4 ส.ค. 2020 เวลา 16:22 • ถ่ายภาพ
เดือนซ่อนดาว พระจันทร์บังดาวเสาร์ เขาถ่ายได้อย่างไร??
จังหวะมันได้ หรือเพราะเทคนิคขั้นสูง? วันนี้เจ้าของภาพนี้จะมาเฉลย 😉
รูปที่น่าอัศจรรย์ของคราสจันทร์บังเสาร์
ภาพที่เห็นพระจันทร์บังดาวเสาร์นี้ถ่ายโดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวนิวซีแลนด์จากเมือง Timaru นาม Paul Stewart เมื่อปี 2014
ทั้งนี้การจะถ่ายภาพเช่นนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไหนจะต้องรอจังหวะเวลาที่ดวงจันทร์และดาวเสาร์จะโคจรมาเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน ตำแหน่งถ่ายภาพจากบนโลกก็ต้องอยู่ในมุมที่เหมาะสม สภาพท้องฟ้าอากาศก็ต้องเป็นใจ
และที่สำคัญคือเทคนิคการถ่ายภาพ ซึ่งนักดูดาวสมัครเล่นก็คงจะพอรู้ว่าการถ่ายภาพให้ได้ภาพพระจันทร์โดยมีดาวเป็นฉากหลังนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ในการถ่ายชอตเดียว
ภาพต้นฉบับที่นำมาผสมกันจนเป็นภาพเดือนซ่อนดาวอันน่าทึ่ง
ภาพซ้ายถ่ายโดยชดเชยแสงด้านลบ ซึ่งจะให้ภาพที่มืดกว่าปกติหรือภาพอันเดอร์ ส่วนด้านขวานั้นก็ถ่ายโดยชดเชยแสงทางบวกซึ่งจะให้ภาพสว่างมาก หรือภาพโอเวอร์แต่ก็จะเห็นถึงดาวเสาร์ที่ซ่อนอยู่ด้านหลังดวงจันทร์
ซึ่งภาพต้นฉบับทั้งหมดที่เขาถ่ายนั้นมีด้วยกัน 3 ภาพที่ชดเชยค่าแสงแตกต่างกันก่อนจะนำมาผสมกันในโปรแกรมแต่งภาพ ซึ่งเทคนี้ก็คือการถ่ายภาพโหมด HDR (High Dynamic Range) ที่มีอยู่ในกล้องของ Smart phone เกือบทุกรุ่นในปัจจุบัน
ภาพถ่ายดาวเสาร์และดวงจันทร์ในเฟรมเดียวกันที่ถ่ายโดย Paul Stewart ในปี 2019
ทั้งนี้เพราะว่าแสงจันทร์นั้นสว่างมากจนกลบแสงดาว หากจะถ่ายภาพพระจันทร์ให้เห็นรายละเอียดหลุมอุกกาบาตได้นั้นก็ต้องชดเชยแสงทางลบเยอะแทบจะสุดทางเลยทีเดียว
หรือถ้าใครเคยดูดาวก็คงทราบดีว่าถ้าจะมองจันทร์นั้นต้องใส่ Moon filter เพื่อลดแสงจ้าจากดวงจันทร์ ซึ่งถ้าไม่ใส่แล้วไปดูพระจันทร์ผ่านกล้องดูดาวละก็ได้ตาพร่าเหมือนโดนเพื่อนแกล้งเอาไฟฉายส่องหน้าเลยทีเดียว 😁
Moon Filter สำหรับกล้องดิจิทัลก็มีนะ
อาาา เห็นรูปแล้วก็อยากจะกลับไปดูดาวอีกครั้ง คิดถึงเมื่อครั้งใช้กล้องดูดาวเมืองจีนกับขาตั้งแบบกล้องถ่ายรูปแล้วต้องคอยเกร็งแขนบิดกล้องตามส่องดูดาวเสาร์นี่มันสนุกจริง ๆ
แต่วันนี้แก่แล้วถ้ามีงบขอเอาแบบมีมอเตอร์ตามดาวแล้วละกัน เมื่อย 😅

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา