30 ก.ค. 2020 เวลา 05:52 • การศึกษา
Smart shaming: เมื่อคนเก่งถูกบุลลี่
“เก่งเกินระวังไม่มีแฟนนะ”
“เรียนเก่งแล้วยังไง หาเงินสู้พวกเรียนไม่จบก็ไม่ได้”
“ไม่อยากคุยกับเด็กสายวิทย์หรอก พวกนี้พูดจาไม่รู้เรื่อง”
“สวยนะ ไม่อยากเชื่อเลยว่าหน้าตาแบบนี้จะสอบได้ที่หนึ่ง ปกติคนฉลาดมักจะหน้าตาแย่”
หลายคนอาจจะบอกว่าคนเรียนเก่งยังไงก็มีภาษีดีกว่าคนอื่นอยู่แล้ว ไม่ควรคิดมาก แต่หากถูกค่อนแคะกระแนะกระแหน ไปจนถึงถูกบุลลี่หรือรวมหัวกันจิกกัดอยู่ตลอดเวลานั้นก็อาจจะส่งผลเสียต่อจิตใจของคนถูกกระทำได้ในระยะยาว บางคนมีอาการซึมเศร้า ไม่มั่นใจในตนเอง มองโลกในแง่ร้าย เด็กบางคนอาจจะมีพฤติกรรมถดถอย ไม่อยากเก่งเกินหน้าเพื่อน แกล้งทำไม่ได้ ทิ้งการเรียนและเสียอนาคต
คุณคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่บุลลี่คนเก่งมั้ย?
ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย
สุภาษิตไทยนี้ทำให้รู้ว่า smart shaming นี้มีมาช้านาน จนเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิตในสังคมตะวันออก โดยที่ผู้หญิงน่าจะถูก smart shaming มากกว่าผู้ชาย เพราะค่านิยมที่ต้องวางตัวเป็นช้างเท้าหลัง ในนิทานเวตาลของอินเดียที่แต่งกันมายาวนานนับพันปียังมีคำกล่าวว่า “หญิงที่ฉลาดจะสร้างความทุกข์ใจให้สามีมากที่สุด”
แกล้งโง่จนพลาดโอกาสหลายอย่างในชีวิต
“แม่เปิดร้านอาหารทำงานกับฝรั่งหนูเลยพูดภาษาอังกฤษได้ แต่หนูไม่กล้าพูดที่โรงเรียนเพราะกลัวคนหมั่นไส้ค่ะ ต้องแกล้งไม่รู้เรื่องบ้าง แกล้งตอบผิดบ้าง” นี่เป็น 1 ในตัวอย่างของหลายๆเคสของคนที่ถูก Smart shaming แล้วได้รับผลกระทบจนไม่กล้าไปต่อ
มีคุณแม่คนหนึ่งเล่าให้เราฟังว่าเวลานัดเจอกันในหมู่ญาติก็ไม่กล้าบอกครอบครัวว่าลูกสอบได้ที่หนึ่ง สอบเข้าคณะที่เข้ายากๆได้เพราะกลัวลูกจะถูกญาติพี่น้องล้อเลียนหรือตั้งข้อรังเกียจ
ลองคิดดูว่าหากเด็กที่ฉลาดๆ มีพรสวรรค์ ต้องแกล้งโง่เพื่อให้อยู่ในสังคมได้ จะเป็นยังไง มีคุณครูท่านหนึ่งเคยเล่าว่าเด็กที่เป็นที่หนึ่งของชั้นตลอดคนหนึ่ง จู่ๆการเรียนก็ตกฮวบ ดีที่ครูสังเกตเห็นเลยเรียกน้องมาคุย ปรากฎว่าเค้าแกล้งทำข้อสอบไม่ได้ เพราะกลัวว่าถ้าสอบได้ที่หนึ่งตลอดเพื่อนจะเกลียด
วาทะกรรมแบ่งแยกชนชั้น
เวลาเรียนจบทำงานแล้ว แม้แต่การถูกถามว่าจบที่ไหนมาหรือทำงานอะไร “พอตอบไปก็รู้สึกได้ชัดว่าปฏิกิริยาของคนฟังแปลกไป แล้วก็เหมือนไม่อยากคบด้วยไปเลย ทั้งที่ทีแรกคุยกันดีๆ” เพื่อนที่เป็นทนายในอเมริกาบอก “ท้ายสุดก็ต้องไปรวมกลุ่มกับพ่อแม่ที่มีพื้นฐานเดียวกัน เป็นหมอ เป็นอาจารย์ จบปริญญาเอก ไม่ใช่ว่าเพราะหัวสูงนะ แต่เหมือนโดนคนที่ไม่จบปริญญาเค้าเหยียดเอาน่ะ”
หลายครั้งที่คำแนะนำดีๆจากนักวิชาการถูกโยนทิ้ง พร้อมกับคำดูถูกดูแคลนว่าเขาเหล่านั้นไม่ได้รู้ดี (ทั้งที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวมาเป็นสิบๆปี)
บางอาชีพก็ถูก smart shaming จนเป็นปกติในสังคม เช่น หมอ ทนาย คนมักพูดเปรียบเทียบผ่านสื่อราวกับว่าคนเหล่านี้เป็นพวก “เรียนเก่งขี้แพ้” ทั้งในไทยและต่างประเทศ
ยิ่งฉลาดยิ่งถูกจับผิด
รุ่นพี่คนหนึ่งจบกฎหมายจากHarvard แต่ต่อเลโก้ให้หลานไม่เป็น ไม่สามารถต่อให้เหมือนในภาพได้ เราก็เห็นเป็นเรื่องตลกแซวกันไป เพราะอายุอานามก็มากพอแล้ว ไม่มีการสูญเสียความมั่นใจใดๆ
แต่ถ้าเป็นเด็กอายุไม่ถึง 10 ขวบ น่าจะทำให้ใจเสียไม่น้อย ถ้าเด็กเรียนดีคนหนึ่งที่มีความรับผิดชอบจะโดนหมู่ญาติค่อนขอดว่าไม่เก่งจริง เพียงเพราะขึ้นรถเมล์ไม่ได้ เพื่อนที่จบวิศวะจุฬาบอกว่าโดนแขวะหนักมากที่เปลี่ยนหลอดไฟไม่เป็น เหมือนจะล้อได้ยันลูกบวช ทั้งที่งานก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับไฟฟ้าเลย เป็นเกี่ยวกับปิโตรเลียม ขุดเจาะน้ำมัน แล้วตัวเค้าเองก็ไม่เคยว่าใครที่เรียนไม่เก่งด้วย แต่กลายเป็นเพราะเรียนเก่ง งานดี เลยต้องทนฟังญาติข่มซะงั้น
สมัยเด็กๆเคยตอบภาษาอังกฤษในห้องได้หมด จนครูมาบอกให้สะกดคำให้ฟังด้วย แต่เราสะกดไม่ได้ เพราะไม่เคยเรียนเขียนอ่านภาษาอังกฤษ (ที่บ้านส่งไปเรียนกับครูฝรั่งแต่เด็กซึ่งในคลาสไม่ได้เน้นอ่านเขียนเลย) เลยถูกคุณครูทำโทษ ที่ตลกคือเพื่อนที่เจอตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็บอกว่าเคยโดนคล้ายๆกัน จนเกลียดวิชาภาษาอังกฤษไปเลย
Smart shaming ที่มากับ Body shaming
คนเก่งๆที่รูปร่างหน้าตาดีมากๆนั้นมีให้เห็นตลอด ไม่ว่าจะบุคคลระดับนางเอกที่มีดีกรีเกียรตินิยมจากสถาบันที่มีชื่อเสียง หรือแม้แต่บุคคลในแวดวงต่างๆที่หน้าตาหล่อสวยกว่าดาราเสียอีก แต่หลายคนบอกว่าถูก body shaming แรงกว่าคนไม่เก่ง เพราะเหมือนคนจะหมั่นไส้อยู่แล้ว บางทีโดนซึ่งหน้าเลย “หมอหล่อๆแบบนี้จะมีปัญญารักษาแม่ผมมั้ย หมอไปเป็นดาราดีกว่า” อาจารย์หมอท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังสมัยไปอยู่ต่างจังหวัดตอนหนุ่มๆ สิ่งที่อจ.ต้องพบเจอเลยทำให้กลายเป็นคนดุและไม่เป็นมิตรไป
ในทางกลับกัน เด็กเนิร์ดที่ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาโดดเด่นก็มักเป็นเหยื่อในการถูกบุลลี่จากเพื่อนๆได้ง่ายและบ่อยกว่าเด็กที่ไม่เรียนเลย
 
มาเช็คดูว่าเราเป็นคนชอบ smart shaming มั้ย
รู้สึกอยากจับผิดเป็นพิเศษเมื่อรู้ว่าคนที่เราเพิ่งรู้จักเป็นคนถูกจัดว่าฉลาด ดูว่าเค้าอ้วนมั้ย แต่งงานรึยังแล้วจับกลุ่มนินทา
เปรียบเทียบลูกเรากับลูกเพื่อนเสมอว่าใครเก่งกว่ากัน แล้วถ้าลูกคุณแพ้ คุณจะบอกเพื่อนให้ระวังลูกเค้ากลายเป็นเด็กมีปัญหา
มีอคติกับคนที่มีการศึกษาสูงกว่า
หมั่นไส้คนง่ายๆ โดยเฉพาะคนเก่งๆ ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกัน
รู้สึกว่าคนเก่งจะต้องสมบูรณ์แบบ ถ้าไม่เป๊ะทุกอย่างจะต้องหาทางพูดเหน็บแนม
ชอบติเด็กที่เรียนเก่งๆเพราะคิดว่าคนชมเยอะเดี๋ยวจะเหลิง หรือเดี๋ยวจะไม่เคารพเรา
ทำความเข้าใจเรื่อง พหุปัญญา
ถ้าเราอ่านแล้วรู้สึกว่าเราก็เคยเป็นนะ อาการแบบนี้ ให้ปรับ mindset เราก่อน อย่างแรกคือความเก่งไม่ได้มีแค่ IQ ดีอย่างเดียว นักวิทยาศาสตร์แยกความเก่งของคนไว้ 8 ด้าน ได้แก่ มนุษยสัมพันธ์ การรู้จักตนเอง คณิตศาสตร์/ตรรกศาสตร์ มิติสัมพันธ์ การเคลื่อนไหวร่างกาย ภาษา ธรรมชาติ ดนตรี
เพราะฉะนั้นการจะไปดูถูกคนที่เก่งคณิตศาสตร์ว่าไม่ได้เรื่อง เพราะมนุษยสัมพันธ์ไม่ดี หรือล้อเลียนเพื่อนที่เก่งภาษามากๆว่าเล่นเกมแพ้เด็กตลอดนั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูก เพราะเป็นเรื่องปกติมากๆที่คนเราจะทำในเรื่องที่ไม่ถนัดได้ลำบาก ผู้เขียนคิดว่าถ้าคนเราเข้าใจธรรมขาติจุดนี้ จะหยุดทับถมเด็กที่เรียนไม่เก่ง และหันไปมองหาสิ่งที่เด็กคนนั้นถนัดแทน ในขณะเดียวกันก็จะเลิกกดดัน บุลลี่เด็กที่ผลการเรียนดีได้เช่นกัน
โฆษณา