3 ส.ค. 2020 เวลา 14:26 • การตลาด
วันละเรื่อง ตอน พลังของเรื่องราว
รายการ Master Chef เพิ่งได้ผู้ชนะคนล่าสุดจากซีรีส์ All Stars ไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีเรื่องที่น่าพูดถึงอย่างมากคือ “เรื่องราว” ที่เล่าผ่านอาหารของผู้เข้าแข่งขัน
รอบชิงเต็มไปด้วยการเชือดเฉือนแบบหมัดต่อหมัด เรียกได้ว่าสูสีมากๆ
ต่อจากนี้เป็นสปอย
เราได้ผู้ชนะ คือ เป๋าเป้ เด็กสาวจากซีซันสามที่ไม่ได้เข้ารอบชิงในการแข่งขันซีซันของตัวเอง เป๋าเป้นำเสนออาหารผ่านคอนเซปต์อาหารไทยสี่ภาคประยุกต์สู่อาหารโมเดิร์นในรูปแบบไฟน์ไดน์นิ่งที่เธอถนัด อาหารทั้งสามจาน ตั้งแต่อาหารเรียกน้ำย่อย อาหารจานหลัก จนไปถึงขนมหวาน ไม่มีจานไหน “พัง” ทั้งสามจาน “อร่อย” และยังมีความ “ว้าว” เช่น การที่สามารถกินได้ทั้งเย็นและร้อน ด้วยรสแตกต่าง แต่เข้ากัน ในจานอาหารเรียกน้ำย่อย
ยินดีกับเป๋าเป้ด้วยค่ะ ทำดีมาตลอดทั้งรายการ
อาหารของผู้เข้าแข่งอีกคน คือ จ๋า จากซีซันสองที่ไม่ได้เข้ารอบในซีซันของตัวเองเช่นเดียวกับเป๋าเป้ จ๋าเล่าอาหารของตัวเองว่า จานแรกเป็นจานของแม่ จานที่สองเป็นจานของพ่อ และจานสุดท้ายเป็นที่มาของตัวเอง ซึ่งมีพื้นเพเป็นคนอีสาน ประยุกต์ออกมาเป็นไฟน์ไดนิ่ง ทว่า จ๋าพลาดในจานแรกที่ปรุงรสผิดพลาดจนเป็นเหตุให้ทำคะแนนตามไม่ทันเป๋าเป้
คนสุดท้าย คือ เควส จากซีซันสาม เควสเคยเข้ามาแล้วครั้งนึง และครั้งนั้นเควสได้ท้าทายตัวเอง ทำในสิ่งที่ไม่ถนัด จนพ่ายให้แก่แม็กซ์ ซึ่งไม่ได้ทำอาหารยาก แต่ทำไม่ “พัง” ครั้งนี้จึงเพลย์เซฟกับอาหารของตัวเอง และเลือกที่จะสู้ด้วยรสชาติ
รสชาติอาจจะดี แต่กรรมการติว่า “ความคิดสร้างสรรค์” ไม่เพียงพอ
ความคิดสร้างสรรค์ในการดัดแปลงอาหารจากอาหารเรียกน้ำย่อยเป็นอาหารจานหลักหรือแม้แต่การดีคอนสตรัค อาจไม่เพียงพอในการแข่งขัน All stars ที่ผู้เข้าแข่งขันต่างมีประสบการณ์มาแล้ว ผ่านการ “ตบ” จากกรรมการมาแล้วตั้งแต่ซีซีนของตัวเอง
ความคิดสร้างสรรค์ในรอบชิงจึงเกี่ยวข้องกับ “เรื่องราว” ที่ผูกกับอาหารของผู้เข้าแข่งขันด้วย
อาหารของจ๋าที่ผูกเข้ากับเรื่องราวสมัยเด็กที่พ่อมักพาไปทานก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น
“ไอเดีย สตอรี่ เขามาแบบเต็มร้อย” เชฟเอียนพูดถึงอาหารของจ๋า “การที่พ่อพากินก๋วยเตี๋ยวข้างทาง อะไรก็แล้วแต่ ผมว่าเขาสร้างสตอรี่ได้ประทับใจ และอาหารก็ทำออกมาได้ประทับใจเช่นเดียวกัน”
คำพูดของเชฟเอียนยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าแค่ความคิดสร้างสรรค์ด้าน functional เช่น รสชาติ อาจไม่เพียงพอ ต้องมีด้าน emotional ด้วย เช่น สตารี่ที่จ๋าเล่าเกี่ยวกับอาหารจานหลักซึ่งประทับใจเชฟเอียน
ในการขายของก็เช่นเดียวกัน การจะสร้างแบรนด์ จำเป็นต้องมีสตอรี
เจนนิเฟอร์ เอเคอร์ ศาสตราจารย์ด้านการตลาดจาก Stanford Graduate School of Business บอกว่า คนเราจะจำข้อมูลที่เป็นเรื่องราว ซึ่งมีบริบทแวดล้อม ได้มากกว่าข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียวได้มากถึง 22 เท่า
ในครั้งที่สตีฟ จ๊อบส์ พรีเซนต์ไอโฟนสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน สตีฟ จ๊อบส์ ไม่ได้แค่เดินเวทีขึ้นมาแล้วบอกว่าต่อไปนี้แอปเปิ้ลจะขายไอโฟน แต่จ็อบส์เริ่มต้นเล่าจากความสำเร็จของแอปเปิ้ลในการเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรม
เริ่มจากการเปิดตัวแมคอินทอชที่เปลี่ยนอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ตามมาด้วยไอแพดที่ทำให้วงการดนตรีเปลี่ยนไปตลอดกาล จากที่ต้องขายทั้งอัลบั้มบนชั้นวาง เปลี่ยนมาเป็นการขายทีละเพลงบนแพลตฟอร์มดิจิทัล
การที่พลิกโฉมวงการอะไรสักอย่างกลายเป็นเรื่องราวของแอปเปิ้ล พร้อมด้วยอัตชีวประวัติของสตีฟ จ็อบส์ที่ผูกเข้ากับแบรนด์ของแอปเปิ้ล แม้จ็อบส์จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ความเป็นแอปเปิ้ลในวันนั้นของสตีฟ จ็อบส์ ก็ยังอยู่
การใส่ emotional value ยังช่วยเพิ่มความเป็นมนุษย์ให้กับแบรนด์ ให้เราสามารถสัมผัสได้จริง
พี่สะใภ้ของผู้เขียนซื้อวาฟเฟิลและแยมจากเฟซบุ๊กเพียงเพราะเจ้าของเล่าสตอรีว่า สามีเป็นเชฟจากเบลเยี่ยมมาตลอดชีวิต แต่งงานมาเป็นสิบปีย้ายมาอยู่ที่ไทยและได้ทำงานเป็นเชฟใหญ่ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง แต่โควิดมา โรงแรมปิด จึงได้ทำวาฟเฟิลสูตรคุณยายของสามีขึ้นมาขาย
แต่ต้องไม่ลืมว่า เล่าแล้ว เราต้องทำให้ได้ตามที่ลูกค้าคาดหวังไว้ด้วย
“พี่ถือว่าจ๋าประสบความสำเร็จ จากการที่เขาเล่าเรื่องให้เล่าอยาก แล้วเขาสามารถถ่ายทอดลงไปในจานนี้ได้จริงๆ” เชฟป้อมกล่าวถึงอาหารจานที่สองของจ๋าที่มีเรื่องราวชัดเจน
อ้างอิง:
มาสเตอร์เชฟออลสตาร์ ep. 17 https://youtu.be/W-Y16J29tZk
วิดีโอของเจนนิเฟอร์ เอเคอร์ ศาสตราจารย์ด้านการตลาดจาก Stanford Graduate School of Business https://leanin.org/education/harnessing-the-power-of-stories
การเปิดตัวไอโฟนครั้งแรกของโลก นำเสนอโดยสตีฟ จ็อบส์ https://youtu.be/vN4U5FqrOdQ
โฆษณา