3 ส.ค. 2020 เวลา 03:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ย้อนรอยวิกฤตเศรษฐกิจ ตอนที่ 2: ครบรอบ 12 ปี วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
1
วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) หรือ วิกฤตซับไพรม์ (Subprime Crisis) เป็นวิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2008
ก่อนอื่นเรามารู้จัก คำว่า ซับไพรม์ (Subprime) กันก่อน ซับไพรม์ คือ กลุ่มลูกค้าที่กู้ขอสินเชื่อบ้านที่มีความเสี่ยงที่จะเบี้ยวชำระหนี้สูง ดังนั้นธนาคารจะอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มนี้น้อยกว่ากลุ่มลูกค้าที่มีเครดิตดีกว่า
ในปี 2001 เศรษฐกิจของสหรัฐฯอยู่ในภาวะถดถอย อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อบ้าน ต้องการทำกำไรมากขึ้น ปล่อยสินเชื่อบ้านให้มากขึ้น จึงขยายสินเชื่อไปยังกลุ่มลูกค้าซับไพรม์
ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อบ้านได้ออกหลักทรัพย์ MBS (Mortgage Backed Security) ซึ่ง MBS เป็นการนำสัญญาสินเชื่อลูกหนี้บ้านไปขายต่อให้กับบรรษัทเงินทุนหรือวาณิชธนกิจ (Investment Banking) ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกค้าธนาคารมาขอกู้เงิน 1 ล้านบาทเพื่อซื้อบ้าน จ่ายดอกเบี้ยปีละ 6 % จากนั้น ธนาคารออก MBS นำสัญญาหนี้บ้านไปขายต่อให้กับวาณิชธนกิจโดยให้ผลตอบแทนปีละ 5% ธนาคารก็จะกินส่วนต่างได้กำไร 1 % แต่เนื่องจาก MBS ของกลุ่มลูกค้าซับไพรม์มีความเสี่ยงสูง ขายยาก ธนาคารจึงออกนวัตกรรมการเงินใหม่ที่เรียกว่า CDO (Collateralized Debt Obligations) ขายให้กับวาณิชธนกิจ ซึ่ง CDO เป็นการรวมสินเชื่อหลายๆตัวมัดรวมกันขายเป็นก้อน ใน CDO ประกอบด้วย พันธบัตรของรัฐบาล หนี้บ้าน หนี้รถ และ หนี้ของกลุ่มซับไพรม์ได้ถูกมัดอยู่ใน CDO ด้วย
CDO จุดเริ่มต้นของหายนะ
ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต ตลาดอสังหาฯในสหรัฐฯตกอยู่ในภาวะฟองสบู่ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้เรตติ้ง AAA แก่ CDO (AAA เป็นเรทติ้งสูงสุด สินทรัพย์ที่ได้เรทติ้งนี้ ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุน มีความเสี่ยงต่ำ) นอกจากนี้วาณิชธนกิจไปซื้อประกันในรูปของตราสารอนุพันธ์ที่เรียกว่า CDS (Credit Default Swaps) กับบริษัทประกัน การทำ CDS หมายความว่า ถ้าลูกหนี้ปลายทาง ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ บริษัทประกันต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายหนี้แทน แต่เนื่องจากช่วงเวลานั้น ตลาดอสังหาฯบูม บริษัทประกันไม่คาดคิดว่า จะเกิดวิกฤต จึงยินดีรับทำประกัน เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่เป็นเบี้ยประกันทุกๆปีที่ได้รับจากวาณิชธนกิจ
3
ผลที่ตามมา คือ ความต้องการซื้อบ้านเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ราคาบ้านสูงขึ้น การอนุมัติปล่อยสินเชื่อบ้านหละหลวม ประชาชน (ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ กลุ่มซับไพรม์) ขอกู้เงินมาซื้อบ้านหลายหลังเพื่อเก็งกำไร นักลงทุนจำนวนมากต้องการซื้อ MBS และ CDO (เนื่องจากบริษัทจัดอันดับให้เรทติ้ง AAA และมีบริษัทประกัน อย่าง AIG รับประกันความเสี่ยง) จึงทำให้การขายสินทรัพย์อย่าง MBS และ CDO ได้แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรปและเอเซีย
เมื่อราคาบ้านสูงเกินความเป็นจริง เพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐจึงปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ผลที่ตามมา คือ กลุ่มซับไพรม์ที่กู้บ้านมาหลายหลังไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ จึงปล่อยให้บ้านถูกยึด ราคาบ้านตกลง บ้านขายไม่ออก เกิดปัญหาหนี้สูญ ฟองสบู่ในตลาดอสังหาฯแตก ผลกระทบส่งต่อเป็นลูกโซ่ สถาบันการเงินอย่างบริษัท LEHMAN BROTHERS ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจใหญ่อันดับ 4 ในสหรัฐฯ ประกาศล้มละลายและปิดกิจการ ในวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2008 เนื่องจากบริษัทนำเงินกู้ถึง 44 เท่าของเงินทุนไปลงทุนใน MBS และ CDO ขณะที่บริษัทประกันยักษ์ใหญ่อย่าง AIG ถึงขั้นล้มละลาย เนื่องจากนำเงินไปจ่ายโบนัสแก่พนักงาน มีเงินไม่เพียงพอมาจ่ายประกัน แต่บริษัท AIG ยังได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลมาช่วยอุ้ม ผลกระทบวิกฤตการเงินครั้งนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกด้วย
1
บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง LEHMAN BROTHERS ประสบภาวะล้มละลายและปิดกิจการลงในวันที่ 14 ก.ย. 2008
โฆษณา