1 ส.ค. 2020 เวลา 10:35 • สุขภาพ
Revisit Oedipal complex
(คำเตือน: บทความนี้มีการสปอยเนื้อหาบางส่วนของซีรี่ย์ Sex education)
.
ในวงการจิตวิเคราะห์เป็นเรื่องปกติอย่างมากที่เรามักจะได้ยินเกี่ยวกับเรื่องราวของ Oedipus complex (ปมโอดิปุส) ซึ่งมักถูกทำให้เข้าใจกันอย่างง่ายๆ (ผมคิดว่าง่ายเกินไป) หมายถึง “เด็กผู้ชายที่รักแม่และเกลียดพ่อ” ในขณะที่ “เด็กผู้หญิงที่รักพ่อและเกลียดแม่" จะเรียกว่า Electra complex (ปมอิเลคตาร์) แต่ Electra complex นั้นอาจไม่ได้มีความสลักสำคัญจริงๆ เลยในแนวคิดทางจิตวิเคราะห์ คุณมักจะไม่ได้เห็นการพูดถึง complex ดังกล่าวเมื่อได้ศึกษาแนวคิดทางจิตวิเคราะห์จริงๆ และการแยกระหว่างเพศชายหญิงนี้กลับสร้างความสับสนมากเกินไป
.
ก่อนอื่นผมอยากจะพูดถึงการสร้างความเข้าใจแบบเรียบง่ายเหล่านี้ก่อน และเราคงต้องย้อนกลับไปที่เรื่องราวของ Oedipus
.
Oedipus เป็นบุตรชายของราชา Laius และราชินี Jocasta แห่งเมือง Thebes, ในตอนที่ Oedipus เกิด ราชา Laius ได้ถูกทำนายว่าจะถูกลูกชายของตนเองฆ่า และราชินีจะต้องแต่งงานกับลูกชายของตนเอง, Oedipus จึงถูกนำไปทิ้งให้ตายบนภูเขา แต่คนเลี้ยงแกะไปพบเข้าจึงช่วย Oedipus ด้วยการนำกลับไปให้ราชาและราชินีต่างเมืองเลี้ยงดูเหมือนลูก
Oedipus ในวัยหนุ่มได้ถูกทำนายอีกครั้งว่าเขาจะฆ่าพ่อและแต่งงานกับแม่ของตนเอง เขาจึงเดินทางออกจากเมืองที่เขาอยู่ไป และในระหว่างเดินทางเขาก็ได้พบเจอกับราชา Laius อีกครั้ง แต่พวกเขาไม่รู้จักกันในเวลานั้น ก่อนที่ Oedipus และราชา Laius จะทะเลาะวิวาทกัน ส่งผลให้ Oedipus สังหารราชา Laius โดยไม่รู้ว่าราชา Laius เป็นทั้งราชาของเมือง Thebes และเป็นพ่อของตัวเอง
Oedipus เดินทางต่อไปจนถึงเมือง Thebes ซึ่งขณะนั้นกำลังถูกปีศาจสฟิงซ์รุกราน ซึ่งมันจะกินใครก็ตามที่ตอบคำถามมันไม่ได้, Oedipus ตอบคำถามและปราบสฟิงซ์ลงได้ ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้ปกครองเมืองคนใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น เขาก็ได้แต่งงานกับราชินี Jocasta ผู้เป็นหม้ายโดยไม่รู้ว่าเธอเป็นแม่ของเขาเอง
Oedipus และราชินี Jocasta ครองคู่กันอย่างสงบสุข และมีลูกด้วยกัน 4 คน จนกระทั่งเกิดโรคระบาดในเมือง ทำให้โหรทำนายว่า หากสามารถหาคนที่ฆ่าราชาคนก่อนได้จะทำให้โรคระบาดหายไป
ในเวลานั้น Oedipus จึงได้รู้ความจริงว่าเขาเป็นคนที่สังหารราชา Laius ผู้เป็นพ่อของเขาเอง และกำลังอยู่กินกับราชินี Jocasta ผู้เป็นแม่ของเขา
เมื่อราชินี Jocasta รู้ความจริง เธอก็ฆ่าตัวตาย ในขณะที่ Oedipus ก็ทำให้ตัวเองตาบอดและเนรเทศตัวเองออกจากเมืองไปในที่สุด
.
Sigmund Freud บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ได้นำเอาเรื่องราวของ Oedipus มาใช้เพื่อบรรยายถึงสิ่งที่เขาค้นพบในคนไข้ของเขาว่าเป็นความปรารถนาในจิตใต้สำนึกหรือจิตไร้สำนึก (unconscious) ภายในตัวเราที่ปรารถนาจะเอาชนะพ่อและมีเพศสัมพันธ์กับแม่ของตน
.
Oedipus complex ถูกเรียกว่า “complex” หรือ “ปม” ในภาษาไทยนั่นก็เพราะมันมีความสัมพันธ์กับเรื่องของ “castration” ซึ่งถ้าแปลตรงตัวแล้วมันหมายถึง “การตอนองคชาติ” โดยมันเป็นการพยายามอธิบายว่าในขณะที่เด็กผู้ชายปรารถนาจะมีเพศสัมพันธ์กับแม่ของตนเอง เขาก็ต้องหวาดกลัวที่จะต้องถูกตอนจากผู้เป็นพ่อด้วย ในที่นี้ Freud ก็ได้บอกว่านั่นเป็นสาเหตุให้เด็กผู้ชายเกิดความรู้สึกผิด (guilt) ต่อการร่วมเพศกับคนในครอบครัว (incest) (อีกทั้งเขายังมองว่า guilt หรือความรู้สึกผิดสัมพันธ์กับความกลัวการถูกลงโทษ)
.
ยิ่งไปกว่านั้น ในตอนที่ผมได้เรียนวิชาทฤษฎีจิตวิทยาพื้นฐาน เมื่อได้ยินเกี่ยวกับเรื่องราวของ Oedipus complex จะได้ยินอีกกรณีหนึ่งเมื่อเราพูดถึงเด็กผู้หญิงที่ตรงกันข้ามคือ เด็กผู้หญิงจะพบว่าตนเองไม่ได้มีองคชาติตั้งแต่แรก เด็กผู้หญิงจึงเกิดความปรารถนาในองคชาติของพ่อ และมีความมุ่งร้ายต่อแม่ที่ทำให้ตนเองเกิดมาไม่มีองคชาติ เด็กผู้หญิงจึงปรารถนาที่จะมีเพศสัมพันธ์กับพ่อเพื่อให้ได้มาซึ่งองคชาติที่ตนเองไม่มี โดย Freud เรียกสิ่งนี้ว่า "Penis envy” หรือ “ความอิจฉาองคชาติ” และถึงแม้เด็กผู้หญิงจะไม่กลัวว่าจะถูกตอน แต่เธอก็กลัวถูกทำร้ายจากผู้เป็นแม่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน
.
หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกว่ามันบ้าบอมากสำหรับทฤษฎีนี้ ผมคงต้องบอกว่ามันเป็นความแปลกประหลาดที่บ้าบอจริงๆ และหลายคนที่เรียนจิตวิทยามาด้วยกันกับผมก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ไร้สาระมาก โดยเฉพาะเรื่องของการที่ผู้หญิงจะอิจฉาองคชาติหรือ “อิจฉาจู๋” เนี่ย มันแทบจะเป็นอะไรที่ไร้สาระและดูตลก!
.
ผมจึงคิดว่าผมอยากจะเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อให้เรากลับมาทบทวนเกี่ยวกับ Oedipus complex กันซักหน่อย โดย Donald Carveth นักจิตวิเคราะห์ที่ผมติดตามคลิปเลคเชอร์ของเขาในยูทูป (และคุณอาจจะได้เห็นว่าผมมักจะอ้างถึงเขาบ่อยมาก) ได้บอกเราว่า “มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่อิจฉาจู๋กันเอง” และคลิปเลคเชอร์ของเขาทำให้เราต้องกลับมาพิจารณาถึง Oedipus complex กันอีกครั้งจริงๆ (คลิปเลคเชอร์ที่ผมพูดถึงคือคลิป “Freud and Beyond 2016 #1 Introduction to Freud” ในช่อง Don Carveth)
.
ผมเคยเขียนบทความเล็กๆ ลงในหน้าเฟซบุ๊คของตัวเองและแชร์กันกับกลุ่มเพื่อนในเรื่อง Penis Envy จากซีรี่ย์ Sex Education Season 2 ในเรื่องราวของกลุ่มเด็กผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศ และในการหารือกันเพื่อตอบคำถามว่า “เพราะอะไรพวกผู้ชายถึงชอบโชว์จู๋ให้ผู้หญิงดูกันนะ?" ก่อนที่จะมีเด็กคนนึงพูดขึ้นมาว่า "หากตัวเองมีบ้าง ก็คงจะโชว์เหมือนกัน”
(อ่านบทความดังกล่าวในบทความก่อนหน้านี้ที่ชื่อ Penis Envy in "sex education season 2": From Freud's to Lacan's view on female identification 
(January 21, 2020))
.
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเรื่องนั้นมีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีก เมื่อสิ่งที่เด็กผู้หญิงในเรื่องนั้นพูดขึ้นมาตรงกันกับสิ่งที่ Carveth บอกเรานั่นคือ “มันไม่ใช่จู๋ (penis) แต่มันคืออำนาจ (power)”
.
ย้อนกลับไปที่แนวคิดเกี่ยวกับ Oedipus complex กันอีกครั้ง สิ่งที่ Freud นำเสนอออกมาผ่านตัวอักษรในงานเขียนของเขามีความชัดเจนอย่างมากในเรื่องของการโยงไปเกี่ยวเนื่องกับเรื่องทางเพศ (sexuality) แต่มันอาจสร้างความเข้าใจผิดจนน่ากังขามากอย่างมากเมื่อเราไม่ได้พยายามพิจารณาเกี่ยวกับ sexuaity ที่เขาหมายถึง
.
ผมคิดว่าผมไม่สามารถเข้าใจได้ถึงความคิดของ Freud ว่าเขาหมกมุ่นกับเรื่องเพศมากน้อยแค่ไหน ผมรู้เพียงว่านั่นอาจสัมพันธ์กับการมองโลกของเขาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเขาเคยเห็นร่างเปลือยของแม่ตนเองในขณะที่สลึมสลือ และพ่อของเขาก็ฉุดแม่ไปต่อหน้าต่อตาเขาเพื่อมีเพศสัมพันธ์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเขาพูดถึงเรื่องเพศมันจะเป็นเรื่องเพศในเชิงชีววิทยาจริงๆ (biology)
.
ใน Introducing Freud โดย Darian Leader & Judy Groves ได้รวบรวมแนวคิดและประวัติของ Freud แบบง่ายๆ เพื่อสื่อสารออกมาในรูปแบบของหนังสือภาพประกอบ แต่ผมคิดว่ามันช่วยบอกเราในเรื่องนี้ได้ระดับหนึ่งว่าแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศของ Freud นั้นมีความสลับสลับซับซ้อนยิ่งกว่าเรื่องของชีววิทยา (biology) กล่าวคือ แรงขับเรื่องเพศนั้นมีความซับซ้อนยิ่งกว่าแรงขับในการดำรงชีวิตอื่นๆ อย่างเช่น ความหิวหรือความกระหาย นั่นเพราะมันมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางจิตวิทยา (psychology) เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก และสิ่งที่สะท้อนถึงเรื่องนี้ก็คือเรื่องของรสนิยมทางเพศที่หลากหลาย โดยเฉพาะรสนิยมทางเพศที่ไม่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศ
.
Donald Carveth ได้พูดถึงเช่นกันว่า Sexuality สำหรับเขาแล้วแตกต่างจาก Freud อย่างชัดเจน กล่าวคือ เขาคิดว่ามันเป็นเรื่องทางจิตใจ (psychological) มากกว่าเรื่องทางชีววิทยา (biological) ซึ่งผมคิดว่านั่นอาจเพราะเขามีแนวคิดที่ค่อนไปทาง Object-relation (จิตวิเคราะห์สายความสัมพันธ์กับบุคคลหรือวัตถุ) ซึ่งให้ความสนใจกับเรื่องของ psychological อย่างเต็มตัวมากกว่า Freud ที่เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์จนยึดถือเรื่องของ biological ไว้ตลอดเวลา
.
ยังไงก็ตาม เมื่อเรากลับมาที่การพูดถึงเรื่องทางเพศใน Oedipus complex ของ Freud, Carveth ก็ได้บอกเช่นกันว่าเราไม่สามารถที่จะตีความงานของ Freud ได้แบบตรงตามตัวอักษร (literally) อย่างที่เขาเขียนขนาดนั้น ซึ่ง Carveth คิดว่าการที่หลายคนรังเกียจแนวคิดของ Freud นั้นอาจไม่ใช่คนที่เข้าใจงานของ Freud จริงๆ (แม้ Carveth เองจะไม่เห็นด้วยกับ Freud อย่างที่บอกข้างต้น แต่เขาก็คิดว่าการตีความงานของ Freud นั้นมีอะไรมากกว่าการเข้าใจแบบ literally)
.
ในงานเขียนของ Freud ที่ชื่อว่า The ego and the id ได้พูดถึง Oedipus complex ในประเด็นของ identification หรือการระบุตัวตน, การซึมซึมอัตลักษณ์, หรือการเลียนแบบพ่อกับแม่ของเด็กว่า เราต้องพิจารณาใน 2 แง่มุม นั่นคือ ในแง่มุมของ Oedipus complex และแง่มุมของฐานความมั่นคงของทั้งสองเพศ ซึ่งแง่มุมที่สองเป็นแง่มุมที่สัมพันธ์กับสิ่งที่ Frued เชื่อว่าพื้นฐานของมนุษย์เราเกิดว่ามีจิตใจที่เป็น bisexual โดยในแง่มุมนี้เองผมคิดว่าเราอาจสรุปได้ง่ายๆ ว่ามันเป็นแง่มุมของการมีความรักต่อทั้งพ่อและแม่ ซึ่งเป็นแง่มุมที่สัมพันธ์กันกับแนวคิดแบบ Object-relation
.
การพิจารณาสองแง่มุมนี้หมายถึง ในพื้นฐานแล้วเด็กต้องการความรักจากทั้งพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน แต่ในสถานการณ์ของ Oedipus complex เป็นสถานการณ์ที่เด็กจะเกิดการระบุตัวตนหรือสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมาซึ่งรวมไปถึงการเรียนรู้บทบาททางเพศของตนเอง ซึ่งในสถานการณ์ Oedipus complex นี้คือการที่เด็กจะการเลียนบุคคลที่เป็นเพศเดียวกันกับตนเองเพื่อที่จะได้มาซึ่งความรัก (หรือความสัมพันธ์ทางเพศ) กับบุคคลที่เป็นเพศตรงข้าม
.
สถานการณ์ของ Oedipus complex จึงเป็นเหมือนสถานการณ์ของการพยายามเอาชนะบุคคลที่มีเพศเดียวกันกับตนเอง และได้มาซึ่งสัมพันธ์ทางเพศกับบุคคลที่มีเพศตรงข้าม (พ่อหรือแม่) ซึ่งก็ตรงกันกับในก่อนหน้านี้ที่ผมได้อธิบายไปแล้ว และมันยังเป็นสถานการณ์ที่สัมพันธ์กับการตอน (castration) อีกด้วย
.
แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือการที่เด็กยังมีพื้นฐานในการมีความสัมพันธ์ด้านความรักกับทั้งสองเพศ กล่าวคือ ถึงแม้เด็กชายจะมีความกลียดพ่อของตนเอง แต่ด้วยแง่มุมของฐานความมั่นคงด้านความรักความอบอุ่นแล้ว เด็กยังคงมีความรักต่อพ่อของตนเองไปพร้อมกันด้วย ซึ่งนั่นจึงถูกเรียกว่า “ปม” ที่ซับซ้อนมากกว่าที่เราเข้าใจในตอนแรกไปอีกขั้น เพราะในขณะที่เด็กชายรักแม่และเกลียดพ่อของตน แต่พื้นฐานด้านความรักที่มั่นคงแล้ว เขาก็ยังรักพ่อและเกลียดแม่ของตนเองไปพร้อมๆ กันเพราะการหาความสมดุลด้วยการซึมซับและแสดงออกจากการมีทั้งสองเพศอยู่ในตัวเองนี้
.
เมื่อเราไปไกลจนถึงจุดนี้จะเริ่มเห็นว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศแบบตรงตามตัวอักษระอย่างแท้จริง และสิ่งที่ Donald Carveth บอกเราก็เริ่มจะเข้าเคล้ามากขึ้นเมื่อจริงๆ แล้วมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ตั้งแต่แรก แต่มันเกี่ยวกับเรื่องของ “ความรัก”
.
Carveth ได้บอกเราว่า ไม่ว่าเด็กผู้ชายหรือหญิงนั้นก็เริ่มต้นมาจากความรักที่พวกเขามีต่อแม่ของตนเอง ในที่นี้จะสัมพันธ์กับแนวคิดทาง Object-relation มากขึ้น กล่าวคือ ก่อนหน้าสถานการณ์ Oedipus complex ที่เป็นความสัมพันธ์แบบ พ่อ-แม่-เด็ก แล้ว มันเริ่มต้นจากความสัมพันธ์แบบ แม่-เด็ก ในแรกเริ่ม (แนวคิดแบบ Object-Relation ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของ แม่-เด็ก เป็นหลัก)
.
ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายต่างก็มีพื้นฐานที่ต้องการความรักจากแม่ของตนเองก่อน เพราะแม่และเด็กมีความสัมพันธ์กันตั้งแต่ก่อนแรกเกิดแล้ว (ขณะที่เด็กอยู่ในครรภ์) ในขณะที่พ่อจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสถานการณ์ Oedipus complex โดยเป็นคนที่เข้ามาทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบ 3 ทาง คือ พ่อ-แม่-เด็ก ซึ่งมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ของ แม่-เด็ก หลายอย่างราวกับเป็นการคานงัดที่ต้องพยายามหาความสมดุล
.
หากคุณอ่านมาถึงจุดนี้ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ของ Oedipus complex เป็นเรื่องปกติอย่างมาก และมันเป็นเรื่องของการหาความสมดุลหรือความสองจิตสองใจ (ambivalence) ในการรักษาความสัมพันธ์มากกว่าเรื่องของเพศ โดยการรักษาความสมดุลด้านความสัมพันธ์ พ่อ-แม่-เด็ก ที่เกี่ยวเนื่องกับความรักและเกลียดในเวลาเดียวกันนี้ก็เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับการที่เด็กซึมซับอัตลักษณ์ของทั้งพ่อและแม่ของตนเองเข้ามาเพื่อคงสภาพความสัมพันธ์ด้านความรักกับทั้งพ่อและแม่ไว้ให้ได้ (ความสองจิตสองใจหรือ ambivalence เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ต้องเผชิญตลอดเวลา)
.
ยังไงก็ตาม การที่เราจะไปกันต่อเพื่อความเข้าใจในเรื่อง Oedipus complex เพิ่มเติมในกรณีของการที่เด็กไม่ได้อยู่ในความสัมพันธ์แบบ พ่อ-แม่-เด็ก จริงๆ (เด็กที่ไม่มีพ่อและ/หรือแม่อยู่ด้วย) เราคงต้องกลับไปยังคำกล่าวที่ว่า “มันไม่ใช่จู๋ แต่มันคืออำนาจ” ซึ่งจะทำให้เรามองเห็นภาพของ Oedipus complex และการตอน (castration) ได้มากยิ่งขึ้น
.
Donald Carveth ได้ยกเอาแนวคิดของ Jacques Lacan มาอธิบายเช่นเดียวกันกับที่ผมเคยคิดไว้ก่อนหน้านี้ โดย Jacque Lacan เป็นนักจิตวิเคราะห์ในฝรั่งเศสที่พยายามตอบคำถามที่ Freud ยังตอบไม่ได้เกี่ยวกับจิตไร้สำนึกด้วยหลักการทางภาษาศาสตร์ โดยแนวคิดที่น่าสนใจของเขาคือการเน้นย้ำว่าจิตไร้สำนึกเป็นเรื่องของภาษา (linguistic)
.
การพิจารณา Oedipus ด้วยแนวคิดของ Lacan นั้นเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ พ่อ-แม่-เด็ก ไปจากเดิมที่เหมือนการตีความตามตัวอักษร (literally) ให้กลายเป็นลักษณะของตัวแทนรูปสัญญะหรือ “signifier” และความหมายสัญญะ หรือ “signified” (ผมคิดว่าเราอาจพูดให้เข้าใจง่ายว่า คำศัพท์ (signifier) จะมีความหมายของคำศัพท์ (signified) ได้หลากหลายความหมายขึ้นกับประสบการณ์ของบุคคล) โดย Carveth ได้ยกเอาคำสองคำของ Lacan มาเพื่ออธิบายความเข้าใจเกี่ยวกับ Oedipus ใหม่ นั่นคือคำว่า “Phallus” และ “Name of Father”
.
ในแนวคิดของ Lacan เกี่ยวกับ Oedipus complex ที่เขาพยายามไปไกลกว่าสิ่งที่ Freud นำเสนอ นั้นคือการที่เขาเลือกใช้เรื่องของตัวแทนของภาษาเข้ามาอธิบาย นั่นทำให้ในความสัมพันธ์ของ แม่-เด็ก นั้นกลายเป็นว่า แม่กลับกลายเป็นความหมายของคนที่เด็กพึ่งพาอาศัยและให้ความรักความอบอุ่นกับเด็ก แต่ Lacan มองว่าแม่หรือคนที่เปรียบเสมือนแม่นั้นมักปรารถนาสิ่งอื่นที่มากกว่าเด็กเสมอ นั่นคือ “Phallus” (ผมคิดว่าความปรารถนาในสิ่งอื่นนี้หมายถึงการปรารถนาบางสิ่งบางอย่างในอุดมคติของแต่ละคนซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ) ซึ่ง Melanie Kien นักจิตวิเคราะห์สาย Object-relation ก็ได้เสนอว่า สิ่งที่มีอิทธิพลต่อแม่มากกว่าเด็กก็คือองคชาติของพ่อ โดยในส่วนนี้ก็เป็นการนำเข้าสู่ Oedipus complex เช่นกันว่ามีความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ-แม่-เด็ก อยู่
.
คำว่า “Phallus” แม้จะแปลอย่างตรงตัวได้ว่า “องคชาติ” เช่นเดียวกับคำว่า “Penis” แต่ในความหมายของจิตวิเคราะห์ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะ “Phallus ไม่ใช่จู๋” แต่หมายถึงสิ่งที่อยู่ในอุดมคติที่แม่ (หรือผู้เปรียบเสมือนแม่) ของเด็กปรารถนาหรือเด็กคิดว่าแม่ของตนเองปรารถนา Lacan จึงเชื่อว่านั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กพยายามตามหาหรือเป็นเหมือนสิ่งที่แม่ของตนเองต้องการเพราะเด็กต้องการรักษาความรักจากแม่ของตนเองไว้
.
เมื่อความสัมพันธ์ของ Phallus กับ แม่-เด็ก เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมมากขึ้นเช่นนี้แล้ว การพูดถึงความสัมพันธ์ของ พ่อ-แม่-เด็ก ใน Oedipus complex จึงแตกต่างออกไป และ “พ่อ” ในแนวคิดของ Lacan จึงกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “Name of Father” (นามแห่งพ่อ)
.
"Name of Father" นั้นไม่จำเป็นต้องเป็น “พ่อ” จริงๆ แต่มันคือตัวแทนของสิ่งที่แยกระหว่างเด็กกับแม่หรือผู้เปรียบเสมือนแม่ออกจากกัน มันจึงสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่กำลังแสดงให้เห็นว่ามีขอบเขต (boundary) ระหว่างแม่กับเด็กที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง แม่-เด็ก กลายเป็นความสัมพันธ์แบบ แม่-พ่อ-เด็ก ใน Oedipus complex เช่นเดียวกับที่ Carveth พูดติดตลกว่า “ต่อให้เด็กไม่มีพ่อและอาศัยอยู่กับแม่เพียงคนเดียว ประตูห้องน้ำหรือห้องนอนที่กั้นระหว่างเด็กกับแม่นั่นแหละก็คือ Name of Father”
.
ผมคิดว่าเมื่อเรามาถึงตรงนี้จะเห็นว่าการพูดถึง Oedipus conplex ก็คือการที่เรากำลังพูดถึง Boudary ไปพร้อมๆ กันด้วย และสิ่งที่ตามมาในเรื่องของ Boundary หรือขอบเขตความสัมพันธ์ก็คือ เรื่องของ “Power” หรือ อำนาจ เพราะ Boundary ที่เกิดขึ้นเหล่านี้คือสิ่งที่ตอน (castrate) เด็กหรือควบคุมเด็ก (ในจุดนี้ผมคิดว่าผู้อ่านคงได้เห็นว่าความเข้าใจเกี่ยวกับการตอนนั้นไม่ใช่การตอนจริงๆ แต่เปรียบเหมือนข้อบังคับที่ควบคุมเด็กจากการแสดงออกถึงความปรารถนาของตนเองที่มีมากจนเกินไปและอาจผิดบรรทัดฐานของสังคม)
.
Power นั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนมาให้เห็นตั้งแต่ในแนวคิดของ Freud แล้วว่าพ่อนั้นมีอำนาจในการตอนลูกของตนเอง แต่ผมคิดว่าไม่ใช่แค่พ่อเท่านั้น แต่เรากำลังหมายถึงทั้งพ่อและแม่ที่เป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจึงเปรียบเสมือนว่าลูกต้องตกอยู่ใต้อำนาจของทั้งพ่อและแม่จนไม่มีสิทธิ์เลือกทางเดินชีวิตของตนเอง ดังนั้น การมี Boundary หรือขอบเขตที่เด็กไม่ได้เป็นคนกำหนดขึ้นมาเองจึงทำให้เด็กสามารถเกิดความรู้สึกไร้พลังอำนาจได้เช่นกัน
.
ผมอยากจะย้อนกลับไปที่เรื่องราวของ “Phallus” และกลุ่มเด็กผู้หญิงในเรื่อง Sex education season 2 กันซักหน่อย
.
การพยายามตามหาหรือเป็น Phallus ของแม่สำหรับเด็กนั้นอาจเปรียบเสมือนการพยายามได้มาซึ่งอำนาจในการควบคุมความสัมพันธ์หรือการได้รับความรักจากแม่ที่มากกว่าเดิม (พยายามตามหาแทนที่จะรอรับอย่างเดียว) ผมคิดว่านี่อาจเปรียบได้กับเวลาที่เด็กพยายามอย่างมากในการเป็นให้ได้เหมือนกับที่พ่อและแม่ของตัวเองคาดหวัง นั่นก็เพราะพวกเขาต่างต้องการความรักที่มั่นคงจากพ่อและแม่ของตน ด้วยเหตุที่ว่า เด็กมักไม่มั่นใจว่าพ่อและแม่จะรักเขาจริงๆ หรือรักสิ่งอื่นมากกว่าตัวของเขาเองกันแน่ เช่น ภาพที่คาดหวังในตัวลูก เป็นต้น
.
การที่ผมย้อนกลับมาที่กลุ่มเด็กผู้หญิงในเรื่อง Sex education season 2 อีกครั้งนั่นก็เพราะพวกเธอเป็นตัวแทนที่ชัดเจนว่าพวกเธอรู้สึกขาด “Power” โดย “จู๋” เป็นรูปสัญญะ (signifier) ของมัน (Power คือ signified หรือความหมายสัญญะ)
.
ผมคิดว่าความแตกต่างระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในซีรี่ย์ดังกล่าวบอกเราว่า ผู้ชายสามารถมี “Power” ได้มากกว่าผู้หญิงตั้งแต่แรก โดยผู้ชายสามารถมี “Dick” หรือ “จู๋” ที่ทำให้เขาเองมีลักษณะเหมือนกับพ่อในเชิงกายภาพ ซึ่งพ่อถือเป็นคนที่มีอิทธิพลกับแม่อย่างเช่นที่ผมได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ในขณะที่เด็กผู้หญิงที่ไร้ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เธอแตกต่างจากแม่หรือเป็นเหมือนพ่อได้ในเชิงกายภาพ พวกเธอจึงไม่สามารถรับรู้ได้ว่าอะไรจะทำให้พวกเธอมั่นใจได้ว่าพวกเธอเองมีอิทธิพลต่อแม่เพื่อที่จะมาหาความสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่าง แม่-พ่อ-เด็ก ได้ (นี่ยังรวมไปถึงความแตกต่างในทางชีววิทวิทยาด้านพลังกำลังที่แท้จริงด้วย)
.
ยังไงก็ตาม ผมคิดว่า Power ของผู้ชายดังกล่าวนั้นเป็นเพียง power แบบปลอมๆ เท่านั้น โดย Power ที่สัมพันธ์กับเรื่องของพละกำลังหรือลักษณะทางกายภาพไม่ได้ทำให้เด็กหรือใครก็ตามสามารถรู้สึกมั่นใจในความรักได้ และนั่นทำให้ผมนึกถึงอีกตัวละครหนึ่งคือ Adam Groff เด็กผู้ชายในซีรี่ย์เรื่องเดียวกันนี้ ซึ่งตั้งแต่ใน season 1 เราก็จะได้เห็นว่าเขาเกิดความมั่นใจในจู๋ของตัวเองขึ้นมาจนลุกขึ้นยืนโชว์ต่อหน้าคนทั้งโรงอาหารได้ แต่เขากลับต้องมีความรู้สึกขาดความมั่นใจอีกครั้งเมื่อเขาต้องเผชิญปัญหาความสัมพันธ์กับพ่อ ซึ่งมักสะท้อนให้เราเห็นบ่อยๆ ว่าเขาอาจรู้สึกว่าพ่อของเขาไม่รักเขาเลยไม่ว่าเขาจะพยายามทำตัวดีกับพ่อมากน้อยแค่ไหน (นี่คือการที่เราเลิกคิดถึงเรื่องเพศ ชาย-หญิง แต่กลับมาให้ความสนใจกับพื้นฐานทั้งชายและหญิงในตัวคนคนเดียวกันอีกครั้ง และ Oedipus complex ของ Adam ก็แสดงให้เราเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องของเพศเพียงอย่างเดียว)
.
ผมคิดว่าผมจะจบบทความนี้อย่างไรโดยที่มีอะไรได้ทิ้งท้ายไว้ซักเล็กน้อยเกี่ยวกับประโยชน์ของการเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ และคิดว่านั่นคือ การที่เราสามารถจะเข้าใจได้มากขึ้นเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าว เราอาจสัมผัสได้มากขึ้นว่า เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องปกติในชีวิตของมนุษย์ โดยไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับความรักและเกลียดระหว่าง แม่-พ่อ-เด็ก, การที่ต้องอยู่กับความสองจิตสองใจหรือ Ambivalence ที่เป็นหนึ่งในเงื่อนไขของความเป็นมนุษย์, ความไม่แน่ใจในความรักความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่าคนอื่นเช่นพ่อหรือแม่คาดหวังอะไรที่มากกว่าตัวเราเอง, และรวมไปถึงการจะได้กลับมาสังเกตว่าพ่อและแม่มีความสำคัญต่อบุคลิกภาพของลูกอย่างไรได้บ้าง เป็นต้น
.
ท้ายที่สุดนี้ Oedipus complex อาจไม่ได้มีอะไรที่มากไปกว่าเรื่องราวของการรักษาไว้ซึ่งความรักที่มีต่อทั้งคนรอบข้างและที่มีต่อตนเองในโลกที่มีขอบเขตเกิดขึ้นเสมอเนื่องจากความแตกต่างกันของคน และทำให้ผมคิดว่า Power (อำนาจ) ที่แท้จริงและทรงอิทธิพลต่อการรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นการที่เรารู้สึกถึงอำนาจในการเลือกทางเดินชีวิตของตนเอง หรือมีความมั่นใจในตัวของตนเอง เช่นเดียวกับกลุ่มเด็กผู้หญิงรวมพลังกันสร้างความมั่นใจในความเป็นผู้หญิงของตนด้วยการไปทุบรถเก่ารอทำลายและก้าวขึ้นรอเมล์พร้อมที่เขม่นใส่ผู้ชายที่มาคุกคามได้ทุกเมื่อ หรือ Adam ที่ท้ายสุดแล้วเขาก็กล้าจับมือกับ Eric ต่อหน้าคนทั้งโรงเรียนโดยไม่สนใจว่าใครจะว่าเขาเป็นเกย์ และผมคิดว่ายังมีภาพยนต์หรือซีรี่ย์อีกหลายๆ เรื่องที่แสดงให้เราเห็นเรื่องราวคล้ายๆ กันนี้
.
เจษฎา กลิ่นพูล (K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา)
โฆษณา