4 ส.ค. 2020 เวลา 07:19 • สุขภาพ
การแข่งขัน แย่งกันซื้อ วัคซีนโควิด
1. ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ทั่วโลกมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด มากกว่า 160 โครงการ ที่เริ่มการทดลองทางคลินิกในคนแล้วมี 26 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นของประเทศจีนถึง 9 โครงการ ที่เข้าสู่การทดลองทางคลินิกเฟส 3 แล้ว มี 6 โครงการ โดยยังไม่มีโครงการใดที่ทดลองทางคลินิกเฟส 3 เสร็จสิ้น
2. ทางรัสเซียได้บอกว่าจะทดลองเฟส 3 เสร็จและดำเนินการขออนุมัติผลิตวัคซีนภายในเดือนสิงหาคม และจะดำเนินการผลิตวัคซีนและเริ่มฉีดให้ประชาชนในเดือนตุลาคมนี้ แต่เนื่องจากข้อมูลในกระบวนการพัฒนาวัคซีนคลุมเครือ
ประเทศทางตะวันตกจึงไม่ยอมรับวัคซีนของรัสเซียโดยอ้างว่ามีความเสี่ยงสูง ดังนั้น ในช่วงแรกวัคซีนของรัสเซียคงจะผลิตและใช้ในประเทศเป็นหลัก
3.ประเทศต่างๆได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อการพัฒนาวัคซีนในประเทศตนรวมทั้งสั่งจองวัคซีนจากบริษัทของประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มจะผลิตวัคซีนได้เร็ว อาทิ อเมริกา ทุ่มงบรวมราว 300,000 ล้านบาท จีน ทุ่มงบราว 4.3 ล้านล้านบาท (รวมงบพัฒนายาต้านโควิดด้วย)
4. ประเทศต่างๆ ยอมจ่ายเงินจองวัคซีนจากบริษัทต่างๆ โดยไม่กลัวการซ้ำซ้อน เพราะตอนนี้ยังไม่รู้ว่า บริษัทไหนจะเสร็จเร็วที่สุด และวัคซีนได้ผลดีที่สุด
เพื่อความมั่นใจจึงสั่งจองทุกบริษัทเลย ยอมจ่ายเงิน เนื่องจากความเสียหายทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิดนั้นมหาศาล อาทิ อเมริกาเสียหายวันละกว่า 300,000 ล้านบาท การได้วัคซีนเร็วขึ้นไม่กี่วันก็คุ้มค่ากับเงินค่าวัคซีนที่จ่ายไป
5. ณ วันที่ 1 สิงหาคม ประเทศต่าง ๆได้สั่งจองวัคซีนโควิดแล้วดังนี้
ประชากรอเมริกามีราว 330 ล้านคน แต่รัฐบาลอเมริกาสั่งจองวัคซีนไว้ กว่า 1,500 ล้านโดส มากกว่าจำนวนประชากรเกือบ 4 เท่า
อังกฤษมีประชากร 67 ล้านคน แต่รัฐบาลสั่งจองวัคซีน ถึง 250 ล้านโดส
การแย่งกันจอง แย่งกันซื้อวัคซีนเป็นไปอย่างเข้มข้น วัคซีนที่สั่งซื้อไว้แล้วแต่มาช้าหากเหลือก็อาจขายต่อให้ประเทศอื่น หรือเก็บไว้ใช้เองกรณีที่ภูมิต้านทานจากวัคซีนเกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือน แล้วต้องฉีดซ้ำ
6. บริษัทที่มีแนวโน้มผลิตวัคซีนได้สำเร็จเร็ว คือ
- ม.อ็อกฟอร์ด ของอังกฤษร่วมกับบริษัท Astrazeneka
-บ. Moderna ของอเมริกา
-บ. BionTect ของเยอรมันร่วมกับ บ. Pfizer ของอเมริกา
-บ. Sanofi ของฝรั่งเศส ร่วมกับ บ. GlaxsoSmithKline ของอังกฤษ
-บ. CanSino Biologics ของจีน
-บ. SinoPharm ของจีน
โดยทั้งหมดวางเป้าหมายจะผลิตวัคซีนออกมาใช้งานได้ภายในปลายปี 2563 นี้
7. ข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ทำสัญญากับบริษัท Pfizer ของอเมริกา และ บ. Bion Tech ของเยอรมัน สั่งซื้อวัคซีนจำนวน 120 ล้านโดส (วัคซีนของบริษัทนี้ต้องฉีดคนละ 2 ครั้ง จึงเท่ากับเป็นวัคซีนสำหรับ 60 ล้านคน) โดยจะจัดส่งวัคซีนให้ครบภายใน 30 มิถุนายน 2564 นั้นคือ แม้จะมีเงินพร้อมจ่ายก็ไม่ใช่ว่าจะได้วัคซีนมาใช้ทันที ต้องรอตามคิว วัคซีนของ ม.อ็อกฟอร์ดร่วมกับ บ. Astra Zeneka มีผู้สั่งจองแล้วมากกว่า 2,000 ล้านโดส รัฐบาลประเทศไหนตื่นตัวเร็วสั่งจองเร็วก็จะได้วัคซีนก่อน ในด้านนี้ถือว่า ญี่ปุ่นช้ากว่า อเมริกา อังกฤษ และอียู
8. ประเทศไทยมีโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด โดยคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนี้ทดลองในลิงแล้วได้ผลดี กำลังจะเริ่มทดลองทางคลินิกในคน แม้เราจะช้ากว่าบริษัทชั้นนำของโลกไปบ้าง แต่ก็มีความสำคัญมาก เพราะเมื่อผลิตสำเร็จเราจะได้ใช้ก่อนเพราะจะเป็นของประเทศไทยเราเอง ดังนั้น รัฐบาลควรทุ่มงบประมาณสนับสนุนในการวิจัยพัฒนาอย่างเต็มที่และควรสร้างหน่วยผลิตวัคซีนของไทยเราเองด้วย การคิดจะไปพึ่งสั่งโรงงานที่แคนาดาให้ผลิตวัคซีนให้ มีความเสี่ยงสูง เพราะเมื่อวัคซีนของบริษัทชั้นนำเริ่มทำสำเร็จ โรงงานผลิตวัคซีนทั่วโลกจะมีออเดอร์ท่วมท้น เราจะได้คิวผลิตเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้
รัฐบาลต้องมองภาพรวม กล้าในการตัดสินใจ การทุ่มงบประมาณหลักหมื่นล้านบาทให้กับการพัฒนาและผลิตวัคซีนซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คุ้มค่ากว่าการแก้ปัญหาปลายเหตุโดยการแจกเงิน และควรรีบทำสัญญาจัดหาวัคซีนจากประเทศต่างๆมาเสริมด้วย
เมื่อคนไทยส่วนใหญ่ได้ฉีดวัคซีน เราก็จะมั่นใจ ไม่กลัวโรคระบาดนี้อีก สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ธุรกรรมทางเศรษฐกิจก็ดำเนินไปได้ตามปกติ
9.วัคซีนโควิดมีราคาเข็มละประมาณ 600 - 1,500 บาท เมื่อประเทศรวยแย่งกันสั่งจองสั่งซื้อวัคซีน ประเทศที่ยากจนก็จะลำบากมากเพราะไม่มีงบประมาณเพียงพอ ทางองค์การอนามัยโลกจึงเรียกร้องให้เปิดสิทธิบัตรวัคซีนโควิด ให้ประเทศต่างๆ ผลิตได้เพื่อต้นทุนจะได้ถูกลง แต่ปัญหาคือ ประเทศจำนวนมากแม้ได้สิทธิบัตรมาก็ไม่มีศักยภาพที่จะผลิตวัคซีนเองได้ หากไม่มีการหาแนวทางแก้ไขที่ดี ความขัดแย้งระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนจะปะทุรุนแรงขึ้น เป็นปัญหาใหญ่ของโลก
ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัยคุ้มครองรักษาประเทศไทยและชาวโลก
เจริญพร
ความรู้พื้นฐานเรื่องวัคซีน
อ้างอิง
โฆษณา