4 ส.ค. 2020 เวลา 14:14 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ย้อนรอยวิกฤตเศรษฐกิจ ตอนที่ 3: เพราะเหตุใดไทยไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนเวนเนซุเอลา
2
รัฐบาลของประเทศไทยและเวเนซุอเอลา ต่างใช้นโยบายจำนวนมหาศาลไปกับนโยบายประชานิยมเหมือนกัน จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า ประเทศไทยจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนเวเนซุเอลา หรือ ไม่
ก่อนอื่น ย้อนไปดูสาเหตุที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเวเนซุเอลา กันก่อน
ในอดีตประเทศเวเนซุเอลาเคยติดอันดับกลุ่มประเทศที่มีฐานะร่ำรวย รายได้หลักของประเทศประมาณ 90% ของจีดีพี มาจากการส่งออกน้ำมันดิบ โดยมีประเทศคู่ค้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกาและจีน
จากข้อมูลในตารางและกราฟจะพบว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 เป็นต้นมา รายได้ต่อหัวของเวเนซุเอลาลดลงอย่างต่อเนื่อง และจากการที่นิโกลัส มาดูโร ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ ปี 2013 เขาได้ใช้นโยบายประชานิยมอย่างสุดขั้วเช่นเดียวกับ อดีตประธานาธิบดี ฮูโก ชาเบซ
ผลกระทบจากการใช้นโยบายประชานิยมมาตั้งแต่สมัยประธานธิบดี ฮูโก ชาเบซ โดยกำหนดราคาสินค้าต่ำกว่าต้นทุนเพื่อเอาใจประชาชน ทำให้บริษัทเอกชนไม่สามารถผลิตสินค้าได้ ต้องทยอยปิดกิจการ รัฐบาลแก้ปัญหาโดยการนำสินค้าเข้าจากต่างประเทศ
1
เมื่อสหรัฐอเมริกาประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่สามารถคิดค้นเทคโนโลยีขุดเจาะน้ำมันจากหินดินดานได้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างฮวบฮาบ จากที่เคยสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ / บาร์เรล ลดลงเหลือ ต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐ / บาร์เรล ส่งผลให้รายได้ของเวเนซุเอลาลดลงเป็นอย่างมาก อัตราการขยายตัวของ GDP ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ติดลบมาโดยตลอด สัดส่วนของหนี้สาธารณะ ต่อ จีดีพี ในปี 2018 สูงถึง 159 %
เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาหดตัวอย่างต่อเนื่อง ภายหลังที่ มารูโด เป็นประธานาธิบดี
เมื่อรายได้ของประเทศลดลงอย่างมหาศาล แทนที่รัฐบาลของประธานาธิบดี มาดูโรจะใช้นโยบายรัดเข็มขัด กลับแก้ปัญหาโดยพิมพ์เงินออกมา โดยไม่สนใจปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ ผลที่ตามมาคือ ราคาสินค้าแพงขึ้นอย่างก้าวกระโดด อย่างเช่น กระดาษชำระราคาม้วนละ 2.6 ล้านโบลิวาร์ (ประมาณ 1,200 บาท)
เศรษฐกิจในประเทศประสบปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) อัตราเงินเฟ้อหรือระดับราคาสินค้าในปี 2018 สูงขึ้นถึง 9.29 แสนเปอร์เซ็นต์ต่อปี ค่าเงินเวเนซุเอลาอ่อนค่าลง ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้นอย่างมหาศาล จนทำให้รัฐบาลต้องลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ประเทศประสบปัญหาภาวะขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค จนนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม ประชาชนอพยพไปอยู่ประเทศอื่น
ภาวะ Hyperinflation อัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
เพราะเหตุใดไทยจึงไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนเวนเนซุเอลา
สาเหตุหลักที่ประเทศไทยไม่ประสบปัญหาเหมือนเวเนซุเอลา เนื่องจากประเทศมีวินัยการเงินการคลังที่เข้มแข็ง จากบทเรียนวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี พ.ศ. 2540 ทำให้รัฐบาลยังคงใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด สะท้อนจากสัดส่วน หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ประมาณ 40% ต่อจีดีพี และถึงแม้ประเทศจะประสบกับสถานการณ์โควิด ทำให้ จีดีพีของประเทศลดลง รัฐบาลใช้งบประมาณด้านสาธารณสุข รวมทั้งเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก แต่สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย ยังต่ำกว่าเกณฑ์สากล 60% (จากข้อมูล เดือน พ.ค. 63 สัดส่วน หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยประมาณ 43%) นอกจากนี้จากการพิมพ์ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงค์ชาติ มีทุนสำรองหนุนหลังตามกฎหมาย และแบงค์ชาติมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งแตกต่างจากธนาคารกลางของเวเนซุเอลาที่ต้องพิมพ์เงินเพิ่มตามคำสั่งของรัฐบาล
2
อย่างไรก็ตามถึงแม้ในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ขั้นวิกฤตเหมือนเวเนซุเอลา แต่เมื่อพิจารณาจากจุดเปราะบางของเวเนซุเอลา จะพบว่า การที่รายได้ของประเทศพึ่งพาการส่งออกน้ำมันมากเกินไป และเมื่อเกิดวิกฤตราคาน้ำมันลดลง จึงนำไปสู่หายนะ ขณะที่จุดเปราะบางของไทย คือ รายได้หลักของไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนอย่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก จึงทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับบาดเจ็บอย่างสาหัส จึงฝากความหวังไว้ที่ผู้กำหนดนโยบายการคลังและการเงินคนใหม่ อย่าง รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการแบงค์ชาติ ฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้
โฆษณา