30 ก.ค. 2020 เวลา 12:02 • การศึกษา
ถ้าประเทศไทยไม่มีไฟฟ้าใช้เอง
ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยปกติแล้ว การขยายตัวการเจริญเติบโตของประเทศ จะมีการวางยุทธศาสตร์ด้านพลังงานเอาไว้ ซึ่งถือเป็นแผนหลักที่จะมีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและการลงทุนทางเศรษฐกิจซึ่งจะต้องมีปริมาณไฟสำรองเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อสร้างความมั่นใจและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า การใช้ไฟจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าเริ่มอยู่ในวงจำกัด ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าเดิมทั้งที่ใช้ถ่านหิน อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะ จ.ลำปาง ก็จะครบกำหนด จากปริมาณถ่านหินและอายุของโรงไฟฟ้า เป็นต้น โรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เช่น โรงไฟฟ้าเขื่อนภูมิพล ก็จะเริ่มมีความไม่แน่นอนจากปริมาณน้ำที่ไม่คงที่ โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซจากอ่าวไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ก็จะ ประสบปัญหาจากการให้สัมปทานก๊าซในอ่าวไทยที่ยังตกลงกันไม่ได้
โรงงานไฟฟ้าถ่านหิน
ปัจจุบันเราต้องอาศัยก๊าซผลิตกระแสไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซียและพม่า เป็นหลัก และต้องซื้อกระแสไฟฟ้าจากประเทศลาว ในอนาคตอันใกล้นี้เราต้องเตรียมซื้อน้ำเพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าจาก พม่า ด้วยทุกอย่างต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก
พลังงานลมที่ใช้ผลิตไฟฟ้า
ในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล หรือโรงไฟฟ้าพลังลม มีต้นทุนสูงและไม่มีเสถียรภาพ ขึ้นอยู่กับปริมาณวัตถุดิบ ประกอบกับด้วยภูมิประเทศเราไม่สามารถที่จะสร้างเขื่อนขึ้นมาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีก ยกเว้นในภาคใต้ ที่พอจะสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กได้อีกแห่งเดียว
ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ จะทำให้ค่าไฟฟ้าในอนาคตมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ และถ้ายังไม่กำหนดแผนในการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตที่ชัดเจนใน 5 ปีนี้เนื่องจากโรงไฟฟ้าแต่ละโรงอย่างน้อยต้องใช้เวลาก่อสร้างถึง 5 ปี จะทำให้พลังงานไฟฟ้าของประเทศมีปัญหาแน่นอน
จากความไม่แน่นอนในการลงทุนและภาคอุตสาหกรรม ที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและมีความเสี่ยง ชาวบ้านต้องใช้ไฟแพงขึ้นแน่นอน กระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศชัดเจน
โฆษณา