3 ส.ค. 2020 เวลา 00:00 • ธุรกิจ
ทำไมเราถึงเต็มใจทำอะไรให้คนอื่น “ฟรีๆ” มากกว่าเมื่อถูกจ่ายเงินให้ทำ ? และทำไมเราไม่ควรใช้เงินเพื่อตอบแทนน้ำใจของคนอื่น… เรื่องราวมันเป็นยังไง #เดี๋ยวสรุปให้ฟัง
1) ลองจินตนาการ…สมมติว่าเรามีลูกอายุ 3 ขวบกำลังเรียนเตรียมอนุบาลที่เราต้องไปส่งและรับลูกกลับจากโรงเรียนเป็นกิจวัตรของทุกวัน… ตอนเช้าผ่านไป เราก็ไปส่งลูกตามปกติ แต่ทันใดนั้นเอง… เกิดมีธุระด่วนช่วงเย็น… ทำให้เราต้องไปรับลูกสาย… ส่งผลให้คุณครูต้องอยู่เป็นเพื่อนเจ้าหนูน้อยลูกเราจนกว่าเราจะไปรับ…ซึ่งสายกว่าปกติประมาณ 1 ชั่วโมง… เป็นเรา เราจะทำยังไง ระหว่าง…
.
ทางที่ 1 : กล่าวคำขอบคุณคุณครูที่ช่วยดูแลลูกให้เป็นพิเศษ
ทางที่ 2 : จ่ายเงินค่าล่วงเวลาให้คุณครู
.
ถ้าเราเลือกที่จะกล่าวขอบคุณและซาบซึ้งที่คุณครูช่วยอยู่ดูแลเป็นกรณีพิเศษ เราก็น่าจะรู้สึกถึงความเกรงใจและจะพยายามอย่างสุดความสามารถไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก หรืออย่างน้อยก็ให้เกิดน้อยที่สุดใช่มั้ยล่ะครับ…โดยในบทความนี้ เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า “Social Norm”
.
แต่…ถ้าเราเลือกที่จะจ่ายเงินค่าล่วงเวลาให้ครู สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเราจะเริ่มรู้สึกว่าการที่ครูอยู่ดูแลลูกให้เรานั้นเป็นสิ่งที่ครู “ได้ผลประโยชน์” ซึ่งในที่นี้ก็คือ “เงิน” และในอนาคตเราอาจจะรู้สึกว่ามันก็อาจจะโอเคที่จะมารับลูกสายนิดๆ หน่อยๆ อาจเพราะอยากจะอยู่เคลียร์งานที่ออฟฟิศเพิ่มอีกซัก 20 นาที แล้วเดี๋ยวค่อยจ่าย “เงิน” ให้คุณครูก็ได้… โดยในบทความนี้ เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า “Market Norm”
2
2) เหตุการณ์เมื่อสักครู่เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในศูนย์ร้บเลี้ยงเด็ก (Day Care) ในประเทศอิสราเอล โดยที่ Day Care แห่งนี้เคยใช้วิธีแก้ปัญหาการมาที่ผู้ปกครองมารับบุตรหลาน “สาย” ด้วยการตั้ง “ค่าปรับ” ขึ้นมา… วิธีการคือ…ทุกครั้งที่มารับลูกสายผู้ปกครองจะต้องจ่ายค่าปรับเป็น “เงิน”
3) แต่นั่น…ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเลย แต่กลับทำให้มีผู้ปกครองมารับลูก “สายกว่าเดิม” มากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเหล่าพ่อแม่ที่ชอบมารับลูกสายคิดว่ามัน “โอเค” ที่จะทำ ตราบใดที่เค้า “จ่ายเงินให้” มันก็เหมือนการแลกเปลี่ยนซื้อขาย “บริการอันหนึ่ง” จากศูนย์รับเลี้ยงเด็ก… สุดท้ายเลยต้องยกเลิกวิธีตั้งค่าปรับนี้ไป
2
4) ในบทความนี้ แอดมินจะพาไปพบกับอีกหนึ่งเรื่องราวน่าสนใจในหนังสือของ Dan Ariely ซึ่งพูดถึงเรื่อง #BehavioralEconomics ที่อธิบายความสัมพันธ์ของ “Social Norm” ซึ่งคือบรรทัดฐานทางสังคมว่าด้วยการพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และ “Market Norm” ซึ่งคือการแลกเปลี่ยนกันตามกลไกของตลาดโดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะคาดหวังบางสิ่งบางอย่างต่อกันผ่านตัวกลางซึ่งก็คือ “เงิน”
5) เพื่อให้เห็นภาพความแตกต่างของ Social Norm และ Market Norm ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ลองพบกับการทดลองจริงๆ ที่เคยเกิดขึ้น… (แอดมินขออนุญาตเปลี่ยนแปลงตัวอย่างให้เข้าใจง่ายมากขึ้น)
6) การทดลองนี้ต้องการจะทดสอบว่า Social Norm และ Market Norm มันส่งผลต่อการให้ทำอะไรบางอย่างมากแค่ไหน… เลยสร้างกิจกรรมขึ้นมาให้ผู้ทดลอง "หยิบลูกปิงปองใส่ตะกร้า” ให้ได้มากที่สุด โดยแบ่งผู้เข้าร่วมทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม…
7) กลุ่มที่ 1 เป็นตัวแทนของ Market Norm โดยผู้เข้าร่วมทดลองถูกสัญญาว่าจะได้เงิน 150 บาทสำหรับการหยิบลูกปิงปองใส่ตะกร้า จะหยิบเท่าไหร่ก็ได้…ไม่ได้บังคับ ผลที่ออกมาคือ กลุ่มนี้หยิบลูกปิงปองใส่ตะกร้าทั้งหมด 159 ครั้ง…
8) กลุ่มที่ 2 เป็นตัวแทนของ Market Norm อีกเช่นเคย… แต่คราวนี้จะได้เงินเพียง 15 บาท ปรากฎว่ากลุ่มนี้หยิบลูกปิงปองใส่ตะกร้าทั้งหมด 101 ครั้ง… ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มแรกไม่ได้มากนัก แต่ใช้เงินน้อยกว่าถึง 10 เท่า
9) กลุ่มที่ 3 เป็นตัวแทนของ Social Norm อย่างที่ทุกคนเดาครับ…กลุ่มนี้จะไม่ได้รับเงิน แต่จะขอให้ช่วยทำฟรีๆ ปรากฏว่ากลุ่มนี้ทำออกมาได้ทั้งหมด 168 ครั้ง! มากกว่า 2 กลุ่มแรกที่ได้เงินด้วยซ้ำ! เนื่องจากกลุ่มนี้รู้สึกว่าการกระทำของตัวเองเป็นการได้ช่วยเหลือคนอื่น แม้ไม่ได้อะไรตอบแทนเป็นตัวเงิน แต่ก็ได้ความรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำลงไป และยินดีที่จะทำมันจริงๆ
10) จากผลการทดลองก็สรุปได้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่มี “เงิน” มาเกี่ยวข้อง เมื่อนั้น Market Norm ก็จะเริ่มทำงานทันที เราจะประเมินในหัวโดยทันทีว่า ถ้าได้เท่านี้ เราควรทำงานเท่าไหร่… แต่หากเราทำอะไรให้ฟรีๆ เป็นการช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เราอาจจะมีแนวโน้มอยากจะทำงานนั้นๆ มากกว่า นั่นก็คือเมื่อ Social Norm เริ่มทำงานนั่นเอง…
1
11) ทีนี้…ถามว่างั้นเราควรขอให้คนอื่นทำอะไรฟรีๆ ตลอดเลยหรอ? คำตอบคือไม่เสมอไปครับ…
.
มีการทดลองอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาคำตอบเรื่องนี้…โดยเปลี่ยนสิ่งกระตุ้นจาก “เงิน” เป็น “ของขวัญ” เล็กๆ น้อยๆ แทน และแบ่งผู้เข้าร่วมทดลองออกเป็น 3 กลุ่มเช่นเดิม และมีของรางวัลของแต่ละกลุ่มคือของขวัญที่มีมูลค่ามาก, มูลค่าน้อย และไม่ให้ของขวัญ (ทำฟรี) ตามลำดับ…
.
ปรากฏว่าผลการทดลองออกมาคล้ายๆ กันทั้ง 3 กลุ่มคือ คือหยิบลูกปิงปองใส่ตะกร้าประมาณ 160 ครั้งครับ…สรุปได้ว่าเมื่อใดที่เราไม่พูดถึงเรื่องเงิน “อย่างชัดเจน” เมื่อนั้น Social Norm ก็จะทำงาน… ดังนั้นการตอบแทนด้วย “ของขวัญ” จึงเป็นอะไรที่เหมาะสมมากกว่าในบางสถานการณ์ และถูกจัดว่าเป็น “Social Norm” รูปแบบหนึ่งนั่นเองครับ (แต่อย่าติดป้ายราคาที่ของขวัญนะครับ…555 นั่นจะกลับไปเป็น Market Norm ทันที…)
1
12) ประเด็นสำคัญคือ..แล้วคนเราแยกแยะ 2 สิ่งนี้ได้รึเปล่า… ลองมาดูตัวอย่างเหตุการณ์ที่คนเราไม่สามารถ “แยกแยะ” ความสัมพันธ์ของ Social Norm และ Market Norm กันดูครับ เรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องของ “การออกเดท” และ “เซ็กส์”
13) สมมติว่า มีชายหญิงคู่หนึ่ง…เจอกันแล้วรู้สึกถูกชะตา ฝ่ายชายก็ชวนฝ่ายหญิงไปออกเดทโดยการทานมื้อเย็นในร้านสุดหรู… พอถึงเวลาเช็กบิลจ่ายเงิน ฝ่ายชายก็เสนอตัวเป็นคนจ่ายค่าอาหารมื้อนี้ให้ เดทนี้จบลงที่ฝ่ายชายไปส่งฝ่ายหญิงที่บ้าน ไม่มีอะไรเกินเลย…
14) ครั้งต่อมา ฝ่ายชายก็ชวนฝ่ายหญิงไปออกเดทอีกตามเคย และก็เสนอตัวยืนยันจะเป็นคนจ่ายเงินค่าอาหารทั้งหมดให้เหมือนเดิม และก็มีเดทครั้งที่ 3 และ 4 ตามมาเรื่อยๆ… จนฝ่ายชายเริ่มรู้สึกว่าเค้า “ลงทุน” ไปกับความสัมพันธ์ครั้งนี้พอสมควรแล้ว…อาจจะถึงเวลาเก็บเกี่ยวอะไรบางอย่าง…
1
15) เมื่อถึงการออกเดทครั้งถัดมา… ฝ่ายชายเลย “คิดเอาเอง” ว่าอย่างน้อยเค้าควรจะได้ “รอยจูบ Goodnight Kiss อันแสนโรแมนติกสักครั้ง” จึงได้เผลอหลุดปากพูดออกไปในเดทครั้งนี้ (ซึ่งน่าจะเป็นครั้งสุดท้าย…) ว่า “เราไปออกเดทกันบ่อยๆ นี่มันก็ทำให้ผมเสียเงินไปเยอะเหมือนกันเนอะ…” และตอนนี้เอง…คือตอนที่ผู้ชายคนนี้ไม่สามารถแยกแยะระหว่าง Social Norm กับ Market Norm ได้…
.
การที่เค้าจ่ายเงินเพื่อเลี้ยงข้าวฝ่ายหญิงมาตลอดทำให้เค้า “คิดไปเอง” ว่าเค้าควรจะได้อะไรบางอย่างตอบแทนกับเงินที่เค้าเสียไป (Money for sex) ในขณะที่ฝ่ายหญิงก็รู้สึกว่า “โดนดูถูกว่าเห็นแก่เงิน” ทั้งๆ ที่ผ่านมาฝ่ายชายเป็นคนเสนอตัวและยืนยันจ่ายค่าอาหารให้ทั้งหมดมาตั้งแต่ต้น…
#สรุปแล้ว คนเราจะอยู่ใน 2 โลกเสมอครับ โลกของ Market Norm ที่เป็นการแลกเปลี่ยนกันทางตลาดผ่านตัวกลางซี่งก็คือเงิน เราคาดหวังอะไรบางอย่างเมื่อเราจ่ายเงินออกไป เช่น จ่ายเงินค่าที่พักสุดหรู ก็คาดหวังจะได้บริการที่ดีเยี่ยมเป็นสิ่งตอบแทน…
.
ในขณะที่โลกของ Social Norm เป็นการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน เช่น รถเรายางแบนแล้วขอให้เพื่อนมาช่วยเปลี่ยนยางให้หน่อย เพื่อนก็คงไม่ได้คาดหวังจะได้ “เงิน” เป็นสิ่งตอบแทน เพราะถ้าเราให้เงินเพื่อนในครั้งแรกแล้ว ถ้ามีครั้งต่อไป ทั้งเราและเพื่อนก็จะเริ่มคิดทันทีว่า “บริการครั้งนี้” มันควรจะมี “มูลค่า” เท่าไหร่… ซึ่งนั่นก็คงจะดูแปลกๆ ใช่มั้ยล่ะครับ…
#ทิ้งท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่เรา “แยกแยะ” บรรทัดฐาน หรือ Norm ทั้ง 2 นี้ให้ได้อยู่เสมอ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราเอา 2 สิ่งนี้มารวมกัน อาจจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าใจผิดถึงหน้าที่หรือสถานะที่ตัวเองเป็นอยู่ เมื่อนั้นสิ่งที่ไม่คาดคิดอาจจะเกิดขึ้น ก็เป็นได้…
ที่มา/อ้างอิง : หนังสือ Predictably Irrational “The Cost of Social Norm” โดย Dan Ariely
โฆษณา