Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Jeterdel
•
ติดตาม
29 ก.ค. 2020 เวลา 12:01 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
หยินหยาง : ธีมที่เอามาใช้บ่อยที่สุดในภาพยนตร์
Robert Mckee ผู้เขียนหนังสือ Story ซึ่งเป็นเสมือนคัมภีร์ไบเบิลของเหล่านักเขียนบทภาพยนตร์ ในเล่มนี้ได้พูดถึงเทคนิคการเขียนอย่างละเอียด ครบถ้วนทุกแง่มุม แต่มีบทนึงที่ผมอ่านแล้วรู้สึกเหมือนมีลำแสงเส้นเล็กๆพุ่งทะลวงผ่านสมอง(เหมือนในการ์ตูนโคนัน-*-) ว่าด้วยเรื่องของการใช้ธีม “ขั้วตรงข้าม” หรือที่ผมชอบเรียกว่า “หยินหยาง” มารังสรรค์เนื้อเรื่องสำหรับภาพยนตร์ ตัวอย่างเช่น ระเบียบ-โกลาหล(The Dark Knight)
ล้มเหลว-สำเร็จ(The Pursuit of Happyness) กักขัง-อิสระ(The Shawshank Redemption) หลงรัก-แยกจาก(500 Days of Summer) พอเราถอยออกมาห่างๆแล้วมองภาพรวม ก็จะพบว่า ธีมนี้อยู่ในหนัง ‘ทุกเรื่อง’ ที่เราเคยดูมา ปัญหาคือโรเบิร์ตไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ทำไมคนถึงเสพติดรูปแบบการเขียนดังกล่าว เขาบอกเพียงว่ามันทำให้เนื้อเรื่องน่าสนใจ แน่นอนว่าสายคิดเยอะอย่างผมเอาไปวิเคราะห์ต่อเรียบร้อยแล้ว มาดูคำตอบกันครับ
หลังจากที่ได้อ่านบทนั้นไป ผมนึกถึงประโยคหนึ่งขึ้นมาทันที “ถ้าเราไม่รู้จักความทุกข์ ก็ไม่มีทางสัมผัสถึงความสุขได้” ในหนังสือ Notes From Underground ของยอดนักปรัชญาชาวรัสเซีย Fyodor Dostoyevsky เล่าประเด็นนี้ออกมาได้น่าสนใจมาก เขาบอกว่า “บางครั้ง มนุษย์เรา คลั่งไคล้และหลงรักความทุกข์ทรมานอย่างน่าเหลือเชื่อ...และนั่นคือความจริง” ฟีโอดอร์เสริมอีกว่า มนุษย์ไม่ได้ต้องการสังคมในอุดมคติ ที่ที่ทุกคนเท่าเทียมกัน มีเงินเท่ากัน อาหารเพียงพอ ได้ครอบครองทุกอย่างที่ต้องการ ถ้าเป็นแบบนั้นจริง มนุษย์จะฆ่าตัวตายเพื่อหนีจากความน่าเบื่อของชีวิต โอ้วววแม่เจ้า เจ็บแต่จริง-*- นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องเห็น ‘สองด้านของเหรียญ’ อยู่เสมอ เพื่อย้ำเตือนให้เรารู้สึกขอบคุณและโฟกัสสิ่งดีๆในชีวิตได้ง่ายขึ้น
อีกอย่างคือ บทภาพยนตร์ประเภทนี้ ยังช่วยให้ผู้ชม เห็นการพัฒนาตัวละครได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างเรื่อง 500 Days of Summer ในช่วงแรกทอมมองความรักผ่านสายตาของคนเพ้อฝัน(ไร้เดียงสา) รักแท้ต้องเป็นอย่างงู้นอย่างงี้ ถ้าเป็นแฟนกันต้องทำแบบนี้นะ พอโดนซัมเมอร์ทิ้งไป ทำให้ทอมมองความรักในมุมที่ ‘จริง’ มากขึ้น ไม่มีการจินตนาการจนเว่อวังอีกต่อไป(เติบโต) ความแตกต่างของทอมทั้งสองเวอร์ชั่น ถูกเล่าออกมาอย่างประณีต ผู้ชมจึงเข้าใจประเด็นที่หนังจะสื่อได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ยิ่งไปกว่านั้น หยินหยาง หรือถ้าไทยๆหน่อยก็คือทวิลักษณ์ มันอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่เคยมานั่งวิเคราะห์มันอย่างจริงจังเฉยๆ สุข-ทุกข์, หัวเราะ-ร้องไห้, สนุก-เบื่อ พอเราประสบกับสิ่งเหล่านี้ทุกวัน มันจึงง่ายที่จะรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวละครที่พบเจอเรื่องคล้ายกัน ดังนั้นเหล่านักเขียนบทจึงใช้เทคนิค หยินหยาง มาทำให้เราอินกับหนังของพวกเขาโดยไม่รู้ตัว ในเรื่อง Cast Away เราอาจจะจำได้แค่ว่า Tom Hanks ติดเกาะกับเพื่อนคู่ซี้ของเขาอย่าง Wilson แต่ธีมของหนังจริงๆคือ การยึดติด-การปล่อยวาง ต้นเรื่องพระเอกบ้างาน ไม่มีเวลาให้ใคร ท้ายเรื่องปลงได้ ออกไปใช้ชีวิต ทวิลักษณ์อีกแล้ว เป็นลูกเล่นการเขียนบทที่ถูกเอามาใช้บ่อยก็จริง แต่ถ้ามันเป็นส่วนนึงของชีวิตทุกคนบนโลก ยังไงผู้ชมก็ชอบครับ มันเหมือนพวกเขาได้เห็นตัวเองผจญภัยผ่านเรื่องราวต่างๆ เป็นเวลา2ชั่วโมงเต็ม และถ้าหนังมันดีจริงๆ แค่2ชั่วโมงก็อาจเปลี่ยนชีวิตคนคนนึงได้ เหมือนที่คอหนังทุกคนเคยประสบมาแล้วนั่นแหละครับ
ความเป็นขั้วตรงข้ามของทุกสิ่งอย่าง มีความน่าสนใจในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่จุดที่ทำให้คนทั่วโลกชื่นชมสัญลักษณ์หยินหยางก็คือ ในฝั่งสีขาวมีจุดดำซ่อนอยู่ ในฝั่งสีดำก็มีจุดขาวซ่อนอยู่ นั่นหมายถึงทุกอย่างที่เราคิดว่าดีงามล้วนมีข้อเสีย สิ่งที่เลวทรามสุดๆก็อาจมีข้อดี และมันเปลี่ยนแปลงไปมาตลอดเวลา ใน Captain America: Civil War ความรักเพื่อนของสตีฟ โรเจอร์ส ทำให้เขาตัดสินใจที่ปกปิดความผิดที่บัคกี้ได้ทำไว้ ซึ่งคือการสังหารพ่อแม่ของโทนี่ สตาร์ค(โดนล้างสมองให้ทำ) และด้วยความรักเพื่อนนี่แหละ ที่ทำให้ทีม Avengers แบ่งแยกเป็น2ฝั่งในเวลาต่อมา(กลมเกลียว-แตกแยก) มันแสดงให้เห็นว่า แม้แต่แนวคิดที่น่ายกย่องอย่างการรักพวกพ้อง ก็สามารถเปลี่ยนเป็นสิ่งที่น่าชิงชังได้ ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับคำคำเดียวเท่านั้น “บริบท” แค่เปลี่ยนสถานการณ์แวดล้อมนิดหน่อย ขาวก็พร้อมกลายเป็นดำได้ทุกเมื่อ
ส่วนความหมายสุดท้ายของหยินหยาง
อันนี้ไม่จำเป็นต้องสาธยายให้ยืดยาว
มันเป็นคำสั้นๆที่ทุกคนเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
และยังเป็นประเด็นหลักของหนังเรื่อง Star Wars ทุกภาค
ดังที่อาจารย์โยดาได้กล่าวไว้
“จักรวาลไม่อาจคงอยู่อย่างสงบสุขได้
หากไร้ซึ่ง...ความสมดุล”
1 บันทึก
3
2
1
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย