5 ส.ค. 2020 เวลา 10:13 • ปรัชญา
EP107: ต า ม ห า เ พื่ อ น แ ท้ สั ก ค น
เพื่อนนั้นสำคัญไฉน ?
วันหนึ่งเห็นข่าวพ่อทำร้ายลูก มันสะเทือนใจเพราะความเศร้าสงสารลูกตัวเล็กๆคนนั้นที่โดนผู้แข็งแรงกว่าทั้งเตะทั้งต่อย
เด็กก็ไม่มีทางสู้ ที่สำคัญคนที่ทำร้ายเขาคือพ่อของเขาเอง คนที่เป็นที่พึ่งสำคัญมากๆในวัยเด็กน้อยแบบนั้น ข้าวปลาก็ต้องขอเขากิน ขอให้เขาเป็นที่พึ่ง แต่สิ่งที่ลูกน้อยได้รับอยู่นั้น คือ
โดนทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ร่างกายลูกนั้นจะบาดเจ็บอย่างไรก็คงรักษาหายในอีกไม่นาน แต่ความบาดเจ็บทางใจของเขานั้น มันจะนานแสนนานและทุกข์ทรมานอาจถึงชั่วชีวิตเลย โลกของลูกนั้นมันช่างโหดร้ายและเปล่าเปลี่ยวเดียวดายเพียงไรหนอ …
หาเพื่อนสักคน
มนุษย์เราไม่ว่ายามใดต้องการที่พึ่งพิง ความอ่อนแอนี้มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นตอนช่วงวัยใด
เด็กก็ย่อมต้องการพ่อแม่เป็นเพื่อนนำทาง
เป็นวัยรุ่นก็จะติดเพื่อน ถ้าเพื่อนดีรุ่นพี่ดีก็จะได้ดีไปด้วยกันเป็นเพื่อนดีเพื่อนแท้เพื่อนตายกันไป
ตอนวัยทำงานเพื่อนร่วมงานรุ่นพี่หรือ หัวหน้าดีไม่ดีก็มีผลต่อชีวิตได้เหมือนกัน จะรุ่งจะร่วงนอกจากพึ่งตนยังต้องมีเพื่อนร่วมทีมพึ่งพากันจึงสำเร็จกันได้…
เพื่อนที่ดีเป็นอย่างไร ?
มนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์สังคม สิ่งที่เป็นเบ้าหลอมให้เกิดเป็นคนมีนิสัยดีเลวอย่างไรคือ เพื่อนต่างๆที่กล่าวมานั่นแหละ คือคนรอบข้างต่างๆ ในแต่ละช่วงชีวิต
คำว่าเพื่อนในคำตถาคตมีอยู่คำหนึ่ง เป็นคำที่ตอบโจทย์มากๆ คือคำว่า “กัลยานิมิตร”
เพื่อนที่เราพึ่งพาได้ เราจะรู้ได้อย่างไรใครพึ่งพาได้บ้าง ลองมาหาคำตอบในบทธรรมต่างๆที่สั่งสมกันมาแต่อดีตของมนุษย์ชาติกันหน่อยไหม
ลองประมวลพิจารณาคนรอบข้างที่เราคิดว่าเป็นเพื่อนนั้นเป็น “กัลยานิมิตร”ไหม ? คุณสมบัติของเขานั้นเป็นดังนี้ครับ
เขา(เธอ)คือ”ผู้ที่น่ารัก” เรารู้สึกสบายใจ อยากที่จะเข้าใกล้
เขา(เธอ)คือ”ผู้ที่น่าเคารพ” รู้สึกอบอุ่นพึ่งได้รู้สึกปลอดภัย
เขา(เธอ)คือ”ผู้ที่น่ายกย่อง”รู้สึกเขามีความรู้รอบ ให้การสอนอบรมได้ดี เป็นแบบอย่างได้
เขา(เธอ)คือ”ผู้ที่เป็นที่ปรึกษาได้”รู้สึกเขามีเมตตาต่อเรา
เขา(เธอ)คือ”ผู้ที่รับฟัง” เขาไม่เบื่อหน่ายที่จะฟัง ไม่มีฉุนเฉียว
เขา(เธอ)คือ”ผู้ที่พึ่งพาได้”เขาอธิบายเรื่องยากลึกล้ำได้โดยง่าย
เป็นต้น
พออ่านถึงบรรทัดนี้เป็นอย่างไรครับ เจอเพื่อนมั้ยครับผม ในท่ามกลางปุถชนคนธรรมดาด้วยกันแล้ว อาจจะเจอได้ แต่ส่วนใหญ่คงตอบว่าเจอ จุดเด่นของหลายๆคนได้ แต่ครบถ้วนในตัวคนเดียวที่มีครบถ้วนนี้หายากจัง
ตถาคตคือ “กัลยานิมิตร” !!
ในคำบอกสอนของตถาคตบทหนึ่งพระองค์ตรัสว่า ท่านคือเพื่อน เป็นมิตร หรือเป็นสหายที่ดีของเราทุกคน หรือเธอไปเจอพระภิกษุสาวกแห่งตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะแล้วหากผู้นั้นเป็นผู้ที่เดินสายกลางในมรรคแปดนั่นแหละ ท่านผู้นั้นก็คือเพื่อนที่ดีของเธอ
นัยหนึ่งตถาคตเน้นว่าให้เธอค้นหาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามมรรคแปด หรือคำสอนให้รู้และปฏิบัติตามซึ่งมรรคแปดคือ เพื่อนที่เราสามารถ ใกล้ชิด เคารพรัก ยกย่องและพึ่งพาไปได้ตลอด และเพื่อนดีนี้แหละที่จะนำพาเธอไปสู่ทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม
เธอจะได้ไปสู่ระดับที่เหนือจากความตายและความทุกข์โศกต่างๆในสังสารวัฏแห่งนี้ ด้วยตัวเธอนั้นได้ธรรมนำทางและเธอจึงเกิดปัญญาเข้าสู่ระดับอมตะในที่สุด
พระตถาคตบอกว่าแม้ท่านจะละปรินิพพานไป แต่ธรรมที่ยังคงอยู่นั่นแหละคือตัวพระองค์ไม่ได้จากไปไหน
…ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา
ดีใจด้วยครับ สำหรับผู้ที่ได้พบ”กัลยานิมิตร”
สำหรับทุกท่านที่ได้พบเพื่อนที่ดีที่แท้จริงอย่างองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าแล้วความมีศรัทธาต่อพระองค์รับรู้พระองค์คือ
ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ผู้ที่มีวิชชาและจรณะความรู้ตามจริงที่แท้และการประพฤติธรรมไป
ผู้ที่ไปแล้วได้ด้วยดี
ผู้ที่รอบรู้ซึ่งโลกอย่างแจ่มแจ้ง
ผู้สามารถฝึกคนที่ควรฝึกอย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
ผู้เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ผู้เป็นผู้ที่รู้ ผู้ตื่น ผู้โบกบานในธรรม
ผู้เป็นผู้มีความเจริญ จำแนกสั่งสอนสัตว์
ตถาคตเป็นแจ้งธรรม ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง และไพเราะในที่สุด
ท่านได้ประกาศพรหมจรรย์ คือแบบปฏิบัติอันประเสริฐ สมบูรณ์ และบริบูรณ์สิ้นเชิง ด้วยอรรถะและพร้อมทั้งพยัญชนะ …
ตราบใดก็ตามเมื่อท่านได้พบเพื่อนที่ดี ฟังและพิจารณาใคร่ครวญในสิ่งที่เขาบอกสอน เหมือนดั่งท่านได้ประทีปดวงไฟ ที่ส่องหนทาง ให้ท่านได้เห็นได้พิสูจน์ด้วยตนเอง และพร้อมที่จะพากเพียรปฏิบัติไปจนถึงการบรรลุมรรคผล
เลือกตถาคตเป็นสรณะ
ธรรมที่สว่างไสวนี้เมื่อท่านหันกลับไปมองชีวิตปุถุชนที่ผ่านมาในรูปแบบต่างๆท่านจะมองเห็นกลไกแห่งการเกิดและดับลงแห่งสุขทุกข์ทั้งหลายทั้งความเชื่อและแนวคิดต่างๆ ประสิทธิภาพการใช้สติและปัญญาของท่านจะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้จะได้มาจากการตั้งใจที่จะเรียนรู้ในสัทธรรม และเพียรฝึกปฏิบัติธรรมต่างๆในชีวิตประจำวันทีละเล็กละน้อยอย่างต่อเนื่อง การปลูกนิสัยดีๆใหม่ๆเข้าไปในความเคยชินของตัวเอง ครั้นเวลาที่ธรรมไหลลงสู่ใจท่าน มันจะไหลมาดังน้ำสู่มหาสมุทร ปิติสุขที่เกิดขึ้นนี้เป็นเช่นไร ถ้าไม่ลองศึกษาและปฏิบัติตามด้วยตนเองจะไม่รู้ได้เลย
โฆษณา