30 ก.ค. 2020 เวลา 22:41 • หุ้น & เศรษฐกิจ
คุณเป็นหนึ่งใน 0.18% ของนักลงทุนผู้โชคร้ายหรือไม่?
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งเกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็นการที่มี circuit breaker เกิดขึ้นติดๆกันหลายวัน และก็ไม่ใช่แต่ในไทย มันเกิดขึ้นในทุกหย่อมหญ้าทั่วโลก แบบว่า "ที่ไหนมีหุ้น ที่นั้นมีการเทกระจาดขายทุกราคา" ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
หลายคนที่ยอมรับสภาพในช่วงนั้น นั่งดูพอร์ตที่ติดลบมากขึ้นๆ ราคาที่ไหลลงๆ เหมือนกับจะไม่มีวันหยุด คงไม่อาจจะจินตนาการได้ว่าในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ราคาหุ้นจะเพิ่มสูงขึ้น ชนิดที่เรียกได้ว่าไม่ใช่แค่ 'หลุดดอย' แต่ได้กำไรติดมือมาแบบงงๆกันไม่น้อยเลยทีเดียว
ถ้าคุณเป็นคนกลุ่มนี้ ต้องขอแสดงความยินดีด้วยที่ความเชื่อมั่นเด็ดเดี่ยวในหุ้นที่ถือทำให้พอร์ตรอดปลอดภัยจากพิษเศรษฐกิจ (อย่างน้อยในระลอกแรก)
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีเช่นนี้ หนังสือพิมพ์ The Financial Times รายงานว่าในช่วงเวลาเพียง 5 สัปดาห์นับจากตอนที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯทำ All-time high เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงปลายเดือนมีนาคมที่ตลาดตกลงถึงจุดต่ำสุด มีนักลงทุนเทขายกองทุนรวมและ ETF เป็นเงินมากถึง 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือนับตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบัน ยังคงมีเงินลงทุนไหลออกสุทธิอยู่ที่ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่านักลงทุนส่วนใหญ่ที่ขายหุ้นออกไปในช่วงที่ตลาดหุ้นเทกระจาด ไม่กล้ากลับเข้ามาลงทุน
พวกเขาเหล่านี้เสียโอกาสทองที่จะได้กำไรคืน เพราะ 'ตกรถ' หรืออาจจะเรียกได้ว่า 'ตกจรวด' เพราะหุ้นมันขึ้นไวมาก มากเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว
นี่แสดงให้เห็นว่าคนที่ขายหุ้นเพราะพิษโควิด ไม่ได้เก่งจริงเสมอไป พวกเขาส่วนมากไม่สามารถกลับเข้ามาในตลาดได้ถูกจังหวะและพลาด 'วันที่ดีที่สุด' ไปหลายวัน หลายคนอาจจะต้องกินองุ่นเปรี้ยวเพราะต้องทนดูนักลงทุนไม่ประสีประสาที่ไม่รู้อะไรมากแต่ ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำเพียงเพราะ 'ไม่ได้ขาย'
แต่ในความโหดร้ายยังมีข่าวดีเพราะเงินที่ไหลออกช่วงก.พ.-มี.ค. คิดเป็นเพียง 0.176% ของทรัพย์สินภายใต้การจัดการทั้งหมดของกองทุนและ ETF ในสหรัฐฯ (Asset under management ทั้งหมดมีมูลค่า 25.5 ล้านล้านเหรียญ) ประมาณได้ว่ามีเพียง 0.176% ของนักลงทุนเท่านั้นที่ 'ตกรถ'
'เวลาในตลาด ไม่ใช่การเดาทางตลาด' เป็นคำแนะนำในการลงทุนที่ใช้ได้เสมอ มองการลงทุนในระยะยาวแล้วเราจะมีภูมิคุ้นกันไม่ให้ตกรถ ขอให้ลงทุนอย่างมีความสุขครับ
ปริมาณเงินที่ไหลเข้า-ออกสุทธิจากกองทุนและ ETF ที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ในปี 2020. (เครดิต ​The Financial Times)
โฆษณา