4 ส.ค. 2020 เวลา 10:11 • หุ้น & เศรษฐกิจ
S1. EP. พิเศษ : ภาวะกระทิงของหุ้น เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ลงทุนอย่างไรให้ชนะตลาด???
มินิซีรีย์ "Seeking Alpha" ตามล่าหาสุดยอดไอเดียการลงทุน
ในตลาดหุ้นนั้นประกอบไปด้วย ผู้เล่นต่างๆ ที่มีความหลากหลายทั้ง พื้นฐานความคิด ความเชื่อ ความรู้ ความชำนาญ หรือ แม้กระทั่งจำนวนเงิน แต่ทุกคนล้วนมีจุดมุ่งหวังเป็นหนึ่งเดียวกันคือ การสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตที่ตัวเองดูแลอยู่
1
เคยสงสัยกันหรือไม่ครับ ว่า ช่วงเวลากระทิง ที่ทำให้ราคาหุ้นตัวนั้นๆขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
หากเราไปถามนักลงทุนที่มีแนวคิดเน้นพื้นฐานเป็นหลัก ก็จะได้คำตอบหนึ่ง หรือ หากเราไปถามนักลงทุนที่มีแนวคิดทางเทคนิค เราก็จะได้อีกคำตอบหนึ่ง
การหาคำตอบเหล่านี้ได้ อาจจะช่วยให้เราเข้าใจตลาดมากยิ่งขึ้นและนำมาประยุกต์เป็นกลยุทธ์ ใช้ในหลักการลงทุนของเราได้ ดังนั้นเรามาลองคิดกันดูนะครับ
หากเราเริ่มต้นด้วย การถามคำถามแรกว่า "ทำไมหุ้นถึงขึ้น" ?
คำตอบแรกที่ง่ายที่สุดคือ "เพราะมีคนที่อยากจะซื้อ มากกว่า คนที่อยากจะขาย"
หากเราถามต่อไปว่า "แล้วทำไมคนถึงอยาก ที่จะซื้อ หล่ะ ?"
คำตอบของคำถามนี้เริ่มยากขึ้นแล้ว เพราะเราจะต้องไปพิจารณาถึงแนวความคิด ของผู้เล่นในตลาด นั้นๆว่าเป็นอย่างไร ทำไมเขาเหล่านั้นถึงอยากที่จะซื้อ
เท่าที่สังเกตดูในตลาดหุ้น ผมขอแบ่งกลุ่ม ผู้เล่นในตลาด (Participants) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม และแต่ละกลุ่ม ก็มีสิ่งที่จูงใจที่ทำให้เขาซื้อหุ้นต่างๆกัน คือ
1. Fundamental participants ที่มักจะซื้อหุ้นตามปัจจัยพื้นฐานของกิจการ
2. Technical participants ที่มักจะซื้อหุ้นตามปัจจัยทางเทคนิคของกราฟราคาหุ้น
3. Mass participants ที่มักจะซื้อหุ้น เมื่อผลที่ปรากฏนั้นเห็นชัดเจนว่าดีแล้ว และมักจะซื้อเมื่อมีคนแนะนำมา มีการซื้อตามๆกัน
โดย Participants ทั้ง 3 กลุ่มนี้ หากมองไปในทิศทางเดียวกันคือมองในแง่บวก จะสามารถผสานพลังช่วยผลักดันให้ราคาหุ้นขึ้น เข้าไปสู่ภาวะกระทิงขาขึ้นได้เป็นอย่างดี เพราะต่างเป็นตัวหลักสำคัญในการเติมเม็ดเงินใหม่ๆ เข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้นๆ
คนที่สามารถอธิบายปรากฏการการเคลื่อนไหวของราคาในตลาดการเงินต่างๆ ได้น่าสนใจอย่างครบถ้วนมากที่สุดคนหนึ่งคือ George Soros ที่อธิบายใน Theory of Reflexivity ของเขา ในวัฏจักรขาขึ้นและขาลงของราคาหุ้นว่า
"Participants ที่อยู่ตลาดนั้นต่างก็มี bias ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งจะนำไปสู่การกระทำ ที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ (ตาม bias ของ participants) และ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้น จะไปมีอิทธิพลเหนือความคิดของ participants อีกที จนทำให้ participants อยากทำให้เกิดผลลัพธ์ตาม bias แบบนั้นอีก วนเป็น loop แบบนี้ (ทั้งขาขึ้น และขาลง) จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่มาเปลี่ยนมุมมองของ participants " (*1)
เช่นในตลาดหุ้นนั้น ความคาดหวังของนักลงทุนที่อยากเห็นหุ้นขึ้น ไปผลักดันให้ ผู้บริหารบริษัท(ที่มีผลประโยชน์ จากราคาหุ้นขึ้นด้วย) พยายามทำยอดขายและกำไรของบริษัทให้ดีขึ้น ตามที่นักลงทุนคาดหวัง
เมื่อนักลงทุนเห็นผลประกอบการที่ดีขึ้นจริง situationนี้ ก็จะไปกระตุ้นความคาดหวัง ของทั้งตัวนักลงทุนเอง และ นักลงทุนคนอื่นๆ ต่อไปอีกที ให้เข้าไปซื้อหุ้นผลักดันให้ราคาหุ้นสูงขึ้นต่อไป
ปรากฏการณ์เหล่านี้จะสะท้อนกลับไปมา ไปเรื่อยๆ จนมีบางครั้งที่ มุมมองของนักลงทุนมี bias ไปในทางเดียวกันมากๆ จนราคาหุ้น ห่างไกล จากราคาที่เหมาะสมไปมาก
แต่เนื่องจาก ความคิดของนักลงทุนในตลาดมีพื้นฐานความเชื่อ ที่ต่างกัน เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ผมขออธิบาย ความสัมพันธ์ของ participants ในตลาด ที่นำไปสู่ วัฏจักรขาขึ้น (boom cycle) ของหุ้นตัวหนึ่งๆ ตามทฤษฏี Reflexivity ของ Soros เกิดขึ้นจากดังรูปด้านล่างนี้
Theory of reflexivity : the boom cycle
1. Fundamental participants กลุ่มแรก ซื้อหุ้นตามผลประกอบการณ์ที่คาดว่าน่าจะดีขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น
2. เมื่อราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นจนสามารถทะลุและยืนเหนือแนวต้านสำคัญได้ ก็จะกระตุ้นให้ Technical participants เข้ามาสนใจ และเข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้นๆ ส่งผลให้ราคาวิ่งสูงขึ้นไปอีก
3. ซึ่งราคาที่สูงขึ้นนี้ จะไปกระตุ้นความสนใจ Observer ที่มองอยู่ภายนอก เข้ามามีส่วนร่วมเป็น Participants คนใหม่ๆ ทั้งที่เป็น fundamental และ Technical เองก็ตาม เข้ามาดูว่ามีอะไรน่าสนใจ และซื้อเพิ่ม ช่วยผลักให้ราคาหุ้นวิ่งต่อ
4. เมื่อราคาหุ้นสูงขึ้น (ประกอบกับพื้นฐานที่ดีขึ้นจริงของบริษัท) ก็จะไปกระตุ้นให้ เป็นที่สนใจของนักวิเคราะห์และสื่อต่างๆจนทำให้ Story ดีๆ (ที่เคยมีอยู่มาซักพักแล้ว) จะถูกหยิบยกมาอธิบายการขึ้นของราคา ทำให้ดูสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น Mass participants เริ่มเข้ามามีส่วนร่วม คราวนี้ราคาหุ้นจะวิ่งสูงขึ้นต่อ
5. จากที่ นักลงทุน มีความคาดหวังให้บริษัท ทำผลประกอบการให้ดีขึ้น ผู้บริหารที่มีประโยชน์ได้เสีย จะพยายามให้สุดความสามารถ ทำให้ผลงานของบริษัท เป็นไปตามหรือทำให้ดีกว่า ที่้นักลงทุนคาดหวัง
6. และหากผลประกอบการออกมาดี ขึ้น อย่างต่อเนื่องนี้ participants ทุกๆฝ่ายจะมองว่าอะไรๆมันสดใสขึ้น ก็จะสามารถมา มีอิทธิพลต่อ การตัดสินใจของ participants เองต่อไปอีกเช่นกัน
6.1 กลุ่ม Fundamental อาจยอมปรับ valuation (ปรับ PE) ให้สูงขึ้น ให้สอดคล้องกับ outlook ที่คนเห็นกันแล้วว่าดี
6.2 กลุ่ม Technical ยังเล่นต่อได้ เพราะกราฟเป็นเทรนขาขึ้นชัดเจน ยัง ทำ new high ใหม่ได้ต่อเนื่อง
6.3 กลุ่ม Mass ใหม่ๆ พร้อมที่จะเข้ามาลงทุนต่อ หลังจากที่นักวิเคราะห์ที่มา cover หุ้นตัวนี้กันมากขึ้น พร้อมกันมีการปรับเป้าหมายที่สูงขึ้นตามมุมมองเชิงบวกที่มากขึ้นในหุ้นตัวนั้นๆ
7. หากปัจจัยต่างๆยังคงสนับสนุนอยู่เช่น บริษัทมี growth และ outlook ยังดีอยู่ วงจรขาขึ้นนี้ อาจจะสามารถหมุนวนไปได้เรื่อยๆ และคอยดึง observer ใหม่ๆ เม็ดเงินใหม่ๆ ให้เข้ามาเป็น participants ใหม่ๆ ซึ่งบางครั้ง เกิดเป็นแรงเหวี่ยงไปจนเกินราคาที่เหมาะสม (equilibrium) ไปได้มาก
8.วงจรขาขึ้นจะสิ้นสุดลงได้ ทั้งจากการที่ participants เริ่มระวังตัวมากขึ้น หรือ อาจจะเกิดจากปัจจัยใหม่ที่หักล้างความเชื่อเดิมที่มีอยู่ของ participants โดยที่ participants ที่อยู่ในหุ้นเหล่านั้น เริ่มทะยอยออกไปเป็น observer ข้างนอก
การอธิบายด้วยทฤษฎี Reflexivity ของ Soros ทำให้เข้าใจว่า boom และ bust cycle นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมหุ้นบางตัว ถึงขึ้นได้ตลอด แม้ว่าตลาดรวมจะแย่ ทำไมหุ้นบางตัว ร่วงได้ร่วงดี ทั้งๆที่ราคาก็น่าจะต่ำกว่าพื้นฐานแล้ว
เพราะทฤษฎีนี้ ได้คำนึงถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมของ participants กลุ่มต่างๆ ที่มีชุดความเชื่อการตัดสินใจที่แตกต่างกัน เข้าไปด้วย
เมื่อทำการพิจารณาตามทฤษฏีนี้ จะเห็นได้ว่าการเกิดภาวะกระทิงขาขึ้น ที่ดีได้นั้น จะต้องมีองค์ประกอบหลักๆดังนี้
1. Improving underlying business: พื้นฐานที่ดีขึ้นของกิจการจริงๆ จะเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้วัฏจักรขาขึ้นคงทนได้ ยิ่งพื้นฐานกิจการดีขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน วัฏจักรขาขึ้นจะยิ่งอยู่ได้นาน พื้นฐานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้จะช่วยให้ participants ต่างๆ เข้ามาเรื่อยๆ และ ยังคงทำให้ participants ที่เข้ามาก่อน ยังอยากที่จะมีส่วนร่วมอยู่ไม่ออกไปไหน
2. Participants involvement: การที่จะทำให้วัฏจักรขาขึ้นนี้มีพลัง จำเป็นต้องมี Participants ทุกๆกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม (ในทางเดียวกัน) ทั้ง fundamental, technical และ mass participants เมื่อทุกกลุ่มเชื่อเหมือนกันหมด พลังการขึ้นจะรุนแรงมาก (จนกระทั่งราคาอาจจะเกินพื้นฐานไปเยอะ) ลำพังความเชื่อของ participants กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว มักจะไม่เพียงพอที่จะทำให้ สภาวะขาขึ้นนี้อยู่ได้แบบมีพลังแข็งแรง ถึงจะเกิดขึ้นได้ก็จะอยู่ได้ไม่นาน
3. Entry points of each participants: ประเด็นที่สำคัญ คือเราควรจะต้องทำความเข้าใจว่าอะไรคือ ปัจจัยสำคัญ ที่เป็นตัวกระตุ้น ดึงดูดให้ participants กลุ่ม ต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมในวงจรขาขึ้นนี้ ทำให้วงจรหมุนไปได้ (หากไม่มี participants เข้ามาสนใจซื้อหุ้น หรือมีมาสนใจน้อยเกินไป วัฏจักรขาขึ้นของหุ้นก็จะไม่เกิด loop จะไม่เกิดการหมุน)
ดังนั้นหากนำหลักการทฤษฎีนี้มาประยุกต์ใช้ในการ develop Investment Framework ผมคิดว่าต้องเอาปัจจัยที่จะกระตุ้น participants ทั้งสามกลุ่มให้เข้ามาอยู่ในวงจรกระทิงขาขึ้นนี้ และปัจจัยที่จะทำให้ participants ยังคงอยู่ นำมาพิจารณาด้วย ซึ่งสรุปได้ตาม framework ของเราดังนี้
Investment framework development
1. Fundamental participants จะเข้ามาเมื่อบริษัทมีปัจจัยพื้นฐานในแง่ บริษัทมีการเติบโตที่ดี (Growth) บริษัทมีความแข็งแกร่งมีความสามารถในการแข่งขัน (Strength) และจะเข้ามาลงทุนเมื่อ บริษัทมีราคาที่เหมาะสม (Price) คือต่ำกว่าราคาพื้นฐาน หรือ ราคาที่เขาคาดไว้ในอนาคตมาก เป็นต้น
1
2. Technical participants จะเข้ามาเมื่อกราฟราคาเริ่มฟอร์มตัวเป็นขาขึ้น (ต่อให้พื้นฐานดีแค่ไหน แต่ไม่สามารถดันให้ราคาพลิกเป็นแนวโน้มขาขึ้นได้ เขาก็จะไม่เข้ามา) โดยปัจจัยนี้ เราจะดูว่า พื้นฐานที่ว่าดีขึ้นนั้น ดีพอที่จะส่งผลต่อเทรนราคาหุ้นให้เริ่มมีทิศทางเป็นขาขึ้นได้หรือไม่
3. Mass participants ที่เข้ามาทีหลัง แต่เป็นกลุ่มที่มีแรงพลังขับเคลื่อนมากที่สุด ต่อวงจรขาขึ้นนี้ มักจะเข้ามาเมื่อพื้นฐานและราคามีความชัดเจนแล้ว โดยกลุ่มนี้จะอยู่นานขนาดไหน ขึ้นอยู่กับ "เรื่องราว" (และความเป็นจริง) ว่าจะทำให้พวกเขา "เชื่อ" ได้อย่างยาวนานได้แค่ไหน โดยในกลุ่มนี้เราจะพิจารณาความต่อเนื่องยาวนานของเทรน"เรื่องราว"นั้นๆ
ผมคิดว่าการนำทฤษฏี reflexivity ของ Soros มาอธิบาย ปัจจัยที่จะผลักดันการขึ้นลงของราคาหุ้น จะช่วยให้เราสามารถ พัฒนาหลักการลงทุนของเราให้ครบถ้วนมากขึ้น
อีกทั้ง ยังสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ในกลยุทธ์สำหรับการเข้าลงทุน (เพื่อหลีกเลี่ยงการจากการเข้าลงทุนแล้วราคาไม่ไปไหนซักที หรือ หลีกเลี่ยงการลงทุนในช่วงเวลาที่เสี่ยงเกินไป) และ กลยุทธ์สำหรับการขาย (เพื่อลดการ exit ที่เร็วเกินไป) ได้อีกด้วย
หวังว่า EP พิเศษตอนนี้จะช่วยอธิบาย ความจำเป็นต่อ factors ต่างๆ ใน Investment framework ของเราได้ดียิ่งขึ้นนะครับ เอาไว้ตอนหน้าจะกลับเข้าสู่ EP ปกติเข้าเรื่อง Supporting factors ต่อไปครับ ขอบคุณครับ
ขอให้มีความสุขในการลงทุนครับ
Alpha Investing
4 August 2020
References:
*1: The Alchemy of Finance, George Soros, Wiley 2003.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา