30 ก.ค. 2020 เวลา 11:51 • การเมือง
EP.3 [COVID-19 Edition] พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นเกินความจำเป็นหรือไม่?
หลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศให้มีการบังคับใช้ พระราชกำหนดฉุกเฉินหรือ พรก ฉุกเฉินที่เรารู้จัก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า ตัวกฎหมายนี้ มีผลกระทบแก่เราอย่างไรบ้าง ในเชิงของสิทธิที่ถูกลิดรอนลง ก่อนอื่น เรามาดูกันก่อนดีกว่าค่ะ ว่า พรก.ฉุกเฉินนั้นมีที่มาอย่างไร
ภาพจาก Brandinside ธุรกิจ คิดใหม่
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้ได้มีการบังคับใช้โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับปี 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ และโดยอำนาจตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก. ฉุกเฉินฉบับเดียว ยังมีข้อกำหนดอีก 3 ฉบับได้ถูกบังคับใช้ด้วยเช่นกัน เช่น กำหนดไม่ให้มีการเข้าออกพื้นที่เสี่ยง กำหนดเวลาเคอร์ฟิว ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมและกักตุนสินค้า ระบุโทษของการแชร์เฟคนิวส์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของโรคระบาด รวมไปถึงการให้แต่ละจังหวัดออกประกาศห้ามไม่ให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอ้างอำนาจตามมาตรา 35 (1) ของ พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ ร่วมกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ใครที่ฝ่าฝืนคำสั่งมีโอกาสที่จะถูกลงโทษทางอาญารุนแรงถึงขั้นต้องจำคุก
เป็นที่คาดการณ์กันว่า มาตรการเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ของรัฐบาลจะมีออกมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของสุขภาพ มากกว่า เสรีภาพของประชาชน ทำให้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่ผ่านมานั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นอกจากจะประกาศข้อกำหนดฉบับดังกล่าวแล้ว ยังกล่าวอีกด้วยว่า  #สุขภาพต้องมาก่อนเสรีภาพ เหตุนี้เอง ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า
“ กฎหมายพิเศษพิเศษฉบับนี้มอบอำนาจในการสั่งการให้นายกฯมากขนาดไหน และ อำนาจที่เพิ่มขึ้นนี้เอง พรากอะไรไปจากเราบ้าง? “
เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อำนาจสั่งการทั้งหมดจะถูกรวมศูนย์ไว้ที่นายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ สามารถสั่งการต่อไปยังกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งจะถ่ายทอดคำสั่งไปยังแต่ละจังหวัดอีกทีหนึ่ง
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ได้วิเคราะห์ถึงการรวบอำนาจของนายกรัฐมนตรี โดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ว่ามีนัยยะทางการเมืองอยู่
นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย ถึงเรื่องดังกล่าวว่า การนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่การยึดอำนาจคณะรัฐมนตรี(ครม.) แต่เป็นรัฐประหารเงียบ ตนมองร้าย แต่ไม่มีนัยที่จะลดประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล หรือแพทย์ ในการต่อสู้กับเชื้อโรค แต่เมื่อเราประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1.กลไกทางการเมืองหยุดหมดแล้ว 2.เราเห็นสภาวะคล้ายปี 2476 เหมือนการปิดสภา นำมาสู่การรัฐประหารครั้งแรก 3.บทบาทพรรคการเมืองยุติไปโดยสภา 4.พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้ามาควบคุมสื่อหมดแล้ว 5.แก้ปัญหาโครงสร้างอำนาจของรัฐ 6.ปิดบทบาทของฝ่ายค้าน 7.ยกอำนาจการดำเนินการให้ข้าราชการประจำ 8.ห้ามชุมนุม ทำให้มีอำนาจจัดการกับผู้เห็นต่าง 9.อำนาจรวมอยู่กับตัวนายกฯคนเดียว
(อ้างอิงจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ)
เสรีภาพ vs สุขภาพ
หลายคนอาจมีคำถามว่า การเสียเสรีภาพนิดๆหน่อยๆ เพื่อส่วนรวมก็ไม่ได้แย่นี่ แล้วเราจะกังวลไปทำไม? คำตอบคือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2548 นั้น ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อควบคุมโรคระบาดตั้งแต่แรก แต่เป็นการควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่บริเวรสามจังหวัดชายแดนใต้ และในทางกฎหมาย ประเทศไทยเองก็มีกฎหมายที่สามารถนำมาใช้เพื่อจัดการปัญหาเรื่องโรคระบาดโดยเฉพาะ นั่นคือ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ศ. 2558 ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ก็ได้มีการประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวมาอยู่แล้ว ทำให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับถูกใช้ร่วมกันมาจนถึงขณะนี้
ดังนั้น พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อาจจะเรียกได้ว่า “เกินความจำเป็น” เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และ ถูกอ้างใช้โดยรัฐบาล ด้วยคีย์เวิร์ดเดิมๆ คือเพื่อ “ความสงบ”
ติดตามต่อได้ใน EP.4 The Young Diplomat จะมาอภิปรายกันต่อ ว่าด้วยเรื่อง ผลกระทบของพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย รอติดตามกันนะคะ
โฆษณา