3 ส.ค. 2020 เวลา 09:00 • สุขภาพ
“กระดูก”...อยู่ดีๆทำไม"พรุน"?
กระดูก... อวัยวะที่แข็งที่สุดในร่างกาย พวกเรามีกระดูกอยู่ด้วยกันทั้งหมด 206 ชิ้น แต่แม้กระดูกจะเเข็งขนาดไหน หมอก็คงต้องบอกว่าพวกมันไม่มีทางที่จะแข็งแบบนี้ได้ตลอดไป!
กระดูกของพวกเราประกอบไปด้วย”คนงาน 2 แผนก” แผนกแรกก็คือ”เซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast)” มีหน้าที่สร้างเนื้อกระดูกใหม่ และแผนกที่สองก็คือ”เซลล์สลายกระดูก (Osteoclast)” เป็นเซลล์ที่มีหน้าที่ตรงกันข้าม นั่นก็คือทำลายเนื้อกระดูกนั่นเอง!
แผนกสร้างกระดูกนั้นยังพอเข้าใจได้ แต่แผนกทำลายกระดูกนี่มีไว้เพื่ออะไร วันนี้เรามาดูกัน!
กระดูกนั้น ในช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่นก็จะมีการสร้างเนื้อกระดูกใหม่จำนวนมหาศาลเพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต ในวัยนี้”เซลล์สร้างกระดูก”จึงทำงานอย่างหนักอยู่ตลอดเวลา และเมื่อถึงวัยประมาณอายุ 20 กระดูกของพวกเราก็จะเริ่มคงที่ไม่เปลี่ยนรูปร่างและความสูงอีกต่อไป...
แต่อย่างไรก็ตาม แม้รูปร่างกระดูกจะคงรูปร่างสุดท้ายได้แล้ว แต่ภายในเนื้อกระดูกนั้นก็ยังคงมี”เซลล์สร้างกระดูก”และ”เซลล์สลายกระดูก”ที่ยังทำงานอยู่ตลอดเวลา พูดอีกอย่างก็คือยังมีการสร้างและสลายเนื้อกระดูกอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
ว่าแต่ทำไมล่ะ?
กระบวนการนี้มีความสำคัญมากในการคงสภาพให้กระดูกอยู่ในสภาพที่ดีอยู่ตลอดเวลา โดยกระดูกมีเซลล์ที่คอยสลายเนื้อกระดูกชิ้นเก่าหรือกระดูกที่บาดเจ็บทิ้งไป และมีเซลล์ที่คอยสร้างเนื้อกระดูกชุดใหม่ขึ้นมาทดแทน วงจรนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาไม่ว่ากระดูกของคุณจะได้รับบาดเจ็บหรือเสื่อมสภาพลงหรือไม่ก็ตาม เพื่อให้มั่นใจว่ากระดูกจะเเข็งอยู่เสมอนั่นเอง!
ด้วยวงจรสลายและสร้างกระดูกขึ้นใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแบบนี้ มีการประเมินว่ามนุษย์จะมีการผลัดเปลี่ยนเป็นกระดูกชิ้นใหม่ทั้งหมดในทุกๆ 10 ปี แม้กระดูกจะมีรูปร่างภายนอกเหมือนเดิม แต่ภายในนั้นคือกระดูกชิ้นใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
2
ดังนั้น”เซลล์สร้างกระดูก” และ ”เซลล์สลายกระดูก” จึงมีความสำคัญเท่าๆกัน ขาดพวกมันไปตัวหนึ่ง คุณก็อาจต้องใช้กระดูกชิ้นเดิมๆไปตลอดทั้งชีวิต
แต่อย่างไรก็ตาม เซลล์ทั้ง 2 ชนิดนี้ก็จำเป็นต้องทำงานให้สอดคล้องกันด้วย ถ้ามีเซลล์หนึ่งขยันทำงานมากขึ้น หรือขี้เกียจทำงานน้อยลง ก็จะทำให้กระดูกเกิดโรคได้ทันที ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น ถ้าเซลล์สร้างกระดูกทำงานน้อยลง หรือเซลล์สลายกระดูกทำงานมากขึ้น มันก็จะทำให้กระดูกถูกทำลายมากกว่าถูกสร้าง แล้วก็จะนำไปสู่โรคกระดูกที่พบมากที่สุดในโลก นั่นก็คือโรค”กระดูกพรุน”
แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องปกติที่เซลล์ทั้ง 2 จะทำงานไม่พร้อมเพรียงกัน โดยเฉพาะในวัยเด็กที่ร่างกายต้องเติบโต เซลล์สร้างกระดูกก็ทำงานหนักอย่างมาก และมากกว่าเซลล์สลายกระดูก แต่สุดท้ายการเติบโตก็ต้องมีวันสิ้นสุด เซลล์สร้างกระดูกทำงานน้อยลงทีละน้อย ในขณะที่เซลล์สลายกระดูกทำงานมากขึ้น จนถึงวัยประมาณอายุ 20 ตอนต้นก็จะถึงจุดที่มวลกระดูกของพวกเราเพิ่มขึ้นจนถึงขีดสุด และหลังจากนี้เซลล์สร้างกระดูกและเซลล์สลายกระดูกก็จะทำงานอย่างเท่าเทียมกันต่อไปอีกหลาย 10 ปี
“โรคกระดูกพรุน(Osteoporosis)” คือสภาพของกระดูกที่มีมวลกระดูกน้อยลงไปเรื่อยๆ แม้รูปร่างภายนอกอาจดูปกติดี แต่ภายในกลับกลวงและพรุนไปหมด ทำให้มันมีโอกาสหักสูงมากแม้ว่าได้รับแรงกระแทกเพียงเล็กน้อยก็ตาม ต่อไปจากนี้การล้มเบาๆเพียงครั้งเดียวก็จะสามารถทำให้กระดูกเหล่านี้หักได้ โดยกระดูกที่พบว่าหักได้บ่อยก็คือ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ...
1
สาเหตุก็คือ เมื่อพวกเราอายุมากขึ้นเรื่อยๆ เซลล์สร้างกระดูกมันก็จะอ่อนล้าและขี้เกียจทำงานน้อยลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่เซลล์สลายกระดูกกลับยังฟิตและทำงานได้ปกติเหมือนเคย ทำให้ยิ่งมีอายุมากขึ้น มวลกระดูกก็ยิ่งเหลือน้อยลงไปมากขึ้น!
แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเราทุกคนต้องเป็นโรคกระดูกพรุน!
แม้เซลล์สร้างกระดูกมันจะขี้เกียจมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ธรรมชาติก็ได้สร้างสารกระตุ้นให้พวกมันกลับมากระฉับกระเฉงทำงานมากขึ้น และนั้นก็คือ”ฮอร์โมน”นั่นเอง ร่างกายของพวกเรามีการสร้างฮอร์โมนมากมายจากอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์ อวัยวะเพศ และต่อมใต้สมอง เพื่อไปกระตุ้นเซลล์สร้างกระดูก และยังไปยับยั้งเซลล์สลายกระดูกให้ทำงานน้อยลงไปด้วยพร้อมๆกัน
ดังนั้น การขาดฮอรโมนตัวใดตัวหนึ่งมากระตุ้น เซลล์สร้างกระดูกก็อาจกลับไปขี้เกียจทำงานเหมือนเดิม และมีโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนในอนาคตได้
ขอยกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเลยก็คือ”ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน” ผู้หญิงในวัยนี้จะไม่มีฮอร์โมนเพศที่ชื่อว่า”เอสโตรเจน”อีกต่อไป แล้วก็เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ผู้หญิงในวัย 50 ปีเป็นต้นไป มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุนทุกคน และเสี่ยงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า
สิ่งกระตุ้นอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ ”การออกกำลังกาย”
4
การออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นเซลล์สร้างกระดูกชั้นดี โดยการออกแรงกด แรงบิด แรงเฉือน ต่อกระดูกโดยตรง กระดูกที่ได้รับแรงแบบนี้มากๆ มันก็ยิ่งกระตุ้นให้เซลล์สร้างกระดูกขยันทำงาน เพื่อสร้างกระดูกให้ทนแรงกระแทกได้มากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม จะกระตุ้นเซลล์สร้างกระดูกแค่ไหน ถ้าขาดวัตถุดิบในการสร้างกระดูกไป พวกมันก็ว่างงานไม่รู้จะทำอะไรอยู่ดี
วัตถุดิบที่ว่านี้ ก็คือ”แคลเซียม”นั่นล่ะ!
โดยในวัยผู้ใหญ่ทั่วไปนั้นแนะนำให้กินแคลเซียมให้ได้ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไปและผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไปแนะนำให้กินเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
แต่ว่า... กินแค่ไหนถึงจะพอล่ะ มีอาหารมากมายที่มีแคลเซียมสูง แต่หมอขอแนะนำอาหารชนิดหนึ่งที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ”นมวัว” หรือ “นมถั่วเหลืองที่มีแคลเซียมเสริม” ถ้าคุณดื่มได้วันละ 1-2 กล่อง คุณก็มีโอกาสได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอแน่นอน แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณไม่ดื่มนมเลย มันก็ยากที่ 1 วันจะได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ แม้ว่าคุณจะพยายามกินอาหารอื่นๆที่มีแคลเซียมสูงเยอะแค่ไหนก็ตาม
ต่อมาเมื่อคุณกินแคลเซียมเข้าไปแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ”วิตามินดี” วิตามินตัวนี้จะกระตุ้นให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมที่กินเข้าไปได้ดีขึ้น ถ้าไม่มีวิตามินดี แคลเซียมที่กินเข้าไปจำนวนมาก ก็อาจหายออกไปทางอุจจาระหมดได้ โดยวิตามินนี้ผิวหนังของคุณสามารถสร้างเองได้ เพียงแค่การสัมผัสแสงแดด
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมการทำลายมวลกระดูกด้วยเช่นกัน เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายที่ผอมเกินไป เป็นต้น
นอกจากการดูแลตัวเองแล้ว การตรวจคัดกรองก็สำคัญ เพราะว่าผู้ป่วยอาจมีมวลกระดูกที่น้อยลงมากหรือแม้กระทั่งเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว แต่ยังไม่มีอาการกระดูกหักใดๆ ซึ่งอาการเเบบนี้ไม่ควรรอให้เกิดก่อนใช่มั๊ยล่ะครับ แต่ควรรู้ตัวก่อนจะมันจะเกิด ดังนั้นคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ หมอขอเเนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาหมอเกี่ยวกับการตรวจโรคกระดูกพรุน
1. ผู้หญิงอายุ ≥ 65 ปี และผู้ชายอายุ ≥ 70 ปี
2. หมดประจำเดือนเร็วกว่า 45 ปี รวมถึงผู้ที่ถูกตัดรังไข่ทั้งสองข้าง
3. ใช้ยาที่มีสเตียรอยด์เป็นเวลานานกว่า 3 เดือน
4. พ่อหรือแม่เคยมีกระดูกสะโพกหัก
5. ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ส่วนสูงลดลง ≥ 4 เซนติเมตร
6. ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีดัชนีมวลกาย < 20
7. เคยมีกระดูกหักจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง
เมื่อตรวจวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคกระดูกพรุน หรือมีความเสี่ยง ปัจจุบันมียาที่ใช้ในการรักษามากมาย และถ้าให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างสม่ำเสมอ กระดูกก็จะค่อยๆแข็งแรงขึ้นจนหายพรุนได้อย่างแน่นอน
หมอขอย้ำอีกครั้งว่า แม้ว่ามวลกระดูกของคุณจะน้อยลงไปเรื่อยๆตามอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นโรคกระดูกพรุนแต่อย่างใด เพราะว่ามีปัจจัยจำนวนมากมายที่คุณยังสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ เป็นต้น
แม้ว่ากระดูกจะเป็นอวัยวะที่แข็งแกร่งเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าคุณไม่ดูแลมันให้ดี สุดท้ายมันก็อาจพรุนจนหัก ดังนั้นกระตุ้นเซลล์สร้างกระดูกและเติมมวลกระดูกของคุณตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่กระดูกของคุณจะกลายเป็นเพียงแท่งยาวๆที่หักได้ง่ายๆไม่ต่างจากกิ่งไม้...
#Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
#นพ.เวชกร รัตนนิธิกุล
ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆจากปากหมออีกได้ที่
โฆษณา