มากกว่าใคร ๆ พระนางจึงเป็นที่โปรดปรานและจงเกลียดจงชังจูฉางลั่วนักหนา ที่บังอาจเป็นก้างขวางคอการเป็นว่าที่โอรสสวรรค์คนต่อไปของลูกพระนาง เมื่อขันทีคนสนิทก่อเรื่องผิดพลาด พระนางก็เกรงว่าภัยจะถึงตัวก็อ้อนวอนต่อพระสวามี ทั้งยังทูลว่าหากให้จูฉางสวิน โอรสของนางได้เป็นกษัตริย์ (King) แค่นี้ก็พอพระทัยมากแล้ว
พระนางเสี้ยวติ้งไทเฮา พระมารดาของว่านลี่ฮ่องเต้ ผู้ยืนกรานที่ให้องค์จักรพรรดิต้องรักษากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการแต่งตั้งรัชทายาท
นับได้ว่า 2 แม่ลูกคู่นี้ยังอยู่เป็นที่รู้จักตัดช่องน้อย ไม่ใฝ่สูงมากกว่านี้ เนื่องด้วยจูฉางสวินยังไม่หมดสิทธิ์ในราชบัลลังก์เสียทีเดียว แต่หลังคดีไม้กระบองก็สร้างความแคลงใจให้เหล่าข้าราชสำนักไม่น้อย จักรพรรดิว่านลี่จึงมีราชโองการให้จูฉางสวินเป็น ฝูหวาง (Prince of Fu : 福王) ดำรงฐานะอ๋องปกครองเมืองลั่วหยางในฐานะเมืองเอกของจักรวรรดิต้าหมิง (Ming Empire) พระอัครเทวีเจิ้งกุ้ยเฟยพอพระทัยยิ่งนัก จากนั้นเรื่องราวต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ เงียบไปเหมือนไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นอีก
หวางกงเฟย พระมารดาของไท่จื่อ-จูฉางลั่ว
อ๋องฝู-กษัตริย์จูฉางสวินสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1641 ในเงื้อมมือของกองทัพกบฏหลี่จื้อเฉิง (Li Zicheng : 李自成) ส่วนรัชทายาทจูฉางลั่วก็สืบราชสมบัติเป็น จักรพรรดิไท่ชาง (Taichang Emperor : 泰昌帝) ขณะมีพระชนมายุ 38 พรรษา แต่ก็ครองราชย์ได้พึ่งครบเดือนเท่านั้นก็สวรรคตอย่างเป็นปริศนา หลังคดีไม้กระบอง 5 ปี หรือรุ่งขึ้นของวันที่ 1 เดือน 9 ช่วงเวลาตี 3 ถึงตี 5 โดยประมาณ ตรงกับวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1620 มีข้อสันนิษฐานว่าหลังเหตุคดีกระบองจู่โจม อดีตเจิ้งกุ้ยเฟยก่อการกำเริบอีกครั้ง แต่จะเป็นไปได้แค่ไหนก็ขึ้นกับผู้ศึกษาที่วิเคราะห์กันไปในแต่ละคน
ฝูหวาง - จูฉางสวิน กษัตริย์ปกครองเมืองลั่วหยาง พระอนุชาต่างมารดาของจักรพรรดิไท่ชาง (จูฉางลั่ว)
คดีไม้กระบองจู่โจม นับเป็น 1 ใน 3 คดีสุดปริศนาของประวัติศาสตร์ต้าหมิง (The Three Mysteries of Late Ming : 明末三大案) ที่นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ยังหาข้อสรุปแน่ชัดไม่ได้และยังเป็นที่กังขาจนถึงปัจจุบัน
…..
….
…
..
.
‘สงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้นำบทความไปใช้เชิงพาณิชย์ หากต้องการเผยแพร่ให้กดแชร์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นครับ’
.....”สามารถติดตามแฟนเพจบล็อกเกอร์เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สิ่งน่าสนใจโดยผม เจมส์เซิ่งจู่ แฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีน ได้ง่าย ๆ
เพียงแค่กดไลก์และฟอลโลว์เพจของผมกันนะครับ”.....
บันทึก
5
1
2
5
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย