7 ส.ค. 2020 เวลา 12:35 • ธุรกิจ
“จากแม่ค้าตลาดนัดสู่ร้านขนมออนไลน์สุดฮิต ที่วันนี้ขนมของ eatonecup ต้องออเดอร์ล่วงหน้าเป็นเดือนถึงได้กิน ดูจะเป็นปรากฏการณ์ที่สวนทางบนโลกออนไลน์ที่ทุกอย่างต้องเร็ว สั่งเร็วต้องเสิร์ฟเร็ว แล้วอะไรที่ทำให้ขนมแบรนด์เล็กๆ นี้ยืนหยัดบนโลกออนไลน์ได้ถึง 5 ปี”
พลังของโลกออนไลน์สร้างอาชีพคนได้ พลิกชีวิตคนได้ แม้จะเริ่มต้นจากศูนย์ สุวพร ทองคำ (สตางค์) เจ้าของธุรกิจขนมเพื่อสุขภาพแบรนด์ EATONECUP คือตัวอย่างของผู้ประกอบการที่สามารถตั้งตัวได้จากการค้าขายออนไลน์ ทำขนมไม่เป็น ก็ศึกษาค้นคว้าสูตรจาก Google แถมกระแสจากสื่อโซเชียลยังหนุนให้ขนมเป็นที่ต้องการของตลาด เป็น Rare Item ที่หากินยาก จะกินทั้งทีต้องพรีออเดอร์ล่วงหน้า แต่ลูกค้าขาประจำก็ปูเสื่อรอได้
ขนมเพื่อสุขภาพ ราคามิตรภาพ
อดีตแม่ค้าขายของกิ๊ฟช็อปตามตลาดนัด ผันตัวเองมาทำธุรกิจขนม เพราะลูกสาวอยากกินขนมบราวน์นี่ แต่คุณสตางค์ทำขนมไม่เป็น เลยเซิร์ชหาสูตรจาก Google นำมาทดลองทำและปรับจนกระทั่งได้สูตรที่ลงตัว ก่อนจะใช้กลยุทธ์แจกขนมให้เพื่อนๆ ในตลาดได้ชิม โดยไม่บอกว่าเป็นฝีมือของตนเอง เพื่อทดสอบตลาด และล้วงเอาความจริงมาปรับปรุงสินค้า
เมื่อมั่นใจในความอร่อยของสินค้า สุวพรจึงเดินหน้าลุยทำขนมขายเต็มที่ โดยมีเงิน 600 บาท ซึ่งเป็นเงินก้อนสุดท้าย และเตาอบขนมตัวเล็กๆ เป็นเดิมพัน เธอยึดตลาดนัดย่านที่มีคนทำงานพลุกพล่าน เช่น ซอยอารีย์ ตลาดหลังกระทรวงการคลัง ฯลฯ เป็นทำเลขายขนมแบรนด์ EATONECUP เพียงชิ้นละ 10-15 บาท จากการขายไปด้วย แจกแถมไปด้วย และสอบถามฟีดแบ็ค ก็ทำให้เธอได้รู้ว่าเทรนด์ขนมเพื่อสุขภาพ แบบไร้แป้ง นม เนย น้ำตาล กำลังมา
เมื่อตั้งใจทำอะไร ก็ทุ่มสุดตัว เธอเลยลองทำขนมเพื่อสุขภาพมาขายดู สินค้าตัวแรกเป็นมัฟฟินจากข้าวโอ๊ด แป้งโฮลวีต แทนที่จะขายดี กลับเหลือบานเบอะ เพราะลูกค้าเชื่อว่าขนมที่ดีต่อสุขภาพนั้นไม่อร่อย คนเป็นแม่ค้าเลยเปลี่ยนเทคนิค ขายโดยไม่ติดป้ายบอกว่าเป็นขนมเพื่อสุขภาพ เทคนิคนี้ใช้ได้ผล ขนมกลับมาขายได้ ขายดีดังเดิม
“จุดเด่นของ EATONECUP คือ ขนมเพื่อสุขภาพที่ราคาไม่แพง และให้ปริมาณเยอะ จนลูกค้าถามว่าถูกจัง คลีนจริงเปล่า ขนมเพื่อสุขภาพส่วนใหญ่ราคาสูงทั้งนั้น แต่เราพอใจกับกำไรที่ได้ มองว่า EATONECUP เป็นขนมที่เราทำให้เพื่อนกิน แล้วเราก็ต้องการให้เพื่อนสามารถซื้อขนมไปฝากเพื่อนๆ ต่อได้อีก พอขายถูก ลูกค้าก็ซื้อได้จำนวนเยอะๆ และซื้อง่ายกว่า”
ยึนหนึ่งบนแพลตฟอร์ม Instagram
EATONECUP กระโดดเข้าสู่โลกการค้าออนไลน์ เมื่อธุรกิจย่างเข้าสู่ปีที่ 2 ผลจากการที่ลูกค้าโพสต์ภาพขนมลง Instagram ทำให้มีคนติดต่อเข้ามามากมาย แล้วถามเกี่ยวกับช่องทางการสั่งซื้อทางออนไลน์ และบริการส่งสินค้า เธอเห็นว่าตลาดออนไลน์มาชัวร์ แต่เพราะไม่ถนัดเรื่องโซเชียลมีเดีย จึงให้ลูกสาวที่เป็นคนรุ่นใหม่มาช่วยอีกแรง
“เราไม่เคยเข้าคอร์สทำการตลาดออนไลน์ที่ไหน แต่เรียนรู้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ช่วงแรกยอมรับว่าภาพสินค้ากากมาก แต่พอจับทางได้ว่าลูกค้ากด Like หรือชอบรูปแนวไหน เช่น ภาพที่ดูเว่อร์ๆ เห็นกล้วยเยอะๆ เราก็ปรับตัวตาม จนตอนนี้มียอดผู้ติดตาม 33,000 คนบน Instagram โดยที่ไม่เคยยิงแอด ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร เราเกิดได้เพราะลูกค้าบอกต่อๆ กัน จนวันนี้ EATONECUP เป็นหนึ่งใน 10 ร้านขนมสายคลีนที่น่าโดนที่สุดใน IG”
จากวันแรกที่ขายขนมออนไลน์ได้วันละ 10 กล่อง ยอดขายค่อยๆ ไต่ระดับถึงหลักร้อยกล่อง สุวพรจึงตัดสินใจหยุดขนขนมไปขายตามย่านต่างๆ แล้วโฟกัสที่การรับ-ส่งออเดอร์ที่เข้ามาทางออนไลน์อย่างเดียว เธอบอกว่าสำหรับขนมเพื่อสุขภาพ ช่องทาง Instagram ไปได้ดีกว่า Facebook เพราะคนที่เล่น IG เป็นสายเฮลธ์ตี้ ส่วนใหญ่เป็นคนทำงาน นักศึกษาที่มีกำลังซื้อ ส่วนอีกช่องทางคือ Shopee มักจะเป็นขาจรที่เซิร์ชร้านเจอบนอินเทอร์เน็ต และขาประจำที่ต้องการค่าส่งถูกๆ
กล่าวได้ว่า 5 ปีที่ผ่านมา แบรนด์ EATONECUP โตได้ด้วยตัวเอง และมีฐานลูกค้าเหนียวแน่น โดยไม่ต้องนำขนมไปฝากขายที่ไหน แต่วันนี้มีแต่ร้านค้ายอมจ่ายเงินสด เพื่อนำขนมแบรนด์นี้ไปวางขายที่ร้าน ซึ่งปัจจุบันคุณสตางค์ก็ส่งขนมให้ราว 40 ร้าน โดยวางแผนการผลิตและการส่ง เพื่อไม่ให้ทับไลน์สินค้ากัน และทุกร้านมีโอกาสขายทำกำไรได้อย่างเต็มที่
หยุดดราม่าออนไลน์ ด้วยความจริงใจ
ปัจจุบันขนม EATONECUP มีทั้งขนมสด เช่น เค้ก และขนมอบแห้ง เช่น คุกกี้เอสเพรสโซ่ คุกกี้เนยถั่วหลากรส รวมทั้งขนมที่มีกล้วยเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น กล้วยอบ กล้วยกระเบื้อง กล้วยหนุบหนับ ที่สุวพรคิดค้นขึ้นเอง เบ็ดเสร็จแล้วมีให้เลือกเกือบร้อยรายการ โดยเปิดรับพรีออเดอร์เป็นรอบ รอบละ 15 วัน 30 วัน หรือนานถึง 90 วันก็มี จนเกิดกระแส EATONECUP เป็นขนมหาทานยาก ออเดอร์ช้า แต่ถ้ารู้ว่าเจ้าของลงมือทำขนมเอง ทำเสร็จแล้วทยอยส่งเลย คนที่รอรับรองไม่ผิดหวัง
อีกกลยุทธ์หยุดลูกค้า คือ การแจกแถมขนมแบบไม่กลัวขาดทุน คุณสตางค์มองว่านี่เป็นการตลาดที่ง่ายที่สุด และไม่ต้องลงทุนมากนัก หากลูกค้าชิมแล้วชอบก็จะกลับมาซื้อเอง ทุกครั้งที่มีขนมออกมาใหม่ เธอก็จะแถมไปพร้อมกับขนมที่ลูกค้าสั่ง รวมทั้งโพสต์แจกขนม ลูกค้าที่สนใจก็ออกเฉพาะค่าส่งสินค้าเท่านั้น นอกจากนี้ EATONECUP ยังคงขายในราคามิตรภาพ สินค้าบางตัวยืนราคาเดิมมาตั้งแต่ต้น ยกเว้นวัตถุดิบขึ้นราคาดุ จนแบกรับไม่ไหว เธอก็จะขอลูกค้าขึ้นราคาอย่างสมเหตุสมผล
เหมือนธุรกิจจะไปได้สวย แต่เบื้องหลังก็มีความดราม่าไม่น้อย ถือเป็นเรื่องปกติที่คนทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ต้องเผชิญ เช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดจากการขนส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ยากเกินจะควบคุม สุวพรจึงได้แต่แพ็คสินค้าและหุ้มกันกระแทกอย่างดีที่สุด และหวังว่าลูกค้าจะเข้าใจ หากขนมมีการแตกหักเล็กๆ น้อยๆ ในระหว่างการขนส่ง
“ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการที่บริษัทขนส่งโยนสินค้า หรือไปส่งล่าช้า ทำให้ขนมเสียหาย สิ่งที่เราทำได้คือ ขอโทษลูกค้า และคืนเงินค่าขนมเต็มจำนวน หรือส่งขนมไปให้ใหม่ แต่ลูกค้าต้องออกค่าส่งเอง รวมทั้งขอความกรุณาให้พนักงานขนส่งส่งขนมถึงมือลูกค้าอย่างปลอดภัย เพราะถ้าเกิดปัญหา ลูกค้าจะตรงมาที่เรา ไม่ใช่เขา วิธีรับมือของเราคือ เราจะไม่พิมพ์ แต่จะโทรหาลูกค้า เพื่อให้คำตอบกับเขาว่าเกิดอะไรขึ้น เราจริงใจกับลูกค้า แต่ไม่ตามใจ นี่คือตัวตนของเราตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้”
อานเรื่องราวเต็มๆ ได้ที่ https://bit.ly/3fuC3eW
ติดตามเรื่องราวแรงบันดาลใจอื่นๆได้ที่
YouTube : postconnex
โฆษณา