4 ส.ค. 2020 เวลา 02:00 • การศึกษา
#วัฒนธรรมด้านอาหารของคนล้านนาอีกอย่างหนึ่งที่คนสมัยนี้จะแปลกใจเมื่อได้ยินคำนี้ "ข้าวบ่าย"ที่ไม่ได้หมายถึงอาหารที่ทานหลังเที่ยง และรูปร่างหน้าตาเป็นเช่นไร
ข้าวบ่ายน้ำพริกตาแดงกับปลาทู
#ข้าวบ่าย หมายถึงอาหารประเภทกินด่วนแบบโบราณ มีข้าวเหนียวนึ่งและไส้ ซึ่งอาจจะเป็นปลาทูนึ่ง นำมาย่างไฟ หรือนึ่ง หมูเค็ม จิ๊นแห้ง (จิ๊นเกื๋อ) นํ้าพริกแดง ผักกาดดอง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะใส่ตามชอบก็ได้ ส่วนใหญ่นิยมไส้จิ๊นแห้งกับน้ำพริกตาแดง หรือไส้ปลาทูย่างหรือทอด นำไปย่างกับเตาถ่าน หรือไม่ย่างก็ได้ อาจเรียกชื่อตามไส้ เช่น ข่าวบ่ายปลาทู ข้าวบ่ายจิ๊นแห้ง ถ้าใช้ไส้เป็นน้ำพริกผสมกับน้ำมันพืชหรือน้ำมันหมูเล็กน้อย นำไปย่างไฟ เรียกว่า ข้าวบ่ายน้ำมัน จะใช้น้ำพริกตาแดง หรือทำน้ำพริกเองโดยใช้พริกขี้หนูแห้ง กระเทียม หอมแดง นำมาย่างไฟ โขลกให้ละเอียด ใส่เกลือและน้ำมันพืชหรือน้ำมันหมู แล้วนำไปย่างไฟ หากว่าต้องการความนุ่มก็เอาไปนึ่ง
ข้าวบ่ายน้ำปู
ในสมัยเด็กๆหลังจากเลิกเรียนแล้วก็มีความหิว ก็สามารถทำข้าวบ่ายง่ายๆเช่นเอากะปิ บ่ายน้ำปู๋บ้าง ปลาทูเค็มบ้าง ไข่ทอดบ้าง ไข่ต้มบ้าง มะขามเปรี้ยวหรือมะขามหวานบ้าง ปลาป่นบ้าง อั่วทาข้างในข้าวเหนียวแล้วปั้นเป็นแท่งกัดกินให้อิ่มไปได้บ้าง ถือเป็นข้าวปั้นซูซิแบบล้านนาอย่างหนึ่ง
ข้าวบ่ายมะขาม
ในสมัยโบราณการเตรียมข้าวบ่ายจะเป็นการทำเพื่อประทังความหิวเวลาเดินทางระหว่างวันใช้ใบตองเป็นวัสดุหลักในการห่อบรรจุ หากว่าเดินทางรอนแรมหลายวันก็มักจะพกข้าวสารและพริกป่นปลาป่นเกลือ รูปแบบจะเป็นการทำข้าวหลามและประกอบอาหารด้วยของป่าต่างๆ เช่นเห็ดและผักป่าต่างๆที่สามารถหาได้ในบริเวณนั้นๆ
โฆษณา