1 ส.ค. 2020 เวลา 01:01 • ประวัติศาสตร์
"ใบลานทอง" สำคัญมากน้อยเพียงใด มีความอะไรซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ใบลานทอง นั่นคือสิ่งที่ทุกท่านต้องติดตามอ่านทุกตัวอักษร และจะได้ลิ้มรสกับสิ่งที่มีค่าทางจิตใจเกินจินตนาการ แต่ท่านสัมผัสได้จากบทความนี้
พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ เป็นคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานฉบับสมบูรณ์ชุดแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังเสร็จสิ้นการสังคายนาครั้งแรกหลังกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย
ราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์สถาปนาขึ้นเมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ ๑ เฉลิมพระนาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงย้ายราชธานีจากฝั่งกรุงธนบุรีมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และพระราชทานนามราชธานีแห่งใหม่ว่า ‘กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์’
แผ่นดินไทยขณะนั้นเพิ่งผ่านความคุกกรุ่นของสงครามเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า หรือแม้ในรัชสมัยพระองค์เองก็ยังปรากฏมีศึกสงครามอย่างต่อเนื่อง บ้านเมืองถูกข้าศึกทำลายย่อยยับ จิตใจของผู้คนในชาติบอบช้ำจากการสูญเสีย
พระองค์จึงทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะปกป้องเอกราชของบ้านเมือง ควบคู่ไปกับการเร่งฟื้นฟูขวัญและกำลังใจของพสกนิกรในชาติ ด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้กลับมายิ่งใหญ่ไพศาลเฉกเช่นอดีตราชธานีให้จงได้ ดั่งปฐมบรมราชโองการที่แสดงพระราชปณิธานของพระองค์ว่า
“ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี”
Cr: https://i.pinimg.com/originals/c6/27/73/c627730072fb0e7ba74836aa25b7154f.jpg
ในด้านศาสนสถาน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง เจริญรอยตามพระราชประเพณีสร้างพระอารามหลวงในเขตพระบรมหาราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา
พร้อมทั้งสร้างหอพระไตรปิฎก พระราชทานนามว่า หอพระมณเฑียรธรรม ไว้เป็นสถานที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกของหลวง นับเป็นหอสมุดพระพุทธศาสนาของหลวงหลังแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
หอพระมณเฑียรธรรม
ในด้านพระธรรม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สานต่องานรวบรวมคัดลอกคัมภีร์พระไตรปิฎกที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงทรงริเริ่มไว้แต่ครั้งกรุงธนบุรี แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหอหลวงจะเสร็จสมบูรณ์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมาดำเนินการต่อ พระองค์มีพระราชวินิจฉัยว่า ข้อความในพระไตรปิฎกฉบับหลวงยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก เนื่องจากคัดลอกจากต้นฉบับจากหัวเมืองน้อยใหญ่ที่ไม่ครบถ้วน
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงทรงอาราธนาสมเด็จพระอริยวงษาญาณ สมเด็จพระสังฆราช(ศรี)และพระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญจำนวนร้อยรูปมาสอบถาม
ครั้นทรงสดับว่าพระไตรปิฎกที่มีอยู่ผิดเพี้ยนจริง และฝ่ายคณะสงฆ์ก็ประสงค์จะทำนุบำรุงให้สมบูรณ์ถูกต้อง แต่มีกำลังไม่พอจะกระทำให้สำเร็จได้ จึงทรงอาราธนาให้คณะสงฆ์จัดทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น
นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๒ บนแผ่นดินราชอาณาจักรไทย โดยมีพระสงฆ์ ๒๑๘ รูป ราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ ท่าน มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ทำการสังคายนา ณ วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร) โดยนำคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหอหลวงมาตรวจสอบ ใช้เวลา ๕ เดือนจึงเสร็จสมบูรณ์
Cr: shorturl.at/htDNW
ในบันทึกพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ บันทึกไว้ว่าตลอดระยะเวลา ๕ เดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระอนุชาเสด็จไปพระอารามทุกวัน วันละ ๒ ครั้ง เวลาเช้าทรงประเคนสำรับอาหาร ส่วนเวลาเย็นทรงถวายน้ำอัฐบาล (น้ำผลไม้คั้น) และธูปเทียนทุกวัน
แสดงให้เห็นพระอุตสาหะและพระราชจริยาวัตรอันงดงาม ที่พระองค์ทรงทุ่มเทในฐานะที่เป็นองค์ศาสนูปถัมภกเพื่อสนับสนุนให้การกระทำสังคายนาครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์ให้จงได้ เพื่อยังคำสอนอันบริสุทธ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้คืนกลับมาสู่แผ่นดินไทย ดังพระราชดำรัสว่า…
ครั้นเมื่อการสังคายนาเสร็จสมบูรณ์เมื่อกลางเดือน ๕ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๓๒ ทรงสละพระราชทรัพย์จ้างช่างจารจารึกลงในใบลานด้วยอักษรขอม จารึกเนื้อหาพระวินัย พระสูตร พระปรมัตถ์ และสัททาวิเสส
ปิดทองแท่งทับทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้น ห่อด้วยผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหมแพรเบญจพรรณ มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึก และฉลากทอเป็นตัวอักษร บอกชื่อพระคัมภีร์จำนวน ๓๕๔ คัมภีร์ รวมเป็นหนังสือใบลาน ๓,๖๘๖ ผูกด้วยกัน
คัมภีร์ใบลานฉบับทองใหญ่ ไม้ประกับทองทึบ ฉลากทอ Cr: คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์
เรียกคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหลวงนี้ว่า ‘ฉบับทองทึบ’ และเรียกฉบับหอหลวงว่า ‘ฉบับสังคายนา’ หรือที่นิยมเรียกว่า ‘ฉบับครูเดิม’
ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลอื่นก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระไตรปิฎกฉบับทองทึบขึ้นอีก จึงเรียกฉบับเดิมที่สร้างสมัยรัชกาลที่ ๑ ว่า ฉบับทองใหญ่ ประดิษฐานในตู้ประดับมุก รักษาไว้ที่หอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ต่อมายังทรงสร้างพระไตรปิฎกขึ้นอีก ๒ ชุด เพื่อใช้ในการสอบพระปริยัติธรรมในกรมราชบัณฑิต เรียกว่า ‘ฉบับรองทรง’ และ ‘ฉบับทองชุบ’
นอกจากนี้เพื่อให้พระภิกษุสามเณรทั่วแว่นแคว้นมีพระไตรปิฎกฉบับถูกต้องสมบูรณ์ไว้เล่าเรียนศึกษา พระองค์จึงทรงสร้างพระไตรปิฎกพระราชทานทุกพระอารามหลวง และพระราชทานอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์สามารถยืมพระไตรปิฎกฉบับหลวงไปคัดลอกเองได้
(บน) คัมภีร์ใบลานฉบับรองทรง , (ล่าง) คัมภีร์ใบลานฉบับทองชุบ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงให้ความสำคัญทั้งงานสืบสานราชประเพณีด้านสถาปัตยกรรมทางศาสนา งานรวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกต่อจากบูรพกษัตริย์ จารจารึกจัดเก็บอย่างประณีตงดงามทรงคุณค่า และงานสนันสนุนส่งเสริมพระภิกษุสามเณรให้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย
ส่งผลให้พระพุทธศาสนากลับมารุ่งเรืองทัดเทียมอาณาจักรไทยโบราณในกาลก่อน ยังขวัญและกำลังใจให้เกิดแก่อาณาประชาราษฎร์ และทำให้พระพุทธศาสนายังงอกงามไพบูลย์บนผืนแผ่นดินไทยมาจนปัจจุบัน
เรียบเรียงจาก บทความวารสารอยู่ในบุญเรื่อง
พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก ตอนปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ฉบับเมษายน ๒๕๕๘
อ้างอิง
ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร.
คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.
ดินาร์ บุญธรรม. พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา.
กรุงเทพฯ : สายธุรกิจโรงพิมพ์, ๒๕๕๕.
แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, หม่อมราชวงศ์. สถาปัตยกรรมพระบรมหาราชวัง.
กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, ๒๕๓๑.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา