Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนแมน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
31 ก.ค. 2020 เวลา 11:40 • สิ่งแวดล้อม
กรณีศึกษา ขาแท่นปิโตรเลียมที่ไม่ใช้แล้ว สร้างประโยชน์อย่างไรได้บ้าง?
มนุษย์เรามีบ้านเป็นที่อยู่อาศัย
สัตว์น้ำในทะเลก็มีปะการังเปรียบเสมือนบ้านหลังหนึ่งเช่นกัน
แต่..รู้หรือไม่ว่า เวลานี้บ้านของสัตว์น้ำในทะเลกำลังค่อยๆ ถูกทำลาย
เมื่อปะการังที่มีพื้นที่รวมกัน 148,955 ไร่ ในพื้นที่อ่าวไทยและฝั่งอันดามัน
กำลังเจอความท้าทาย
ปี 2541 แนวปะการังเสียหาย 36.4% จากทั้งหมด
ปี 2558 แนวปะการังเสียหาย 78.4% จากทั้งหมด
ในเวลาเพียงแค่ 17 ปี ความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
เรื่องนี้หลายคนอาจจะมองเป็นเรื่องไกลตัว
แต่ความจริงแล้วมันเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับเราทุกคน
เพราะถ้าไม่มีปะการัง ก็ไม่มีที่อยู่อาศัย ให้แก่สัตว์น้ำในทะเล
ผลร้ายที่ตามมาก็คือ สัตว์น้ำในทะเลก็จะมีปริมาณน้อยลง
ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ และย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์ในที่สุด
มีอีกเรื่องที่หลายคนอาจยังไม่รู้
แนวปะการังเปรียบเสมือนเขื่อนธรรมชาติอันทรงพลัง
ที่สามารถลดความแรงของคลื่นทะเลได้ 97% และความสูงของคลื่น 84%
ซึ่งถือเป็นผู้ช่วยตัวสำคัญที่สามารถลดภัยพิบัติทางท้องทะเล
และปัญหาเหล่านี้ ได้ทำให้กลุ่มบริษัทปิโตรเลียมในบ้านเรา
ต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สัตว์น้ำใต้ท้องทะเลมีบ้านอยู่
แล้วบริษัทปิโตรเลียม กำลังทำอะไรกัน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
การผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยดำเนินการมากว่า 40 ปีแล้ว โดยมีการติดตั้งแท่นต่างๆ เพื่อผลิตปิโตรเลียมรวมกันกว่า 400 แท่น
ซึ่งแท่นเหล่านี้ บริษัทปิโตรเลียมจะต้องรื้อถอนออก เมื่อเข้าเงื่อนไขต่างๆ เช่น เมื่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียมสิ้นสุดลง หรือ ไม่ได้ใช้งานอีกต่อไป หรือปริมาณสำรองปิโตรเลียมไม่สามารถผลิตได้คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์
ซึ่งการรื้อถอนสามารถสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจได้
ตัวอย่างที่เห็นภาพได้ชัดก็คือการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกช ที่ไม่ได้ส่งมอบให้รัฐหลังสิ้นสุดสัมปทานในช่วงปี 2565 - 2566 จำนวน 53 แท่น เบื้องต้นก็มีการคาดการณ์ว่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน 1,000 อัตราต่อปี และมีมูลค่าการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท
และที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือ ในหลายประเทศ มีการนำขาแท่นปิโตรเลียม มาทำเป็นปะการังเทียม เหมือนกับที่เราเคยเห็นการนำวัสดุต่างๆ ที่แข็งแรง คงทน และมีขนาดใหญ่ ที่ไม่ได้ใช้แล้วมาทำเป็นปะการังเทียม เช่น การนำตู้รถไฟ หรือรถถังไปจัดวางให้กลายเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำ ซึ่งก็มีแนวคิดที่จะนำมาทำในประเทศไทยเช่นเดียวกัน โดยได้เริ่มโครงการต้นแบบขึ้นที่เกาะพะงัน
การศึกษาของโครงการนี้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2556 ระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โดยนำโครงสร้างเหล็กชนิดเดียวกับขาแท่นปิโตรเลียมไปวางเป็นปะการังเทียม บริเวณอ่าวโฉลกหลำของเกาะพะงัน ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมื่อเวลาผ่านไป 7 ปีพบว่าแท่นเหล็กนี้มีปะการังมาเกาะติดกันอยู่เป็นแนวเต็มไปหมด
พร้อมกับมีสัตว์น้ำต่างๆ เข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก
1
และสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่แค่ความอุดมสมบูรณ์ใต้ท้องทะเลเพียงอย่างเดียว
แต่ยังส่งผลไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้คนที่อยู่บนภาคพื้นดิน
เมื่อสัตว์น้ำในทะเลมีปริมาณเยอะขึ้น ชาวประมงพื้นบ้านก็มีรายได้เพิ่มขึ้น
และช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจชมความงดงามใต้ท้องทะเล
พอเรื่องเป็นแบบนี้ก็จะเพิ่มโอกาสทำมาค้าขายให้กับชาวบ้านมากยิ่งขึ้น
และอาจสร้างธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวใหม่ๆ มากมาย ซึ่งส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นด้วย
จากความสำเร็จของโครงการต้นแบบ รวมถึงผลการวิจัยสนับสนุนอื่นๆ จึงเกิดเป็นโครงการนำร่องในการนำขาแท่นปิโตรเลียม มาจัดวางเป็นปะการังเทียมขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย บริเวณเกาะพะงัน โดยเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.), เชฟรอน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนนี้แล้ว โดยผลของโครงการนำร่องนี้ก็จะสามารถนำมาเป็นแนวทางในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมได้ในอนาคต
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาให้เราได้อย่างดี
ใครจะไปคิดว่าขาแท่นปิโตรเลียม ที่สิ้นสุดหน้าที่หลังจากทำงานมากว่า 40 ปี
จะสามารถยังประโยชน์อื่นให้กับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล จนถึงผู้คนบนพื้นดินให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทางอ้อม
เพียงแค่เรามองให้ “ต่าง” แล้วคิดให้รอบด้าน
บางที สิ่งที่มีมูลค่าเท่าเศษเหล็ก สามารถสร้างประโยชน์มหาศาลขึ้นมาได้ทันที
References
-
https://km.dmcr.go.th/th/c_1/s_240/d_12157#.VLTA5tKsXNs
-
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0964569118304484
-
http://www.mkh.in.th/index.php?option=com_content&view=article&id=60&Itemid=66&lang=th#status
-
https://reefresilience.org/th/restoration/reef-substrate/substrate-addition/uses-for-restoration/
-
https://www.eiaburapha.com/site/2019/09/24/ปะการังเทียม-ฟื้นฟูโล
-
https://km.dmcr.go.th/th/c_1/s_240/d_12157#.VLTA5tKsXNs
-
https://m.facebook.com/dmffanpage/photos/a.684590744897006/2962348057121252/?type=3&source=57&__tn__=EH-R
12 บันทึก
107
2
12
12
107
2
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย