31 ก.ค. 2020 เวลา 05:27 • การศึกษา
พระสูตรเรื่อง : "อริยสัจสี่ ที่ทรงแสดงโดยพิสดาร"
(นัยที่หนึ่ง)
ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ท. คือ อริยสัจ ๔ อย่างอยู่นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมรู้แจ้งชัดตามเป็นจริงว่า “นี้คือทุกข์,” ย่อมรู้แจ้งชัดตามเป็นจริงว่า “นี้คือ เหตุให้เกิดทุกข์,” ย่อมรู้แจ้งชัดตามเป็นจริงว่า “นี้คือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,” ย่อมรู้แจ้งชัดตามเป็นจริงว่า “นี้คือหนทางเป็นเครื่องให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์”
๑. ทุกขอริยสัจ
ภิกษุ ท. ! ก็ อริยสัจคือทุกข์ นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ความเกิดก็เป็นทุกข์, ความแก่ก็เป็นทุกข์, ความตายก็เป็นทุกข์, ความโศก ความร่ำไร-
รำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์, ความระคนด้วยสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์, ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์,ความที่ตนปรารถนาแล้วไม่ได้สิ่งนั้นสมหวัง ก็เป็นทุกข์, กล่าวโดยย่อ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือทั้ง ๕ เป็นทุกข์.
ภิกษุ ท. ! ความเกิด เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! การเกิดการกำเนิด การก้าวลง (สู่ครรภ์) การบังเกิด การบังเกิดโดยยิ่ง ภาวะแห่งความปรากฏของขันธ์ทั้งหลาย การที่สัตว์ได้อายตนะทั้งหลาย ในจำพวกสัตว์นั้น ๆ ของสัตว์นั้น ๆ, นี้เราเรียกว่าความเกิด.
ภิกษุ ท. ! ความแก่ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ความแก่ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนังเหี่ยว ความสิ้นไป ๆ แห่งอายุ ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ในสัตวนิกายนั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ, นี้เราเรียกว่าความแก่.
ภิกษุ ท. ! ความตาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! การจุติความเคลื่อน การแตกสลาย การหายไป การวายชีพ การตาย การทำกาละการแตกแห่งขันธ์ ท. การทอดทิ้งร่าง การขาดแห่งอินทรีย์คือชีวิต จากจำพวกสัตว์นั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ, นี้เราเรียกว่าความตาย.
ภิกษุ ท. ! ความโศก เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ความโศกการโศก ภาวะแห่งการโศก ความโศกในภายใน ความโศกทั่วในภายใน ของบุคคลผู้ประกอบแล้วด้วยความฉิบหายอันใดอันหนึ่ง หรือของบุคคลผู้อันความทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว, นี้เราเรียกว่าความโศก.
ภิกษุ ท. ! ความร่ำไรรำพัน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน การคร่ำครวญ การร่ำไรรำพัน ภาวะแห่งผู้คร่ำครวญภาวะแห่งผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบแล้วด้วยความฉิบหายอันใดอันหนึ่งหรือของบุคคลผู้อันความทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว. นี้เราเรียกว่าความร่ำไรรำพัน.
ภิกษุ ท. ! ความทุกข์กาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! การทนได้ยากที่เป็นไปทางกาย การไม่ดี (คือไม่สบายเป็นปกติ) ที่เป็นไปทางกายการทนยากที่เกิดแต่ความกระทบทางกาย ความรู้สึกที่ไม่ดีอันเกิดแต่ความกระทบทางกายใด ๆ, นี้เราเรียกว่าความทุกข์กาย.
ภิกษุ ท. ! ความทุกข์ใจ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! การทนยากที่เป็นไปทางใจ การไม่ดี (คือไม่สบายเป็นปกติ) ที่เป็นไปทางใจ การทนยากที่เกิดแต่ความกระทบทางใจ ความรู้สึกที่ไม่ดีอันเกิดแต่ความกระทบทางใจใด ๆ, นี้เราเรียกว่าความทุกข์ใจ.
 
ภิกษุ ท. ! ความคับแค้นใจ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ความกลุ้มใจ ความคับแค้นใจ ภาวะแห่งผู้กลุ้มใจ ภาวะแห่งผู้คับแค้นใจ ของบุคคลผู้ประกอบแล้วด้วยความฉิบหายอันใดอันหนึ่ง หรือของบุคคลผู้อันทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว, นี้เราเรียกว่าความคับแค้นใจ.
ภิกษุ ท. ! ความระคนด้วยสิ่งไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ในโลกนี้ อารมณ์คือรูป เสียง รส โผฏฐัพพะเหล่านั้น อันเป็นที่ไม่น่าปรารถนารักใคร่พอใจ แก่ผู้ใด หรือว่าชนเหล่าใดเป็นผู้ไม่หวังประโยชน์ ไม่หวังความเกื้อกูล ไม่หวังความผาสุก ไม่หวังความเกษมจากเครื่องผูกรัด ต่อเขา. การที่ไปด้วยกัน การมาด้วยกัน การหยุดอยู่ร่วมกัน ความปะปนกันกับด้วยอารมณ์ หรือบุคคลเหล่านั้น, นี้เราเรียกว่า ความระคนด้วยสิ่งไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์.
ภิกษุ ท. ! ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ในโลกนี้ อารมณ์คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะเหล่านั้น อันเป็นที่น่าปรารถนารักใคร่พอใจ ของผู้ใด หรือว่าชนเหล่าใดเป็นผู้หวังประโยชน์หวังความเกื้อกูล หวังความผาสุก หวังความเกษมจากเครื่องผูกรัดต่อเขาคือมารดาบิดา พี่น้องชาย พี่น้องหญิง มิตร อมาตย์ ญาติสาโลหิตก็ตาม, การที่ไม่ได้ไปร่วม การที่ไม่ได้มาร่วม การไม่ได้หยุดอยู่ร่วม ไม่ได้ปะปนกับด้วยอารมณ์หรือบุคคลเหล่านั้น, นี้เราเรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักเป็นทุกข์.
ภิกษุ ท. ! ความที่สัตว์ปรารถนาแล้วไม่ได้สิ่งนั้นสมหวังเป็นทุกข์เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ความปรารถนาเกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า “โอหนอ ! ขอเรา ท. ไม่พึงเป็นผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาและความเกิดไม่พึงมาถึงเรา ท. หนอ,” ก็ข้อนี้ไม่ใช่สัตว์จะบรรลุได้ด้วยความปรารถนา. แม้นี้ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์.
ภิกษุ ท. ! ความปรารถนาเกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า “โอหนอ ! ขอเรา ท. ไม่พึงเป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา และความแก่ไม่พึงมาถึงเรา ท. หนอ,” ก็ข้อนี้ไม่ใช่สัตว์จะบรรลุได้ด้วยความปรารถนา. แม้นี้ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น เป็นทุกข์. ภิกษุ ท. ! ความปรารถนาเกิดขึ้นแก่หมู่สัตว์ผู้มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา.... มีความตายเป็นธรรมดา.... มีความโศกความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ เป็นธรรมดา....(ความทำนองเดียวกันกับข้างต้น) .... ก็ข้อนี้ไม่ใช่สัตว์จะบรรลุได้ด้วยความปรารถนา. แม้นี้ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น เป็นทุกข์.
ภิกษุ ท. ! กล่าวโดยย่อ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือทั้ง ๕เป็นทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? นี้คือ ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือได้แก่รูป, ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือได้แก่เวทนา, ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือได้แก่สัญญา, ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือได้แก่สังขาร, ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือได้แก่ วิญญาณ. ภิกษุ ท. ! เหล่านี้ เราเรียกว่า กล่าวโดยย่อขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือเป็นทุกข์.
ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่าอริยสัจ คือ ทุกข์.
๒. ทุกขสมุทยอริยสัจ
ภิกษุ ท. ! ก็อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์ นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ตัณหานี้ใด ทำความเกิดใหม่เป็นปกติ เป็นไปกับด้วยความกำหนัดเพราะความเพลิน มักเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ, นี้คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา.
ภิกษุ ท. ! ก็ตัณหานั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่ไหน ? เมื่อจะเข้าไปตั้งอยู่ ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในที่ไหน ? สิ่งใดในโลกมีภาวะเป็นที่รักมีภาวะเป็นที่ยินดี (ปิยรูปสาตรูป) ; ตัณหานั้น เมื่อจะเกิดย่อมเกิดในสิ่งนั้น, เมื่อจะเข้าไปตั้งอยู่ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในสิ่งนั้น. ก็อะไรเล่า มีภาวะเป็นที่รักมีภาวะเป็นที่ยินดีในโลก ?
ตา...หู...จมูก...ลิ้น...กาย...ใจ... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รักมีภาวะเป็นที่ยินดีในโลก ; ตัณหานี้ เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นั้น, เมื่อจะเข้าไปตั้งอยู่ ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในที่นั้น.
รูปทั้งหลาย... เสียงทั้งหลาย.... กลิ่นทั้งหลาย.... รสทั้งหลาย.... โผฏฐัพพะทั้งหลาย....ธรรมารมณ์ทั้งหลาย.... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รักมีภาวะเป็นยินดีในโลก ; ตัณหานี้เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นั้น, เมื่อจะเข้าไปตั้งอยู่ ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในที่นั้น.
ความรู้แจ้งทางตา....ความรู้แจ้งทางหู....ความรู้แจ้งทางจมูก....ความรู้แจ้งทางลิ้น....ความรู้แจ้งทางกาย....ความรู้แจ้งทางใจ.... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รักมีภาวะเป็นที่ยินดีในโลก ; ตัณหานี้เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นั้น, เมื่อจะเข้าไปตั้งอยู่ ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในที่นั้น.
การกระทบทางตา...การกระทบทางหู... การกระทบทางจมูก...การกระทบทางลิ้น...การกระทบทางกาย...การกระทบทางใจ... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รักมีภาวะเป็นที่ยินดีในโลก ; ตัณหานี้เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นั้น, เมื่อจะเข้าไปตั้งอยู่ ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในที่นั้น.
ความรู้สึกเกิดแต่การกระทบทางตา... ความรู้สึกเกิดแต่การกระทบทางหู...ความรู้สึกเกิดแต่การกระทบทางจมูก... ความรู้สึกเกิดแต่การกระทบทางลิ้น... ความรู้สึกเกิดแต่การกระทบทางกาย... ความรู้สึกเกิดแต่การกระทบทางใจ... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รักมีภาวะเป็นที่ยินดีในโลก ; ตัณหานี้เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นั้น, เมื่อจะเข้าไปตั้งอยู่ ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในที่นั้น.
ความจำหมายในรูป... ความจำหมายในเสียง... ความจำหมายในกลิ่น...ความจำหมายในรส... ความจำหมายในโผฏฐัพพะ... ความจำหมายในธรรมารมณ์... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รักมีภาวะเป็นที่ยินดีในโลก ; ตัณหานี้เมื่อจะเกิดย่อมเกิดในที่นั้น, เมื่อจะเข้าไปตั้งอยู่ ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในที่นั้น.
ความนึกถึงรูป...ความนึกถึงเสียง... ความนึกถึงกลิ่น... ความนึกถึงรส...ความนึกถึงโผฏฐัพพะ....ความนึกถึงธรรมารมณ์....(แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รักมีภาวะเป็นที่ยินดีในโลก ; ตัณหานี้เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นั้น, เมื่อจะเข้าไปตั้งอยู่ ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในที่นั้น.
ความอยากในรูป...ความอยากในเสียง... ความอยากในกลิ่น.... ความอยากในรส.... ความอยากในโผฏฐัพพะ... ความอยากในธรรมารมณ์... (แต่ละอย่างทุกอย่าง)มีภาวะเป็นที่รักมีภาวะเป็นที่ยินดีในโลก ; ตัณหานี้เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นั้น, เมื่อจะเข้าไปตั้งอยู่ ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในที่นั้น.
ความตริหารูป...ความตริหาเสียง... ความตริหากลิ่น... ความตริหารส...ความตริหาโผฏฐัพพะ... ความตริหาธรรมารมณ์... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รักมีภาวะเป็นที่ยินดีในโลก ; ตัณหานี้เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นั้น, เมื่อจะเข้าไปตั้งอยู่ ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในที่นั้น.
ความไตร่ตรองต่อรูป (ที่ตริหาได้แล้ว)...ความไตร่ตรองต่อเสียง...ความไตร่ตรองต่อกลิ่น... ความไตร่ตรองต่อรส... ความไตร่ตรองต่อโผฏฐัพพะ..ความไตร่ตรองต่อธรรมารมณ์... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รักมีภาวะเป็น
ที่ยินดีในโลก ; ตัณหานี้เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นั้น. เมื่อจะเข้าไปตั้งอยู่ ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในที่นั้น.
ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่าอริยสัจ คือ เหตุให้เกิดทุกข์.
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ
ภิกษุ ท. ! อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? คือความคลายคืน โดยไม่มีเหลือและความดับไม่เหลือ ความละวาง ความสละคืน ความผ่านพ้น ความไม่อาลัย ซึ่งตัณหานั้นนั่นเทียว.
ภิกษุ ท. ! ก็ ตัณหานั้นเมื่อบุคคลจะละได้ ย่อมละได้ในที่ไหน ? เมื่อจะดับ ย่อมดับได้ในที่ไหน ? สิ่งใดมีภาวะเป็นที่รัก มีภาวะเป็นที่ยินดีในโลก ; ตัณหานั้นเมื่อบุคคลจะละ ย่อมละได้ในสิ่งนั้น, เมื่อจะดับย่อมดับได้ในสิ่งนั้น. ก็อะไรเล่า มีภาวะเป็นที่รัก มีภาวะเป็นที่ยินดี ในโลก ?
ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รัก มีภาวะเป็นที่ยินดี ในโลก ; ตัณหานี้ เมื่อจะละ ย่อมละได้ในที่นั้น, เมื่อจะดับ ย่อมดับได้ในที่นั้น.
รูปทั้งหลาย... เสียงทั้งหลาย... กลิ่นทั้งหลาย... รสทั้งหลาย...โผฏฐัพพะทั้งหลาย... ธรรมารมณ์ทั้งหลาย... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รัก มีภาวะเป็นที่ยินดี ในโลก ; ตัณหานี้ เมื่อจะละ ย่อมละได้ในที่นั้น, เมื่อจะดับ ย่อมดับได้ในที่นั้น.
ความรู้แจ้งทางตา ... ความรู้แจ้งทางหู ... ความรู้แจ้งทางจมูก...ความรู้แจ้งทางลิ้น ... ความรู้แจ้งทางกาย ... ความรู้แจ้งทางใจ... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รัก มีภาวะเป็นที่ยินดี ในโลก ; ตัณหานี้ เมื่อจะละ ย่อมละได้ในที่นั้น, เมื่อจะดับ ย่อมดับได้ในที่นั้น.
การกระทบทางตา... การกระทบทางหู... การกระทบทางจมูก...การกระทบทางลิ้น... การกระทบทางกาย... การกระทบทางใจ... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รัก มีภาวะเป็นที่ยินดี ในโลก ; ตัณหานี้ เมื่อจะละ ย่อมละได้ในที่นั้น, เมื่อจะดับ ย่อมดับได้ในที่นั้น.
ความรู้สึกเกิดแต่การกระทบทางตา... ความรู้สึกเกิดแก่การกระทบทางหู... ความรู้สึกเกิดแต่การกระทบทางจมูก... ความรู้สึกเกิดแต่การกระทบทางลิ้น... ความรู้สึกเกิดแต่การกระทบทางกาย... ความรู้สึกเกิดแต่การกระทบทางใจ... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รัก มีภาวะเป็นที่ยินดี ในโลก ; ตัณหานี้ เมื่อจะละ ย่อมละได้ในที่นั้น, เมื่อจะดับ ย่อมดับได้ในที่นั้น.
ความจำหมายในรูป... ความจำหมายในเสียง... ความจำหมายในกลิ่น... ความจำหมายในรส... ความจำหมายในโผฏฐัพพะ... ความจำหมายในธรรมารมณ์... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รัก มีภาวะเป็นที่ยินดีในโลก ; ตัณหานี้ เมื่อจะละ ย่อมละได้ในที่นั้น, เมื่อจะดับ ย่อมดับได้ในที่นั้น.
ความนึกถึงรูป ... ความนึกถึงเสียง... ความนึกถึงกลิ่น... ความนึกถึงรส... ความนึกถึงโผฏฐัพพะ... ความนึกถึงธรรมารมณ์ ... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รัก มีภาวะเป็นที่ยินดี ในโลก ; ตัณหานี้ เมื่อจะละ ย่อมละได้ในที่นั้น, เมื่อจะดับ ย่อมดับได้ในที่นั้น.
ความอยากในรูป... ความอยากในเสียง... ความอยากในกลิ่น....ความอยากในรส... ความอยากในโผฏฐัพพะ... ความอยากในธรรมารมณ์...(แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รัก มีภาวะเป็นที่ยินดี ในโลก ; ตัณหานี้เมื่อจะละ ย่อมละได้ในที่นั้น, เมื่อจะดับ ย่อมดับได้ในที่นั้น.
ความตริหารูป ... ความตริหาเสียง ... ความตริหากลิ่น... ความตริหารส... ความตริหาโผฏฐัพพะ... ความตริหาธรรมารมณ์ ... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รัก มีภาวะเป็นที่ยินดี ในโลก ; ตัณหานี้ เมื่อจะละ ย่อมละได้ในที่นั้น, เมื่อจะดับ ย่อมดับได้ในที่นั้น.
ความไตร่ตรองต่อรูป (ที่ตริหาได้แล้ว) ... ความไตร่ตรองต่อเสียง ...ความไตร่ตรองต่อกลิ่น... ความไตร่ตรองต่อรส... ความไตร่ตรองต่อโผฏฐัพพะ ... ความไตร่ตรองต่อธรรมารมณ์... (แต่ละอย่างทุกอย่าง) มีภาวะเป็นที่รัก มีภาวะเป็นที่ยินดี ในโลก ; ตัณหานี้ เมื่อจะละ ย่อมละได้ในที่นั้น, เมื่อจะดับ ย่อมดับได้ในที่นั้น.
ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่าอริยสัจคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุ ท. ! ก็ อริยสัจ คือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? คือ หนทางอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนี้เอง, องค์แปดคือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีวะชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.
ภิกษุ ท. ! ความเห็นชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! ความรู้ในทุกข์ความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ ความรู้ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ความรู้ในหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อันใด, นี้เราเรียกว่า ความเห็นชอบ.
ภิกษุ ท. ! ความดำริชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! ความดำริในการออก (จากกาม) ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน, นี้เราเรียกว่า ความดำริชอบ.
ภิกษุ ท. ! วาจาชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! การเว้นจากการพูดเท็จ การเว้นจากการพูดยุให้แตกกัน การเว้นจากการพูดหยาบ การเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ, นี้เราเรียกว่า วาจาชอบ.
ภิกษุ ท. ! การงานชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! การเว้นจากการฆ่าสัตว์ การเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ การเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย, นี้เราเรียกว่า การงานชอบ.
ภิกษุ ท. ! อาชีวะชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! อริยสาวกในกรณีนี้ละการหาเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการหาเลี้ยงชีพที่ชอบ, นี้เราเรียกว่า อาชีวะชอบ
ภิกษุ ท. ! ความเพียรชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิตย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันลามกที่ยังไม่ได้บังเกิด ; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียรย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว ; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่ได้บังเกิด ; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นแล้ว. ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า ความเพียรชอบ
ภิกษุ ท. ! ความระลึกชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่, มีความเพียรเครื่องเผาบาปมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ ;เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่, มีความเพียรเครื่องเผาบาป มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ ; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่, มีความเพียรเครื่องเผาบาปมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ ;
เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่, มีความเพียรเครื่องเผาบาป มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้. ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า ความระลึกชอบ.
ภิกษุ ท. ! ความตั้งใจมั่นชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงฌานที่หนึ่ง อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่. เพราะวิตกวิจารรำงับลง, เธอเข้าถึงฌานที่สอง อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายในให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่. เพราะปีติจางหายไป, เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และได้เสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมเข้าถึงฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุ ว่า “เป็นผู้เฉยอยู่ได้มีสติ มีความอยู่เป็นปกติสุข” แล้วแลอยู่ เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ และเพราะความดับหายแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน เธอย่อมเข้าถึงฌานที่สี่อันไม่ทุกข์และไม่สุข มีแต่สติอันบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า สัมมาสมาธิ.
ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า อริยสัจคือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
- มหา. ที. ๑๐/๓๔๐-๓๕๐/๒๙๔-๒๙๙.
อ้างอิงจาก : ชุดจากพระโอษฐ์ ๕ เล่ม เล่มที่ ๒
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาค ๑
หน้าที่ ๑๒๕ - ๑๓๗
พุทธวจน (ธรรมะจากพระโอษฐ์)
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://watnapp.com
ศึกษาดูพระสูตรเพิ่มเติม : https://etipitaka.com/search/
ฟังเสียงธรรมะพระสูตรเพิ่มเติม : https://m.soundcloud.com/search?q=พุทธวจน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา